xs
xsm
sm
md
lg

มหันตภัย...กลางใจเมืองสงขลา/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย..บรรจง นะแส

การที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Over Seas S.A Limited ) ให้นำวัตถุกัมมันตรังสีไว้ในกลางใจเมืองสงขลาได้ เรื่องดังกล่าวถูกปิดเป็นความลับ ประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงต่างไม่ระแคะระคายมาก่อน เพราะมีการเช่าที่สร้างกำแพงล้อมรอบไม่สามารถมองเห็นพื้นที่ข้างในได้ จนเมื่อมีกิจกรรมการขุดเจาะน้ำมันชายฝั่งของจังหวัดสงขลา การวิ่งเข้าวิ่งออกของรถบรรทุก ทำให้ประชาชนเริ่มเอะใจ และเมื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ได้เข้าไปทำข่าว ทำให้คนสงขลาทั้งเมืองตกตะลึงว่า วันนี้มหันตภัยสารกัมมันตรังสีร้ายแรงอยู่ริมรั้วชายคาบ้านของเขานั่นเอง

บริษัทได้แจ้งการครอบครองสารกัมมันตรังสีที่ร้ายแรงจำพวกโคบอลต์ 60 CO-60, CS-137, TH-232, BA-133, AN-241 รวม 77 รายการ ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้อนุญาตไว้ตั้งแต่ 24 ธ.ค.54-23 ธ.ค.56 โดยอนุญาตให้บริษัทเก็บสารกัมมันตรังสีต่างๆ ดังกล่าวเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 30 ถ.ไทรงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งอยู่ติดถนนไทรงาม (ด้านหน้า) และถนนไชยา (ด้านหลัง) รอบๆ พื้นที่บ้านหลังดังกล่าวเป็นชุมชนเมืองหนาแน่น ห่างจากตัวศาลากลาง 120 เมตร ห่างจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา 150 เมตร มีสถานศึกษาที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วยคือโรงเรียนมหาวชิราวุธ โรงเรียนวรนารีเฉลิม และโรงเรียนอนุบาลจุลสมัย ที่มีเยาวชนใช้ชีวิตในสถานการศึกษาดังกล่าวเกือบหมื่นชีวิต

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สารกัมมันตรังสีมีทั้งคุณ และโทษต่อชีวิตมนุษย์ แต่สารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่เป็นโทษ และมีอันตราย เช่น รังสีแกมมา มีอำนาจการทะลุทะลวงมาก และสามารถทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายได้ รังสีแอลฟา และรังสีเบต้า เป็นรังสีที่มีอานุภาพสามารถทำลายเนื้อเยื่อ รังสีเอ็กซ์ สามารถปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงในที่สุญญากาศ อันตรายอาจจะเกิดขึ้น ถ้าหากรังสีเอ็กซ์รั่วไหลออกจากเครื่องมือ และออกสู่บรรยากาศ การสัมผัสกับรังสีเอ็กซ์มากเกินไป จะเกิดโรคผิวหนัง ถ้าสัมผัสไปนานๆ เข้า กระดูกก็จะถูกทำลาย เป็นต้น

มีการศึกษาการนำสารกัมมันตรังสีมาใช้หลักๆ อยู่ 5 ด้านคือ ในด้านธรณีวิทยา มีการใช้ C-14 คำนวณหาอายุของวัตถุโบราณ หรืออายุของซากดึกดำบรรพ์ ด้านการแพทย์ ใช้รักษาโรคมะเร็ง ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด กระทำได้โดยการฉายรังสีแกมมาที่ได้จากโคบอลต์-60 เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แล้วยังใช้โซเดียม-24 ที่อยู่ในรูปของ NaCl ฉีดเข้าไปในเส้นเลือด เพื่อตรวจการไหลเวียนของโลหิต โดยโซเดียม-24 จะสลายให้รังสีบีตาซึ่งสามารถตรวจวัดได้ และสามารถบอกได้ว่ามีการตีบตันของเส้นเลือดหรือไม่ ด้านเกษตรกรรม มีการใช้ธาตุกัมมันตรังสีติดตามระยะเวลาการหมุนเวียนแร่ธาตุในพืช โดยเริ่มต้นจากการดูดซึมที่รากจนกระทั่งถึงการคายออกที่ใบ หรือใช้ศึกษาความต้องการแร่ธาตุของพืช

ด้านอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นโลหะ จะใช้ประโยชน์จากกัมมันตรังสีในการควบคุมการรีดแผ่นโลหะ เพื่อให้ได้ความหนาสม่ำเสมอตลอดแผ่น โดยใช้รังสีบีตายิงผ่านแนวตั้งฉากกับแผ่นโลหะที่รีดแล้ว แล้ววัดปริมาณรังสีที่ทะลุผ่านแผ่นโลหะออกมาด้วยเครื่องวัดรังสี ถ้าความหนาของแผ่นโลหะที่รีดแล้วผิดไปจากความหนาที่ตั้งไว้ เครื่องวัดรังสีจะส่งสัญญาณไปควบคุมความหนา โดยสั่งให้มอเตอร์กด หรือผ่อนลูกกลิ้ง เพื่อให้ได้ความหนาตาม และทางด้านการทหาร ใช้เรเดียม Ra, ยูเรเนียม U-235, 238 ทำอาวุธนิวเคลียร์ และใช้ยูเรเนียม U เป็นเชื้อเพลิงในเรือรบ เรือดำน้ำ เป็นต้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่า บริษัทดังกล่าวเอาสารกัมมันตรังสีมาทำอะไร คำตอบก็คือสารกัมมันตรังสีต่างๆ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำมัน หรือแก๊ส ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบความเรียบร้อยในการเชื่อมต่อโลหะ เพื่อต้องการดูว่าการเชื่อมต่อนั้นเหนียวแน่นดีหรือไม่ วิธีการตรวจสอบก็ทำโดยใช้รังสีแกมมา หรือรังสีเอ็กซ์ ยิงผ่านบริเวณการเชื่อมต่อ ซึ่งอีกด้านก็ใช้ฟิล์มมารับรังสีแกมมา หรือรังสีเอ็กซ์ที่ทะลุผ่านออกมา ภาพการเชื่อมต่อที่ปรากฏบนฟิล์มจะสามารถบอกได้ว่าการเชื่อมต่อนั้นเรียบร้อยหรือไม่

วันนี้ แหล่งน้ำมันของชาติในพื้นที่ชายฝั่งของสงขลา ถูกให้สัมปทานแก่บริษัทนิวคอสตอล (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย)) ในสมัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็น รมว.พลังงานในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้เซ็นให้สัมปทาน บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน ที่ไม่เปิดเผยผู้ถือหุ้น และมาตั้งบริษัทลูกในเมืองไทย ใช้เงื่อนไขกฎหมายการปิโตรเลียมที่ล้าสมัยที่ให้ผลตอบแทนแก่ประเทศชาติเพียงน้อยนิด วันนี้ยังท้าทายนำเอาสารกัมมันตรังสีอันร้ายแรงที่ใช้ในขบวนการขุดเจาะน้ำมัน มาตั้งไว้ใจกลางเมืองสงขลา ที่แวดล้อมไปด้วยชุมชน เยาวชนในสถานศึกษา ผมคิดว่ามันชักจะหยามกันมากเกินไปเสียแล้วครับ.

กำลังโหลดความคิดเห็น