คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
การติดตามข่าวที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Overseas S.A Limited) ให้นำวัตถุกัมมันตรังสีไว้ในกลางใจเมืองสงขลา บริษัทได้ทำการเช่าบ้านเลขที่ 30 ถนนไทรงาม ตามโฉนดเลขที่ดินเลขที่ 79 และ 315 ซึ่งมีพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 93 ตร.ว. ในการจัดเก็บสารพิษมาแล้วกว่า 30 ปี และที่ร้ายไปกว่านั้น ในพื้นที่บ้านหลังดังกล่าวมีการก่อสร้างถังเก็บสารเคมีชนิดฝังดินที่มีอยู่แล้วถึง 11 บ่อ ได้สร้างความตกใจให้แก่ผู้คนในสังคม และคนในเขตอำเภอเมืองสงขลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมา มีน้อยคนมากที่จะรู้ว่าพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวจะเป็นสถานที่จัดเก็บสารพิษอันตราย
การยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติของบริษัท เพื่อก่อสร้างสถานที่เก็บวัสดุกัมมันตรังสีที่ถึงเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตามหนังสือออกของบริษัทที่ 044/11 ลงวันที่ 28 เมษายน 2554 โดยระบุในหนังสือขออนุญาตว่า “ทางบริษัทได้รับทราบถึงผลสรุปการตรวจสอบ และข้อพึงปฏิบัติที่ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ชี้แจงมาให้ดำเนินการปรับปรุงสถานที่เก็บสารกัมมันตรังสีให้ถูกต้องตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสี” นั่นก็หมายความว่า สารกัมมันตรังสีที่จะถูกนำมาจัดเก็บไว้ในพื้นที่ใจกลางเมืองสงขลาดังกล่าว มีสารรังสีที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชนมีอยู่จริง และเป็นสารกัมมันตรังสีที่ไม่ใช่รังสีธรรมดาๆ แต่เป็นสารกัมมันตรังสีที่จะกระทบต่อชีวิตของผู้คนได้
ในขบวนการอนุญาตให้มีการจัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือจะต้องให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความมั่นคง/ความปลอดภัยโครงสร้างอาคารเก็บสารรังสี และประเมินผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมต่อประชาชนข้างเคียง (Security Analysis Of Source Storage & Radiation Safety Evaluation Report For Oil Well/Coal Logging Tool) ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องประเมินทั้งหมด 37 ข้อ เช่น ทำเลที่ตั้งของสถานที่ก่อสร้าง (Location) ต้องไม่อยู่ในเขตที่พักอาศัยของชุมชน จะต้องมีพื้นที่ (Site Area) ทั้งหมดกว้างขวางเพียงพอสำหรับรองรับการปฏิบัติงาน ทั้งในภาวะปกติ และกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี จะต้องมีพื้นที่โดยรอบ (Site Buffer Zone) กว้างขวางเพียงพอและไม่ติดกับที่อาศัยของบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งในแง่ของข้อเท็จจริงในพื้นที่รอบรั้วของพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในใจกลางชุมชนที่หนาแน่น ผนังกำแพงติดกับโรงแรม ถัดไปไม่กี่ร้อยเมตรมีโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เช่น โรงเรียนมหาวชิราวุธ โรงเรียนวรนารีเฉลิม ที่มีบุตรหลานของผู้คนในจังหวัดสงขลาและรอบนอกกว่าหมื่นคน ที่จะต้องใช้ชีวิตในบริเวณดังกล่าว
อีกข้อกำหนดหนึ่งที่สำคัญที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้กำหนดเอาไว้ในข้อ 12 ก็คือ ผนังของตัวอาคารจะต้องมีความหนาแน่นเพียงพอสำหรับลดค่าระดับรังสีให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในขณะเก็บวัสดุมมันตรังสีได้ (Radiation Around Source Storage) ไม่ให้เกิน 25 µSv/hr ในข้อ 16 ระบุว่า อาคารที่เก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสีจะต้องมีอุปกรณ์ตรวจจับ และเตือนภัยเพลิงไหม้ (Smoke/Detector/Fire Alarm) และในข้อ 21 ระบุให้โดยรอบอาคารจะต้องมีป้ายเตือนบริเวณ (Radiation Warning Sign) ทางบริษัทได้รับอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในการผลิต/มีไว้ในครอบครอง หรือใช้วัสดุพลอยได้ตามใบอนุญาตเลขที่ 41106/54R9 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 โดยมีนายทรอย อดัม กอร์ดอน ฟิลด์ส สัญชาติตรินิแดด เป็นคนถือใบอนุญาตในนามบริษัท โดยมีการระบุว่า “มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีทางด้านอุตสาหกรรม” ซึ่งทางบริษัทได้มีบัญชีรายงานการเคลื่อนย้ายวัตถุกัมมันตรังสี ตามใบอนุญาตของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่ พ.ป.ส.4ก-2 เลขที่ 41106/52R8 ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2552-ธันวาคม 2554 รวมทั้งสิ้น 92 รายการ 92 รายการของวัตถุกัมมันตรังสีของบริษัท บริษัทถูกระบุไว้ว่าได้จัดเก็บไว้ในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก และในจังหวัดสงขลา ซึ่งล้วนเป็นสารกัมมันตรังสีที่ร้ายแรงจำพวกโคบอลต์ 60 CO-60, Cs-137, Ba-133,H-3, Am241, BeTH-232, BA-133, AN-241 เป็นต้น มีโจทย์ง่ายๆ สำหรับคนพิษณุโลก และคนในใจกลางเมืองสงขลาก็คือ ท่านเคยรู้หรือไม่ว่ากลางใจเมืองของท่านเป็นสถานที่เก็บวัสดุสารพิษต่างๆ รวมถึงสารกัมมันตรังสีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของครอบครัว และลูกหลานของท่าน
ถึงเวลาหรือยังที่ภาคประชาชนจะต้องลุกกันขึ้นมาตรวจสอบดูแลบ้านเมืองและชุมชนของเรา เพราะหากปล่อยให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับภาระอันตรายเช่นนี้คงไม่เพียงพอ ตัวอย่างกรณีมหันตภัยสารเคมีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสงขลามากว่า 30 ปี ไม่มีใครระแคะระคายเลยว่าสถานที่ดังกล่าวมีภัยร้ายแรงซ่อนตัวอยู่ ข้อกำหนดให้มีระบบเตือนภัย ให้มีเครื่องมือตรวจวัดรังสีที่กระจายออกมา ให้มีกำแพงที่ป้องกันรังสี หรือง่ายๆ แค่ข้อกำหนดให้มีป้ายเตือนสถานที่จัดเก็บสารอันตรายที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของหน่วยงานราชการ คนสงขลาใครเคยเห็นป้ายเตือนภัยดังกล่าวบ้างยกมือขึ้น.