xs
xsm
sm
md
lg

บทสนทนาลับ ภาพสะท้อนการเมืองหลังฉากและความโสมมของมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสังคมไทยได้รับหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับบทสนทนาระหว่างนักโทษหนีคุกผู้เป็นนักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังรัฐบาล กับนักการเมืองที่เป็นอดีตนายทหาร ซึ่งระหว่างการสนทนากำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหนึ่ง บทสนทนาชิ้นนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลายแง่มุม ซึ่งทำให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าใจกลไกอำนาจที่อยู่เบื้องหลังและการควบคุมสภาพสังคมการเมืองไทยได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์เทปเสียงในช่วงที่ผ่านมามีหลากหลายประเด็น เช่น ใครเป็นคนปล่อยเทปบันทึกเสียงนี้ออกมา มีแรงจูงใจอะไรในการปล่อย ใครได้ ใครเสียจากการกระทำเช่นนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ กองทัพ รัฐบาล และความสัมพันธ์กับประเทศพม่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ใครควรจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น กองทัพและรัฐบาลควรจะมีท่าทีอย่างไร และเราเรียนรู้อะไรบ้างจากการเนื้อหาของบทสนทนาในเทปนั้น เป็นต้น

ในบทความชิ้นนี้ผมจึงลองขยายมุมมองไปสู่ปรัชญาการเมืองในบางมิติ เพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติของมนุษย์และโดยเฉพาะธรรมชาติของผู้มีอำนาจทางการเมืองซึ่งบุคคลทั้งสองในบทสนทนาของเทปชิ้นนี้เป็นตัวแทนภาพของนักการเมืองโดยรวมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

นักปรัชญาการเมืองที่มองธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งท่านหนึ่งคือ โธมัส ฮ็อบส์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองนามอุโฆษท่านหนึ่งในยุคแห่งการแสวงหาภูมิปัญญาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 หนังสือภาษาไทยที่เขียนถึงแนวคิดของ โทมัส ฮ็อบส์ ได้อย่างลึกซึ้ง คือหนังสือชื่อ “ประวัติปรัชญาการเมือง เล่ม 2” ซึ่ง ศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ แปลจาก หนังสือภาษาอังกฤษที่ชื่อ “history of political philosophy” อันมี ลีโอ สเตร้าและ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์ เป็นบรรณาธิการ ในบทที่ว่าด้วย โทมัส ฮ้อบ เขียนโดย ลอเร็นส์ เบิร์นส์ ผู้ใดสนใจรายละเอียดตามไปอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้ครับ

สำหรับในบทความนี้ผมจะหยิบยกบางส่วนบางตอนของแนวคิดมาเทียบเคียง เชื่อมโยงกับบทสนทนาบางตอนในเทปเสียงเพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติของผู้มีอำนาจทางการเมือง

โดยทั่วไปมีนักคิดหลายคนมองว่า การเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์จะต้องเข้าใจทั้งอารมณ์ ความเชื่อ และเข้าใจความปรารถนาหรือความต้องการ แต่ โทมัส ฮ็อบส์มีความคิดต่างออกไป เขาชี้ว่า การเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ต้องเข้าใจจากแง่มุมของจิตวิทยาอันเป็นกลไกทางอารมณ์และความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังเป็นหลัก ส่วนเป้าหมายเบื้องหน้าอันเป็นความปรารถนาและเป็นปัจจัยที่ดึงดูดใจมนุษย์ให้บรรลุผลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงและบิดเบือนได้ง่าย จึงใช้ทำความเข้ามนุษย์ได้ไม่ลึกซึ้งเท่ากับอารมณ์

หากเราพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองทั้งสองคนจากบทสนทนาแล้ว เราสรุปได้ว่าอารมณ์ที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนคือ อารมณ์หลง อารมณ์โกรธ อารมณ์โลภ และความหมกมุ่นในราคะ

กรณีอารมณ์หลง เราจะพบได้จากถ้อยคำที่แสดงถึงความหยิ่งยโสและหลงในอำนาจของตนเอง นึกว่าตนเองจะสามารถบงการให้บรรดานายทหารในสภากลาโหมและสภาความมั่นคงปฏิบัติตามคำสั่งของตนเองได้เพื่อออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรมล้างความผิดให้แก่ตนเอง ดังถ้อยคำที่พวกเขาเปล่งออกมา เช่น “เอาเข้าสิ เอาเข้าสภาความมั่นคงฯ ส่งให้รัฐบาล จบ ลัดขั้นตอนเลย” หรือ ในช่วงที่มีการสนทนาถึงการโยกย้ายนายทหารในกองทัพก็มีประโยคที่ว่า “เลือกเอาเองสบายๆ”

ส่วนอารมณ์โกรธนั้นสะท้อนให้เห็นชัดเมื่อมีการพูดถึง อดีตผบ. ทบ.ท่านหนึ่งซึ่งปัจจุบันเป็นองค์มนตรีและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น “มันเกินไป” หรือ “ให้มันรู้สึกเสียบ้าง” “ปรากฏว่า ไอ้เจ๊กแม่งจงรักภักดีมากกว่านักเรียนนายร้อยอีก (ไม่มีหรอก) ไอ้เจ๊กลิ้มอะ จงรักภักดีกว่านายร้อยอีก”

ส่วนอารมณ์โลภเราเห็นได้จากช่วงที่กล่าวถึงผู้นำทหารของประเทศพม่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะใช้อำนาจของผบ.สูงสุดของประเทศพม่าเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ในประเทศพม่า โดยอาศัยสายสัมพันธ์ระหว่างผบ.สูงสุดของไทยและพม่าเป็นเครื่องมือ เรียกได้ว่าจะหลอกใช้ผบ.สูงสุดของทั้งสองประเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง เพื่อตอบสนองความโลภอันไม่มีที่สิ้นสุดของตน

ด้านความหมกมุ่นในกามราคะก็มีหลายช่วงตอน ทั้งการถามเรื่องการกินยาไวอะกร้า อันเป็นยากระตุ้นพลังทางเพศ และการกินถั่งเช่าอันเป็นสมุนไพรที่เชื่อกันว่าเพิ่มพลังทางเพศแก่ผู้ชาย เรียกได้ว่าอายุหกสิบและเจ็ดสิบกว่าปีกันแล้วก็ยังไม่อาจระงับความต้องการทางเพศเหล่านี้ได้ ยังคงหมกหมุ่นอยู่ตลอดเวลา อันสะท้อนถึงความไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างชัดเจน

โทมัส ฮ็อบส์ ยังมองว่า มนุษย์ถูกชี้นำโดยจินตนาการและความเห็นของเขา แต่ทว่าความคิดของเขาหาได้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ตรงกันข้ามความคิดและความปรารถนาเปรียบเสมือนกองสอดแนม แสวงหาข่าวสารในแนวหน้าเพื่อหาหนทางและวิธีการที่จะนำไปสู่ความปรารถนา ความโน้มเอียงทั่วไปของมนุษยชาติคือความปรารถนาต่ออำนาจ อันเป็นความปรารถนาที่คงทนถาวรและสร้างความกระวนวายใจแก่มนุษย์ ให้แสวงหาหนทางที่จะได้มา

ความปรารถนาต่ออำนาจของทั้งชายคนที่ 1 และ 2 นี้เป็นความปรารถนาอย่างรุนแรง จิตใจของพวกเขากระวนกระวายดุจวานรที่ต้องปีนป่ายต้นไม้อยู่ตลอดเวลา หาชั่วขณะของความหยุดนิ่งไม่พบ พวกเขาจึงต้องคิดแสวงหาวิธีการที่จะตอบสนองความปรารถนาดังกล่าว ดังที่เห็นได้จากการบังอาจใช้กองทัพแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการทำให้ตนเองพ้นความผิดและกลับมามีอำนาจต่อไปในประเทศไทย และการบังอาจใช้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาอำพลางพฤติกรรมของตนเอง โดยคิดการชั่วว่าจะให้มีการแต่งตั้งตนเองเป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าตนเองมีความจงรักภักดี

ยิ่งไปกว่านั้นก็ได้เสนอหยิบยื่นผลประโยชน์แก่ผู้นำเหล่าทัพว่าให้ทำงานรับใช้ชายคนที่ 2 เพื่อแลกกับการได้มีตำแหน่งทางการเมืองหรือองค์การต่างๆหลังจากเกษียณอายุไปแล้ว และท่วงทำนองที่พูดก็ดูเหมือนพวกเขาจะเชื่อว่า ผลประโยชน์ที่พวกเขาหยิบยื่นให้จะได้ผล เพราะว่าขณะนี้ “ทุกคนพูดกันรู้เรื่องแล้ว”

โทมัส ฮ็อบระบุว่า ปัญหาชีวิตทางสังคมมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเพราะตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีความรัก หลง หยิ่งทะนงในเกียรติภูมิของตนเอง มนุษย์ทุกผู้ทุกนามปรารถนาที่จะได้รับการยกย่องให้เกียรติจากผู้อื่น เมื่อปรากฏสัญญาณของการดูถูกหรือการลดทอนคุณค่า มนุษย์ก็พร้อมที่จะทำลายทุกคนที่ดูถูกเขา สำหรับสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ขัดแย้งกันมีสามประการหลักคือ การแข่งขัน ความไม่ไว้วางใจ และการแสวงหาเกียรติภูมิ

หากพิจารณาภาษาที่บุรุษทั้งสองใช้ในการสนทนา เนื้อหาและท่วงทำนองการสนทนา สามารถสรุปได้ว่า บุคคลทั้งสองไม่เชื่อในเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ และไม่ให้เกียรติต่อบุคคลที่พวกเขาอ้างถึง

“ชายคนที่1” ในเทป มักจะใช้คำลงท้ายของการสนทนาว่า “ครับ” ใช้น้ำเสียงที่นอบน้อม และใช้ประโยคในเชิงรายงานหรือเสริมรับกับสิ่งที่ชายคนที่ 2 พูด ส่วนชายคนที่ 2 มักจะใช้คำลงท้ายว่า “เออ” อันเป็นภาษาที่คนมีอำนาจมักใช้รับคนใช้หรือคนที่เป็นลูกน้อง ส่วนน้ำเสียงและประโยคที่พูดมีท่วงทำนองในเชิงการออกคำสั่ง และเมื่อบุคคลทั้งสองอ้างอิงถึงบุคคลที่อื่นๆก็มักจะใช้คำว่า “ไอ้” นำหน้าชื่อทุกครั้ง

เมื่อเนื้อหาของการสนทนามีลักษณะออกไปในเชิงของการดูถูก ดูหมิ่นเกียรติยศ และลดทอนคุณค่าของผู้อื่น ทำราวกับว่าผู้อื่นอยู่ภายใต้คำสั่งหรือการบงการของตนเองอย่างสิ้นเชิง เสมือน “ผลส้ม” ที่อยู่ในลังจะหยิบมารับประทานหรือทิ้งไปเสียเมื่อไรก็ได้ ย่อมทำให้บุคคลที่ถูกกล่าวถึง เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังก็ย่อมมีความรู้สึกโกรธแค้น และอาจกระทำการตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อันเป็นการกระตุ้นความขัดแย้งขึ้นมา

คนที่ชอบมองมนุษย์ต่ำกว่าตนเองและดูถูกคนเช่นนี้อยู่ที่ใด มีอำนาจเมื่อไร ก็ย่อมสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในที่นั้นเสมอ ดังที่เขาเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นหากเขาสามารถกลับมามีอำนาจเต็มที่ในสังคมได้อีกครั้ง ชะตากรรมของประเทศไทยที่เรามองเห็นได้ในอนาคตก็คือ การแตกแยก แตกกระจายออกเป็นเสี่ยงๆอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น