xs
xsm
sm
md
lg

“AGT-ล็อกซเล่ย์”กดดันปู เวทีซูเอี๋ยน้ำ 3เดือนจบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9ก.ค.56) นายมาติ โคชาวิ (Mati Kochavi) ประธานกรรมการ บริษัท AGT International Co., Ltd. และนายธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวต้อนรับผู้บริหารบริษัท AGT International Co., Ltd. และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ที่เดินทางมาทำเนียบรัฐบาล พร้อมแสดงความขอบคุณบริษัท AGT International Co., Ltd. และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) สำหรับการลงทุนในประเทศไทย และยินดีที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ได้คัดเลือกกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์-เอจีที ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ การบริหารและจัดการน้ำใน Module A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อพยากรณ์และเตือนภัย รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์-เอจีที เป็นกลุ่มบริษัทที่มีความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่มีความยุ่งยากซับซ้อน มีประสบการณ์ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของทรัพยากรน้ำ และ มองว่าไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยร่วมมือกับประเทศในอาเซียน และประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อ จัดการกับปัญหาอุทกภัย นอกจากนี้ไทยยังมีแผนใน การ จัดการเกี่ยวกับ Agriculture zoning และการจัดให้มีกล้องวงจรปิดทั่วประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์-เอจีทีจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศไทยในระยะยาว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมรับทราบตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รายงานว่า กบอ.จะเดินหน้าการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามมาตรา 57 วรรค 2 ตามที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาโดยจะเริ่มภายในเดือน ส.ค.เพื่อดำเนินการจัดทำแผนแม่บท
นอกจากนี้ ในส่วนของการร่างสัญญานั้น ภายใน 3 เดือนการยกร่างสัญญาจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะต้องลงนามสัญญากับ 4 กลุ่มบริษัท เนื่องจากครบกำหนดตามกรอบเวลาการกำหนดเพดานราคาก่อสร้างสูงสุด (จีเอ็มพี) ที่ได้มีการตกลงราคาโครงการทั้ง 9 โมดูลกันไว้ ส่วนเรื่องอุทธรณ์นั้น ขณะนี้รอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการบริหารจัดการน้ำ ว่าแต่ละหน่วยงานมีความเห็นอย่างไรและควรอุทธรณ์หรือไม่ เพื่อส่งต่อความเห็นดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณานำเสนอต่อศาล ปกครองพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง
มีรายงานว่า เวลาประชุมเตรียมการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จากวงเงินกู้ 3.5แสนล้านบาทนั้น กบอ. สำนักงานนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.)และกระทรวงมหาดไทย จะทำหน้าที่เป็นหน่วยทำงาน ส่วนหน่วยปฏิบัติการนั้นจะเชิญสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เข้ามาร่วม โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นเดือนส.ค.นี้ และน่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3เดือน
ทั้งนี้ทุกอย่างจะทำตามกฎระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวเนื่องกับพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้น จะมีเวทีระดับชาติ 1 ครั้ง และเวทีระดับภูมิภาค 3 ครั้งครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคนมาร่วม 5,000 คน อย่างไรก็ตาม ตนจะไปร่วมเวทีดังกล่าวด้วย ขอให้ฝ่ายค้าน เอ็นจีโอ และนักวิชาการมาร่วมด้วย ซึ่งจะมีหนังสือเชิญไป เพราะเวทีนี้เปิดสำหรับทุกคน ส่วนงบประมาณที่ใช้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะมาจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท.
วันเดียวกัน ครม. เห็นชอบ ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเสนอ เสนอให้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 15 จังหวัด
โดยครม.มีมติรับทราบและมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 15 จังหวัด ในวงเงินทั้งสิ้น 168,229,000 บาท และเมื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายตามที่กำหนดไว้แล้ว หากมีเงินเหลือจ่ายให้ส่งคืนสำนักงบประมาณในโอกาสแรกด้วย
มีรายงานว่า ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย หารือเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งพรรคได้สั่งให้ส.ส.เขตที่มีพื้นที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำลงพื้นที่ชี้แจงประชาชน ก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 1 ส.ค.นี้คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน แต่ทางนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้บอกกับที่ประชุมว่าใช้เวลาทำประชาพิจารณ์เพียง 3 เดือนเท่านั้น
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สำนักงบประมาณ ได้แจ้งต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรีถึงงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ที่ใช้ในการฟื้นฟูเยียวยา ผู้ประสบอุทกภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 ว่า งบประมาณดังกล่าวดำเนินการไปแล้วร้อยละ 95 จากการที่อนุมัติงบประมาณ ร้อยละ 99 ทำให้ขณะนี้เหลือวงเงินอยู่ 447 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ใช้
สำนักงบประมาณจึงขออนุมัติใช้ในการซ่อมสร้างให้กับ กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้ามคลอง ใน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13 ล้านบาทเศษ จากงบประมาณเหลือจ่ายดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติตามที่ขอมา
กำลังโหลดความคิดเห็น