xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (62)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

ในขณะที่ภาษาของความรักนั้น เป็นภาษาแบบสตรีเพศ ความสนใจของผู้ใช้ภาษาของความรักนี้ มิได้อยู่ที่อัตตาของตัวเขาเอง แต่อยู่ที่คู่สนทนาของเขา มิได้อยู่ที่การพิสูจน์ความถูกผิดของใคร และไม่ได้อยู่ที่การเสริมความอหังการของใคร หากอยู่ที่ความต้องการช่วยเหลือคู่สนทนาของเขาให้เติบโต เปลี่ยนแปลงตัวเอง และเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณได้ต่างหาก

สาเหตุที่ตันตระ ต้องใช้ภาษาของความรักก็เพื่อที่จะให้ผู้เรียนหลุดพ้นจากการครอบงำของ “ใจ” ซึ่งเป็นตัวตนของอัตตาเป็นการชั่วคราว เนื่องจากในห้วงที่คนเรากำลังอยู่ในความรักอันล้ำลึกอยู่นั้น ใจที่เป็นบ่อเกิดของความคิดและคำพูดจะหยุดทำงานชั่วคราว มันจะไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต จะมีก็แต่ “ปัจจุบันขณะ” เท่านั้นที่ดำรงอยู่ และเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ห้วงเวลาเช่นนี้แหละคือช่วงขณะที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ตันตระ

“โอ พระศิวะท่านเอย ตัวตนที่แท้จริงของพระองค์นั้นเป็นฉันใดกันแน่?”

ทำไมพระอุมาจึงต้องถามพระศิวะอย่างนี้ด้วยเล่า? นั่นเป็นเพราะว่า พระอุมาเธอหลงรักพระศิวะอย่างลึกซึ้งเหลือที่จะบรรยาย เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรักอย่างดื่มด่ำลึกซึ้ง จนกระทั่งเข้าถึง “ความจริงแท้” ที่เป็นสัจจะภายใน เมื่อนั้นผู้นั้นก็จะรู้สึกและเห็นเหมือนอย่างที่พระอุมาได้เห็นว่า พระศิวะนั้นไม่มีรูปไม่มีร่าง เพราะที่สุดของความรักนั้นก็คือ ความว่าง พระอุมานั้น รักพระศิวะมากเสียจนกระทั่งร่างของพระศิวะที่เธอรักเลือนหายไป กลายเป็นสิ่งที่ไร้รูปขึ้นมาแทน พระอุมาจึงตกอยู่ท่ามกลางห้วงลึกอันไร้ขอบเขตสุดที่จะบรรยายได้ นี่จึงกลายเป็นที่มาของคำถามข้อนี้ของพระอุมา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คำถามข้อนี้ของพระอุมาแท้จริงแล้ว ไม่ใช่คำถามของปรัชญาที่ถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่พระอุมาถามด้วยภาษาของความรักต่างหาก พระอุมาถามคำถามนี้ออกมาปานละเมอในช่วงขณะที่ความรักของนางพุ่งสู่ขึ้นสุดยอดแล้ว พระศิวะซึ่งเป็นคนรักของนางได้เลือนหายไป...

ต่อไปจะขอถ่ายทอดเคล็ดการฝึกปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะอย่างเป็นระบบต่อจากที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว

(6) หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกปลุกจักระที่ 4 หรือจักระอนาหตะตรงบริเวณกระดูกสันหลัง ที่ตรงกับตำแหน่งหัวใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือนขึ้นไปแล้ว จึงค่อยเริ่มการฝึกสมาธิสำหรับปลุกจักระที่ 5 หรือจักระวิสุทธิเป็นลำดับต่อไป

คำว่า “วิสุทธิ” หมายถึงการทำให้บริสุทธิ์ การทำให้สะอาดและการล้างพิษ จักระวิสุทธิหรือจักระที่ 5 จึงเป็นจักระที่ทำหน้าที่ล้างพิษ และทำให้ร่างกายสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ในคัมภีร์กุณฑาลินีโยคะได้กล่าวไว้ว่า “พระจันทร์หลั่งน้ำอมฤต หรืออาหารทิพย์ของเทพเจ้าออกมา ส่วนพระอาทิตย์แห่งมณีปุระเป็นผู้ผลาญน้ำอมฤตนี้”

คำว่า “พระจันทร์” ในที่นี้ ความจริงหมายถึงสมองครึ่งซีกซ้าย และครึ่งซีกขวาที่มีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว โดยที่ “พระจันทร์” นี้สังกัดอยู่ในจักระที่ 7 หรือจักระสหัสธาระ โดยที่ตรงกลางศีรษะมีจุดอยู่จุดหนึ่งเรียกว่า จุดพินธุ ที่ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตฮอร์โมนของเหลวที่เปรียบเหมือนน้ำอมฤตออกมา

ในตอนแรกของเหลวนี้จะหลั่งสู่ต่อมที่สำคัญในช่องจมูกกับส่วนบนของเพดานปาก ผ่านลงมาข้างล่างเพดาน และถูกกักเก็บไว้ที่จักระลลนา ขณะนั้นของเหลวนี้ยังไม่ได้เป็นน้ำอมฤตแต่อย่างใด ต่อเมื่อผู้ฝึกได้ฝึก “เขจรีมุทรา” ใช้ลิ้นดันแตะเพดานปากบนอยู่เสมอ มันจะไปกระตุ้นจักระลลนา และต่อมเหล่านี้ให้หลั่งของเหลวลงมาที่จักระที่ 5 หรือจักระวิสุทธิ แล้วจักระวิสุทธิจะทำการฟอกของเหลวนี้ให้บริสุทธิ์สะอาดกลายเป็นน้ำทิพย์หรือน้ำอมฤต

เป็นที่กล่าวกันว่า ของเหลวที่หลั่งออกมาจะมีการฟอกให้บริสุทธิ์แถวบริเวณคอเท่านั้น ถ้าจักระที่ 5 ทำหน้าที่ปกติแข็งแรง ก็จะช่วยฟอกของเหลวฮอร์โมนให้สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าจักระที่ 5 ไม่ถูกกระตุ้นให้ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ การฟอกให้บริสุทธิ์ก็ไม่เกิดขึ้น ของเหลวฮอร์โมนที่ถูกหลั่งออกมาจะกลายเป็นของเสียเป็นพิษ ไม่บริสุทธิ์ และไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทน

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืน และการชะลอวัย รวมทั้งการไม่ป่วยไข้ จะขึ้นอยู่กับการทำงานของจักระที่ 5 นี้ซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับจุดพินธุในสมอง ด้วยเหตุนี้ การฝึกมุทราในท่า “วิปริตกรณีมุทรา” (ท่ายืนด้วยไหล่ แล้วฝึกปราณายามะจากท่านี้) จึงเป็นท่าที่สำคัญมากในการกระตุ้นจักระที่ 5 นี้

นอกจากนี้ จักระที่ 5 นี้ยังเป็นจักระที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความคิด การสื่อสารถึงกัน โดยการรับคลื่นของความสั่นสะเทือนจากที่อื่น เมื่อคลื่นความสั่นสะเทือนจากที่อื่นส่งมาแล้ว จักระที่ 5 จะเป็นผู้รับก่อน แล้วค่อยๆ ส่งทอดกันต่อๆ ไปโดยลำดับ จนถึงศูนย์กลางของสมอง จากนั้นค่อยส่งความรับรู้ไปยังทั่วร่าง

เคล็ดในการปลุกจักระที่ 5 หรือจักระวิสุทธิมีดังนี้... เริ่มจากการปลุกจักระที่ 6 ก่อน จากนั้นจึงค่อยไปปลุกจักระที่ 1 จักระที่ 2 จักระที่ 3 เรื่อยมาจนถึงจักระที่ 4 แล้วถึงจะเริ่มปลุกจักระนี้ได้ ขอให้ฝึกในที่มืดสลัว นั่งสมาธิท่าปทุมอาสนะ หรือสิทธะอาสนะสองมืออยู่ในท่าชินมุทรา (หัวแม่มือกับนิ้วชี้แตะกันเบาๆ) หลับตาลงอย่างแผ่วเบา สงบจิตใจและอารมณ์ให้ผ่อนคลาย

เริ่มฝึกอัศวิณีมุทราโดยส่งสมาธิจิตไปที่กล้ามเนื้อรอบรอยฝีเย็บก่อน หายใจเข้าขมิบ หายใจออกคลาย จงฝึกช้าๆ ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป รักษาความถี่ให้สม่ำเสมอ หลังจากฝึกจนเกิดความรู้สึกพิเศษ บริเวณจักระที่ 6 ได้แล้ว ก็ให้ส่งสมาธิจิตไปจดจ่อที่จักระที่ 6 นี้เป็นเวลา 4 นาที ในท่าอัศวิณีมุทรา

จากนั้นจึงฝึกกระตุ้นจักระที่ 1 โดยนั่งในท่าวัชระอาสนะให้เข่าห่างกันเล็กน้อย นิ้วประสานกันวางบนตักใต้สะดือเล็กน้อย หลับตาส่งสมาธิจิตไปที่ปลายจมูก จากนั้นลืมตาเล็กน้อยส่งสมาธิจิตไปที่ปลายจมูกอีก แล้วหลับตาอีก ทำสลับกันไปเป็นเวลา 3 นาที

จากนั้นจึงฝึกกระตุ้นจักระที่ 2 โดยฝึกตามเคล็ดที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว 3 นาที ต่อไปฝึกกระตุ้นจักระที่ 3 เฉพาะขั้นตอนที่สามคือ หายใจเข้าท้องน้อยพองขึ้น หายใจออกท้องน้อยหดยุบลงไป พร้อมกับกั้นลมให้ปราณากับอปานาหลอมรวมกันก่อนระบายลมหายใจออก ฝึกเช่นนี้ 4 นาที

จากนั้นฝึกกระตุ้นจักระที่ 4 ให้มีความรู้สึกว่าลมหายใจเข้าจากลำคอลงมาที่ทรวงอกจนเต็ม และตระหนักถึงช่องว่างในหัวใจแล้วให้ช่องว่างนี้ขยายตัวหดตัวตามจังหวะของการหายใจ ฝึกเช่นนี้ 4 นาที

เมื่อฝึกเช่นนี้แล้วต่อไปให้ส่งสมาธิจิตไปปลุกจักระแต่ละจักระ โดยเรียงลำดับจากจักระที่ 1 ไปยังจักระที่ 2 ไปยังจักระที่ 3 ไปยังจักระที่ 4 ไปยังจักระที่ 5 ไปยังจักระที่ 6 จากนั้นให้ส่งสมาธิจิตย้อนกลับจักระที่ 6 ไปยังจักระที่ 5 ไปยังจักระที่ 4 ไปยังจักระที่ 3 ไปยังจักระที่ 2 ไปยังจักระที่ 1 ฝึกเช่นนี้อยู่สักพักใหญ่ จึงฝึกต่อด้วยท่าเขจรีมุทรากับวิปริตกรณีมุทราอีก 30 นาที จึงค่อยออกจากการฝึก

จะเห็นได้ว่า เคล็ดการฝึกจักระที่ 5 คือการบูรณาการฝึกปลุกจักระต่างๆ ทั้งหมดที่เคยฝึกมาเข้าด้วยกันนั่นเอง (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น