xs
xsm
sm
md
lg

นรกแตกที่สงขลา...กรณีวัสดุกัมมันตรังสี

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


“จังหวัดสงขลาไม่ได้ทราบข้อมูลกรณีบริษัทเอกชนจัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีในพื้นที่จังหวัดสงขลามาก่อน จังหวัดได้รับทราบข้อมูลจากการร้องเรียนของประชาชน พร้อมกับที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชน และจากการประสานงานเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ทราบว่าพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องรายงานให้จังหวัดทราบ”

เป็นส่วนหนึ่งในคำชี้แจงต่อประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนของนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตามหนังสือศาลากลางจังหวัดสงขลาที่ สข.0013.2/509 ลงวันที่ 18 มกราคม 2556 กรณีภาคประชาชนได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ทำการตรวจสอบว่าบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีร์ เอส.เอ จำกัด ซึ่งได้เก็บวัสดุกัมมันตรังสีไว้ที่บ้านเลขที่ 30 ถนนไทรงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มากว่า 30 ปี ว่าการเก็บวัสดุกัมมันตรังสีชนิดใดและปริมาณเท่าใด จะส่งผลต่อความปลอดภัยต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ เพราะสถานที่บริเวณดังกล่าวถือว่าตั้งอยู่ใจกลางเมืองสงขลา มีชุมชนหนาแน่นอยู่โดยรอบ อยู่ใกล้โรงเรียนอนุบาล ใกล้โรงเรียนมัธยมและที่สำคัญอยู่ห่างศาลากลางไม่เกิน 500 เมตร คำตอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ว่าไม่ทราบ และที่ไม่ทราบก็เพราะไม่ได้มีกฎหมายให้หน่วยงานที่เก็บวัสดุกัมมันตรังสีแจ้งให้จังหวัดทราบ คำตอบเช่นนี้จะไม่ให้เรียกว่า “นรก” ก็ไม่รู้จะให้เรียกว่าอย่างไร

สิ่งที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นก็คือว่า หลังจากที่ทางคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกัมมันตรังสีโดยเฉพาะสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้ชี้แจงต่อเรื่องราวดังกล่าว ก็ทำให้ทราบว่าปัจจุบันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้มีการออกใบอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนเก็บวัสดุกัมมันตรังสีหรือที่ใช้ในภาษาตามแบบอนุญาตแบบ พ.ป.ส.4ก-2 คือ “ผลิต มีไว้ในครอบครอง หรือใช้ซึ่งวัสดุพลอยได้” มีจำนวนมากถึง 888 แห่งทั่วประเทศ และมีอยู่ในจังหวัดสงขลาถึง 29 แห่ง การเปิดเผยเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะเปรียบเสมือน “นรกแตก” เพราะทำให้ผีเปรตในนรกทั้งหลายปรากฏกายต่อสาธารณะ สร้างความหวาดกลัวแตกตื่นตกใจต่อประชาชนที่รับรู้ข้อมูลดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เพราะฤทธิ์เดชของกากสารวัสดุกัมมันตรังสีที่หลุดรอดตกไปถึงพ่อค้ารับซื้อของเก่าที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2543 ซึ่งส่งผลให้พ่อค้าเศษเหล็กและร้านรับซื้อของเก่าต้องสังเวยอวัยวะและชีวิตไปกับอานุภาพที่ร้ายแรงของกากสารกัมมันตรังสี ซึ่งทราบกันภายหลังว่านั่นแค่กากโคบอลต์ 60 ที่ใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น

แต่วัสดุกัมมันตรังสีที่ตรวจพบในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 10 แห่ง ส่วนมากล้วนเป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่มีอานุภาพร้ายแรงเช่นจำพวกโคบอลต์ 60 CO-60, CS-137, TH-232, BA-133, AN-241 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในขบวนการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเล (Oil well Loggingc และ Logging Tool Calibration) เจ้าของอุตสาหกรรมที่ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีเหล่านี้ในจังหวัดสงขลา ก็ใช้ในขบวนการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเล เช่น บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีร์ เอส.เอ จำกัด บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน เอ็นเนอจี เซอร์วิสเซส อิงค์ ฯลฯ

บริษัทเหล่านี้ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นบริษัทต่างชาติด้านพลังงาน ที่ได้สัมปทานหรือรับจ้างเหมาช่วงในการขุดเจาะสำรวจและผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศไทยมายาวนานและมีอำนาจล้นฟ้า เหนือการเมืองทั้งในระดับชาติและในท้องถิ่น รวมไปถึงมีอำนาจเหนือเหล่าข้าราชการ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องสยบยอมและทำหน้าที่ปกป้องดูแลพวกเขามากกว่าความปลอดภัยของประชาชน จึงไม่แปลกใจที่แม้สำนักงานของบริษัทเหล่านี้จะตั้งอยู่ใกล้รั้วของศาลากลางจังหวัด แล้วคนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ทราบ ไม่รู้ และไม่เห็น ไม่ได้ยิน แม้จะตั้งอยู่ในสถานที่นั้นมายาวนานเป็นสิบๆ ปีก็ตาม

การที่นักการเมืองไม่ยอมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของต่างชาติหรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ สุขภาพอนามัยของประชาชน ฯลฯ หรือปล่อยให้มีกฎหมายที่เก่าคร่ำครึที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับทุนข้ามชาติดูจะยังดำรงอยู่อย่างมั่นคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่มันคือตัวชี้วัดถึงอำนาจและอิทธิพลของทุนต่างชาติที่อยู่เหนือนักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคของประเทศนี้ กรณีการใช้พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีมาตั้งแต่ปี 2504 โดยไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยก็เป็นที่ชัดเจนอีกหนึ่งกรณี

หลังจากที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบก็ทำให้บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีร์ เอส.เอ จำกัด ได้ให้คำตอบเป็นสัญญาประชาคมว่าจะย้ายสถานที่เก็บวัสดุกัมมันตรังสีออกจากใจกลางเมืองสงขลาไปยังเขตอุตสาหกรรมฉลุง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2556 นี้ แต่ของบริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน เอ็นเนอจี เซอร์วิสเซส อิงค์ ที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 234/2 หมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา ของบริษัทเชฟรอน ที่แจ้งการจัดเก็บไว้กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติว่าเก็บไว้ที่เลขที่ 2 ถนนแหล่งพระราม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ซึ่งก็อยู่ใจกลางเมืองและก็อยู่มานานแสนนาน การขนย้ายจากที่เก็บไปตามถนนสู่ท่าเรือเพื่อเอาไปทำงานในทะเล ไป-กลับสัปดาห์ละกี่เที่ยว กากสารวัสดุกัมมันตรังสีที่หมดอายุ พวกเขาจัดเก็บกันอย่างไร ปลอดภัยแค่ไหน รวมถึงอีก 8 บริษัทในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ในอำเภอสิงหนคร วันนี้การจัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีเหล่านั้น จึงเปรียบเสมือน “นรกที่รอวันแตก” ให้ผีเปรตออกมาหลอกหลอนทำร้ายประชาชนตาดำๆ คำถามจึงมีว่าคนสงขลาจะรอให้นรกแตกเองหรือหาหนทางจัดการกับขุมนรกเหล่านั้นก่อนที่จะสายเกินไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น