xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (66)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

กิริยาท่าที่ 4 “ภวัน ศัลจาลนะ” (ใช้จิตชักนำลมหายใจ)

ทำอาสนะในท่าสิทธิอาสนะ หรือปัทมะอาสนะก็ได้ หลับตาทั้งสองข้าง ม้วนลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เขจรีมุทรา) ตลอดการฝึกกิริยาท่านี้ หายใจออกให้หมดปอด พร้อมกับก้มศีรษะไปข้างหน้าเหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจาลนะ” เพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 หายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมๆ กับค่อยๆ ชักนำลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นข้างบนไปทางช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตและลมปราณผ่านขึ้นไปแต่ละจักระ จะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย

เมื่อจิตของผู้ฝึกเคลื่อนจากจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุ ศีรษะของผู้ฝึกควรจะเงยขึ้นช้าๆ ตามไปด้วย จนกระทั่งใบหน้าเงยขึ้น 20 องศาจากแนวนอน (เงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย) เหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจาลนะ” แล้วเพ่งจิตจดจ่อไปที่จุดพินธุ

จากนั้นค่อยๆ หายใจออกแบบอุชชายี พร้อมกับชักนำจิตและลมปราณจากจุดพินธุ ผ่านจักระที่ 6 ลงไปตามกระดูกสันหลัง (ช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว) ผ่านจักระต่างๆ พร้อมๆ กับกำหนดรู้ไปที่แต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย เมื่อจิตและลมปราณของผู้ฝึกตามลงไปจนถึงจักระที่ 1 ศีรษะของผู้ฝึกควรจะกลับมาตั้งตรงเหมือนตอนก่อนฝึกแล้วค่อยลืมตา

ข้างต้นคือ หนึ่งรอบ จากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่ ด้วยการหายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมกับปิดตาแล้วชักนำลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นข้างบนอีก จงฝึกอย่างนี้ 49 รอบ หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ จะเห็นได้ว่า กิริยาท่าที่ 4 เป็นการพัฒนาต่อยอดการฝึก กิริยาท่าที่ 2 กับกิริยาท่าที่ 3 ที่ได้ถ่ายทอดไปแล้วนั่นเอง

กิริยาท่าที่ 5 “ชทะ ศัลจาลนะ” (ชักนำจิตไปตามเสียงของลมหายใจ)

ทำอาสนะในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะก็ได้ ลืมตาและทำเขจรีมุทรา ตลอดการฝึกกิริยาท่านี้ หายใจออกให้หมดปอด ก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย จิตจดจ่อไปที่จักระที่ 1 อยู่ชั่วขณะ จากนั้นค่อยๆ หายใจเข้าแบบอุชชายีขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ขณะที่ชักนำจิตขึ้นไป ขอให้ตระหนักถึงเสียงลมหายใจ “โซ” เสียงธรรมชาติของลมหายใจเข้าตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน จะต้องตระหนักถึงจักระแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วยเช่นกัน

เมื่อจิตของผู้ฝึกเคลื่อนจากจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุ ศีรษะของผู้ฝึกควรจะเงยขึ้นช้าตามไปด้วย จนกระทั่งศีรษะเงยไปด้านหลังเล็กน้อย เหมือนกับกิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจานะ” และกิริยาท่าที่ 4 “ภวันศัลจาลนะ” จากนั้นให้กักลมหายใจไว้ภายในอยู่ชั่วครู่ โดยให้จิตจดจ่ออยู่ที่จุดพินธุ

แล้วจึงค่อยๆ หายใจออกแบบอุชชายี พร้อมกับชักนำจิตจากจุดพินธุ ผ่านจักระที่ 6 ลงไปตามกระดูกสันหลัง ขณะที่ชักนำจิตลงไป ขอให้ตระหนักถึงเสียงลมหายใจ “ฮัม” (เสียงธรรมชาติของลมหายใจออก) ตามไปด้วย และจะต้องตระหนักถึงจักระแต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย

เมื่อจิตของผู้ฝึกลงตามช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว ไปจนถึงจักระที่ 1 แล้ว ศีรษะของผู้ฝึกควรจะกลับมาตั้งตรงเหมือนตอนก่อนฝึก แล้วค่อยลืมตา ข้างต้นนี้คือหนึ่งรอบจากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่ด้วยการก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย หายใจเข้าแบบอุชชายี ชักนำจิตขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว พร้อมกับตระหนักถึงเสียงลมหายใจ “โซ” (เสียงธรรมชาติของลมหายใจเข้า) ตามไปด้วย จงฝึกอย่างนี้ 59 รอบ หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ จะเห็นได้ว่า กิริยาท่าที่ 5 นี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดการฝึกกิริยาท่าที่ 2 ถึงกิริยาท่าที่ 4 นั่นเอง แต่คราวนี้ให้ทิ้งลมหายใจ และสนใจแค่การชักนำจิตไปตามจักระต่างๆ อย่างเป็นวงโคจรกับตามรู้เสียงธรรมชาติของลมหายใจเข้า-ออกเป็นหลักแทน

กิริยาท่าที่ 6 “มหามุทรา”

กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะเป็นหลัก โดยให้ส้นเท้าของผู้ฝึกกดแตะไปที่จักระที่ 1 ทำ เขจรีมุทรา ด้วยการห่อลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หายใจออกให้หมดปอด ก้มศีรษะไปข้างหน้า ลืมตาเพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 พร้อมกับหายใจเข้าแบบอุชชายี โดยชักนำจิตจากจักระที่ 1 ขึ้นไปข้างบนตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตผ่านขึ้นไปแต่ละจักระ จะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย

ค่อยๆ เงยศีรษะขึ้นตั้งตรง เมื่อชักนำจิตขึ้นมาจนถึงจักระที่ 5 และไปยังจุดพินธุ (ไม่เงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อยเหมือนกิริยาท่าที่ผ่านมา)

จดจ่อจิตอยู่ที่จุดพินธุ พร้อมกับทำมูลพันธ และ (ขมิบบริเวณรอยฝีเย็บระหว่างรูทวารหนักกับอวัยวะเพศ) ศัมภาวีมุทรา (เพ่งจิตไปที่บริเวณหว่างคิ้วหรือตาที่สาม) ไปด้วย โดยยังทำเขจรีมุทราอยู่ตลอดการฝึก นอกจากนี้ ผู้ฝึกยังต้องกักลมหายใจเอาไว้ข้างในในระหว่างนั้นด้วย

ในระหว่างนั้น ผู้ฝึกต้องหัดย้ายฐานของจิต จากหว่างคิ้ว (ศัมภาวีมุทรา) ไปที่ปลายลิ้นที่แตะเพดานฟันบน (เขจรีมุทรา) และไปที่จักระที่ 1 (มูลพันธะ) ตามไปด้วย ผู้ฝึกควรหัดย้ายฐานของจิตในระหว่างการกักลมหายใจ ให้ได้อย่างน้อยสามเที่ยว ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสิบสองเที่ยว เมื่อความสามารถในการกักลมหายใจของผู้ฝึกทำได้นานขึ้น

จากนั้น คลายศัมภาวีมุทราก่อน แล้วจึงค่อยคลายมูลพันธะ แล้วชักนำจิตของผู้ฝึกกลับไปที่จุดพินธุอีกครั้ง ก่อนที่จะชักนำจิตจากจุดพินธุลงไปตามช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว พร้อมๆ กับการหายใจออกแบบอุชชายี จนกระทั่งถึงจักระที่ 1 โดยจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย

ข้างต้นนี้คือ หนึ่งรอบ จากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่ด้วยการก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย หายใจเข้าแบบอุชชายี ชักนำจิตขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว จงฝึกอย่างนี้ 12 รอบหรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ เคล็ดการฝึกกิริยาท่านี้ หรือ “มหามุทรา” นี้ อยู่ที่การฝึกย้านฐานของจิต ในช่วงที่กำลังกักลมหายใจผ่านการทำศัมภาวีมุทรา เขจรีมุทรา และมูลพันธะไปพร้อมๆ กันนั่นเอง กิริยาท่าที่ 6 หรือ “มหามุทรา” จึงเป็นท่าบำเพ็ญท่าหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการฝึกจิตในกุณฑาลินีโยคะ ที่ผู้ฝึกควรใส่ใจฝึกฝนอย่างจริงจัง อนึ่ง “มหามุทรา” ยังทำการฝึกได้ในท่าที่เหยียดขาตรงข้างหนึ่งออกไป โดยงอขาอีกข้างเข้าหาลำตัวท่อนล่าง พร้อมกับเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปจับหัวแม่เท้าที่เหยียดตรงออกไป แต่ขอแนะนำให้ฝึกในท่าสิทธะอาสนะดังข้างต้นจะดีกว่า (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น