xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (65)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

ต่อไปจะขอถ่ายทอดเคล็ดเบื้องต้นของการฝึก “กิริยา” (กิริยาโยคะ) หรือ กิริยาบำเพ็ญ ในกุณฑาลินีโยคะ ต่อจากที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว

กิริยาท่าที่ 2 “จักระ อนุสาธนา” (ชักนำจิตไปตามจักระต่างๆ)

ทำอาสนะในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะก็ได้ หลับตาทั้งสองข้าง หายใจตามปกติ ในการฝึกกิริยาท่านี้จะต้องลืมเรื่องลมหรือการเดินลม เพราะว่าไม่มีความเกี่ยวโยงกันระหว่างลมหายใจกับจิตในการฝึกกิริยาท่านี้ เนื่องจากการฝึกในขั้นนี้ มิใช่การฝึกในขั้นปราณายมะเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการฝึกในขั้นปรัตยาหาระ จึงต้องลืมเรื่องการเดินลม แต่มุ่งความใส่ใจไปที่จิตหรือการมีสติความรู้สึกตัวเป็นหลักแทน

ชักนำจิตหรือความตระหนักรู้ของตนไปที่จักระที่ 1 (จักระมูลธาร) จากนั้นค่อยๆ ชักนำจิตไต่ขึ้นไปยังช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว จากจักระที่ 1 ไปยังจักระที่ 2 บริเวณกระดูกหัวเหน่า ไปยังจักระที่ 3 ตรงสะดือ ไปยังจักระที่ 4 ตรงกลางอก ไปยังจักระที่ 5 ตรงลำคอ แล้วข้ามไปยังจุดพินธุที่ด้านบนข้างหลังของศีรษะ

ขณะที่ ชักนำจิตขึ้นข้างบน ผู้ฝึกจะต้องมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังผ่านจักระอะไรขึ้นไปบ้าง ไม่ว่า มูลธาร สวาธิษฐาน มณีปุระ อนาหตะ วิสุทธิ และพินธุ

จากนั้น จงชักนำจิตลงมา จากจุดพินธุไปยังจักระที่ 6 (อาชณะ) ไปยัง จักระที่ 5 ตามช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว ไปยังจักระที่ 4 ไปยังจักระที่ 3 ไปยังจักระที่ 2 จนถึงจักระที่ 1 ตามลำดับ โดยที่ผู้ฝึกจะต้องมีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่า กำลังผ่านจักระอะไรลงไปบ้าง

จากจักระที่ 1 ให้เริ่มต้นชักนำจิตขึ้นข้างบนไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัวต่อทันที ทำการชักนำจิตขึ้นและลงตามจักระต่างๆ เป็นวงโคจรเป็นรอบๆ อยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ (ดูภาพกิริยาท่าที่ 2 ประกอบ)

ผู้ฝึกจะต้องไม่เค้นความรู้สึกในการนำจิตผ่านจักระต่างๆ ผู้ฝึกควรแค่มองด้วย “ตาใน” ไปที่จักระเหล่านี้ตอนที่ชักนำจิตผ่านขึ้นหรือผ่านลง ราวกับกำลังดูทิวทัศน์จากรถไฟที่กำลังแล่นอยู่ ให้ฝึกเช่นนี้ 9 รอบ หรือจนกว่าจะออกจากสมาธิ

ภาพ กิริยาท่าที่ 2 (จักระอนุสาธนา”

(ชักนำจิตไปตามจักระต่างๆ)

กิริยาท่าที่ 3 “นาฏศัลจาลนะ” (ชักนำจิตตามเสียงโอม)

นั่งในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะก็ได้ ระบายลมหายใจออกให้หมด ลืมตา ก้มศีรษะไปข้างหน้าอย่างผ่อนคลาย แต่อย่าให้ปลายคางไปกดที่หน้าอก แค่แตะที่หน้าอกเบาๆ เท่านั้น

จากนั้น ชักนำจิตหรือความตระหนักรู้ไปที่จักระที่ 1 จดจ่ออยู่ที่จักระที่ 1 ชั่วครู่ จึงค่อยๆ หายใจเข้า พร้อมกันนั้นจงชักนำจิตไต่ขึ้นไปยังช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ผ่านจักระที่ 2 จักระที่ 3 จักระที่ 4 จักระที่ 5 ไปจนถึงจุดพินธุที่อยู่บนยอดด้านหลังของศีรษะ ทำเหมือนกับกิริยาท่าที่ 2 “จักระอนุสาธนา” เพียงแต่คราวนี้ตอนที่ชักนำจิตจากจักระที่ 5 ไปยังจุดพินธุซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของการสูดลมหายใจเข้า ผู้ฝึกจะต้องเงยศีรษะขึ้นช้าๆ ตามไปด้วย จนกระทั่งใบหน้าเงยขึ้น 20 องศาจากแนวนอน กล่าวคือ จากการก้มหน้าพร้อมๆ กับการสูดลมหายใจเข้า ให้ผู้ฝึกค่อยๆ เงยหน้าขึ้นจนกระทั่งศีรษะเอนไปข้างหลังเล็กน้อย โดยในตอนนั้นจิตของผู้ฝึกควรจะถูกชักนำขึ้นไปจนถึงจุดพินธุพอดี

ในขณะที่ยังกักลมหายใจอยู่ และวางจิตอยู่ที่จุดพินธุ ให้ผู้ฝึกจดจ่ออยู่ที่จุดพินธุนี้ จนกระทั่งมันระเบิดออกมาเป็นเสียง “โอม” (Om) โดยผู้ฝึกอาจจะเปล่งเสียง “โอม” ออกมา ในจังหวะนั้นก็ได้ด้วยพลังแห่งสติ

เสียง “โอ” (O) ควรเกิดขึ้นอย่างระเบิดออกมา และฉับพลัน เสียง “ม...” (m…) ควรจะลากยาว จนกระทั่งจิตถูกชักนำลงจากจักระที่ 5 ไปถึงจักระที่ 1 (ดูภาพจากกิริยาท่าที่ 3 ประกอบ)

ภาพ กิริยาที่ 3 “นาฏสันจาลนะ”

(ชักนำจิตตามเสียงโอม)

เมื่อชักนำจิตลงไปตามกระดูกสันหลังผ่านจักระต่างๆ จงค่อยๆ หลับตาตามไปด้วย ขณะที่จิตลงไปตามเสียง “โอม” ที่เปล่งออกมา ผู้ฝึกควรจะกำหนดรู้จักระที่ 6 จักระที่ 5 จักระที่ 4 จักระที่ 3 จักระที่ 2 ตามไปด้วย

เมื่อจิตของผู้ฝึกตามลงไปจนถึงจักระที่ 1 ศีรษะของผู้ฝึกควรจะกลับมาตั้งตรงเหมือนตอนก่อนฝึก แล้วค่อยลืมตา

ข้างต้นคือ หนึ่งรอบ จากนั้นจึงขึ้นรอบใหม่อีกโดยชักนำจิตไปจดจ่อที่จักระที่ 1 แล้วค่อยๆ หายใจเข้า พร้อมกับชักนำจิตไต่ขึ้นตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ผ่านจักระที่ 2 จักระที่ 3 จักระที่ 4 จักระที่ 5 ไปจนถึงจุดพินธุ จากนั้นเปล่งเสียง “โอม” ออกมา พร้อมกับหายใจออกช้า พร้อมกับค่อยๆ หลับตาแล้วชักนำจิตจากจุดพินธุ ไต่ลงจากจุดพินธุไปยังจักระที่ 6 ถึงจักระที่ 5 จักระที่ 4 จักระที่ 3 จักระที่ 2 จนกระทั่งถึงจักระที่ 1 ผ่านช่องลมปราณด้านหลังของลำตัว เมื่อหายใจออกหมด ควรให้พอดีกับเสียง “โอม” ที่สิ้นสุดลง โดยจดจ่อจิตอยู่ที่จักระที่ 1 แล้วจึงลืมตาขึ้น

ให้ฝึกอย่างนี้ 13 รอบลมหายใจเข้าออก หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ การฝึกกิริยาท่าที่ 2 และกิริยาท่าที่ 3 ข้างต้น เป็นการฝึกที่ทรงพลังมาก สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกกุณฑาลินีโยคะอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะกิริยาท่าที่ 2 กับกิริยาท่าที่ 3 คือพื้นฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับการฝึกในขั้นตอนนี้ ผู้ฝึกควรฝึกสองท่านี้ให้ชำนาญ โดยฝึกอย่างต่อเนื่องไปพักใหญ่ ก่อนที่จะรุดหน้าไปฝึกกิริยาท่าอื่นๆ ต่อไป (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น