xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (64)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ*

ผู้ที่ปลุกจักระต่างๆ ในร่างกายโดยผ่านการฝึกกุณฑาลินีโยคะได้แล้ว ร่างกายของผู้นั้นจะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้นั้นจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ จิตใจจะสมบูรณ์ กว้างขวาง อ่อนโยน และละเอียดอ่อนต่อผู้คนยิ่งขึ้น นอกจากนี้พลังจิตและพลังสมาธิของผู้นั้นก็จะสูงขึ้น ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจจะดีขึ้น ฉับไวยิ่งขึ้น แม่นยำยิ่งขึ้นและลุ่มลึกยิ่งขึ้น จิตใจของผู้นั้นจะเป็นอิสระยิ่งขึ้น ถูกสิ่งต่างๆ ผูกมัดทำให้ยึดติดน้อยลงเรื่อยๆ ผู้นั้นจะสามารถมองทุกอย่างอย่างที่มันเป็นได้ และจะเริ่ม “สื่อสาร” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

อย่างไรก็ดี การฝึกปลุกจักระต่างๆ ยังอยู่ในขั้นปลายๆ ของการฝึกปราณายามะ โดยที่การฝึกปลุกจักระเป็นกระบวนการฝึกที่สืบเนื่องมาจากการฝึกพันธะ และการฝึกมุทราของปราณายามะเท่านั้น และไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น

หากผู้ฝึกกุณฑาลินีโยคะ เลือกที่จะเดินสาย ปัญญาวิมุติ หลังจากที่ผู้ฝึกสามารถปลุกจักระต่างๆ ได้แล้ว เขาก็ควรหันมาฝึก “ตันตระ” เพื่อพัฒนา “มหาสติ” ต่อไปเลย (เคล็ดการฝึก “ตันตระ” จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง) แต่ถ้าหากผู้ฝึกเลือกที่จะเดินสายเจโตวิมุติ เขาก็ควรจะฝึก “กิริยา” ต่อจากการฝึกปลุกจักระต่างๆ เพราะการฝึก “กิริยา” คือแกนหลักของการฝึกในขั้นปรัตยาหาระของกุณฑาลินีโยคะ

ก่อนอื่น ผู้ฝึกควรทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบการฝึกโยคะ ตามคัมภีร์โยคสูตรของปตัญชลีนั้นมีอยู่ 8 ขั้นคือ

(1) ยมะ (ศีล

(2) นิยมะ (จริยะ)

(3) อาสนะ (น่าดัดตน)

(4) ปราณายามะ (วิธีหายใจ ซึ่งรวมไปถึงการฝึกพันธะและมุทรา)

(5) ปรัตยาหาระ (การทำให้ความรู้สึกของอินทรีย์ทั้งห้าสิ้นไป โดยผ่านการฝึก “กิริยา”)

(6) ธารณะ (การเพ่ง)

(7) ฌาน (การเข้าฌาน)

(8) สมาธิ (สมาบัติ)

จะเห็นได้ว่า กุณฑาลินีโยคะ ตีความคำว่า “กิริยา” ต่างไปจาก หทะโยคะ หรือโยคะที่เผยแพร่ในวงกว้างปัจจุบัน ซึ่งตีความคำว่า “กิริยา” ว่าหมายถึง การชำระล้างกายเนื้อให้บริสุทธิ์เพื่อสุขภาพเป็นหลักเท่านั้น ได้แก่ การชำระล้างบริเวณจมูก-คอ-ปาก กะโหลกศีรษะกับการชำระล้างบริเวณกระเพาะ-ทางเดินอาหาร และการชำระล้างบริเวณลำไส้ เหล่านี้เป็นต้น

ในขณะที่ กุณฑาลินีโยคะจะตีความคำว่า “กิริยา” ว่าหมายถึงการชำระกายทิพย์ให้บริสุทธิ์เพื่อพัฒนาจิตเป็นหลัก เพราะเหตุนี้แหละ การฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะจึงต่างกับของหทะโยคะเป็นอย่างมาก โดยที่ การฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะจะเป็นการบูรณาการฝึกพันธะกับมุทราเพื่อมุ่งพัฒนาจิตในขั้นอินทรีย์สังวรหรือปรัตยาหาระเป็นหลัก มากกว่ามุ่งพัฒนาปราณและสะสมพลังปราณเหมือนในขั้นปราณายามะ

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การฝึก “กิริยา” ของกุณฑาลินีโยคะจะมีรูปแบบการฝึกที่หลากหลายมาก เพราะ การฝึก “กิริยา” ก็คือ การฝึกในเชิง “บำเพ็ญ” ทางจิตต่างๆ นานาของเหล่าฤาษี มุนี โยคี เทพ และพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าเป็นการฝึกบำเพ็ญเพียรทางจิตที่สืบต่อมาจากการฝึกอาสนะและปราณายามะ จะจัดอยู่ในการฝึก “กิริยา” ได้ทั้งสิ้น การฝึก “กิริยา” จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ในขั้นปรัตยาหาระสำหรับการสำเร็จทางจิตใจแนวเจโตวิมุติ ต่อจากนั้นคือธารณะ ฌาน และสมาธิ (สมาบัติ) ตามลำดับ

ต่อไปจะขอถ่ายทอดเคล็ดเบื้องต้นของการฝึก “กิริยา” (กิริยาโยคะ) ในกุณฑาลินีโยคะ ดังต่อไปนี้

กิริยา ท่าที่ 1 “วิปริตกรณีมุทรา” (ทำสมาธิในท่ายืนด้วยไหล่)

ทำอาสนะในท่า วิปริตกรณี” หรือ ท่ายืนด้วยไหล่ แต่การฝึกในขั้นนี้ จะไม่ใส่ใจในท่าร่างเหมือนในขั้นอาสนะแล้ว โดยจะมุ่งความสนใจไปที่การเดินลมตามจักระต่างๆ เป็นหลักแทน

จากนั้น จงหายใจแบบอุชชายีเบาๆ จงแน่ใจว่าขาทั้งสองข้างของตนกำลังตั้งตรง ปิดตา หายใจเข้าพร้อมกับให้ตระหนักถึงกระแสปราณที่อุ่นร้อนว่ากำลังไหวผ่านท่อสุษุมนะ ตรงกระดูกสันหลังจากจักระที่ 3 (มณีปุระ) ผ่านจักระที่ 4 (อนาหตะ) ไปยังจักระที่ 5 (วิสุทธิ) ที่ลำคอ กำหนดจิตให้ปราณรวมอยู่ที่จักระที่ 5 กักลมหายใจไว้ชั่วขณะ ตระหนักถึงความซ่าเย็นที่บังเกิดขึ้นบริเวณจักระที่ 5

จากนั้น จงหายใจออกแบบอุชชายีเบาๆ พร้อมกับตระหนักว่าปราณจากจักระที่ 5 ไหลไปยังจักระที่ 6 (อาชณะ) ผ่านจุดพินธุไปสิ้นสุดที่จักระที่ 7 (สหัสธาร) ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตนเองรู้สึกว่าปราณได้อัดฉีดเข้ามาจากจักระที่ 3 ผ่านการหายใจเข้า จนมาชุมนุมกันที่จักระที่ 5 แล้วค่อยๆ ระบายปราณออกจากจักระที่ 5 ไปยังจักระที่ 6 จุดพินธุ และทะลุออกจากจักระที่ 7 พร้อมกับลมหายใจออก

พอหายใจออกเสร็จ ให้เริ่มต้นฝึกใหม่โดยกำหนดจิตกลับไปที่จักระที่ 3 พร้อมกับหายใจเข้า ดึงปราณจากจักระที่ 3 ผ่านจักระต่างๆ ลงไปยังจักระที่ 5 อีก และพอหายใจออกก็ให้ปราณออกไปทางจักระที่ 7 ให้ฝึกเช่นนี้ 21 ครั้ง หรือจนกว่าตัวเองจะรู้สึกหัวโล่ง คึกคัก และเปี่ยมไปด้วยพลัง...

แนวคิดของ “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ จึงมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของคำว่า “ตบะ” เปรียบเหมือนร่างกายของมนุษย์เมื่อถูกเผาด้วยไฟแห่งโยคะ (หรือการบำเพ็ญตบะ) จะทำให้ร่างกาย ทั้งกายเนื้อและกายทิพย์ชั้นต่างๆ บริสุทธิ์และแข็งแรงยิ่งขึ้น

ผู้ฝึกต้องเข้าใจด้วยว่า การฝึก “กิริยา” เป็นแค่ช่วงต้นๆ ของกระบวนการชำระให้บริสุทธิ์ของโยคะเท่านั้น โดยที่กระบวนการชำระให้บริสุทธิ์นี้จะเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ เมื่อผู้ฝึกบรรลุถึงขั้นสมาธิ (สมาบัติ) ซึ่งเป็นขั้นที่แปดและขั้นสุดท้ายในระบบการฝึกโยคะตามคัมภีร์โยคสูตรของปตัญชลี (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น