xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (67)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

กิริยาท่าที่ 7 “มหาเภธะมุทรา”

กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะเป็นหลักเหมือนกับกิริยาท่าที่ 6 “มหามุทรา” โดยให้ส้นเท้าของผู้ฝึกกดแตะไปที่จักระที่ 1 ทำ เขจรีมุทรา ด้วยการห่อลิ้นไปแตะหลังเพดานฟันบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลืมตาตลอด ก้มศีรษะไปข้างหน้า หายใจออกให้หมดปอด เพ่งจิตไปที่จักระที่ 1 พร้อมกับหายใจเข้าแบบอุชชายี โดยชักนำจิตจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว ระหว่างที่ชักนำจิตผ่านขึ้นไป แต่ละจักระจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านขึ้นไปด้วย

ค่อยๆ เงยศีรษะขึ้นตั้งตรงเมื่อชักนำจิตขึ้นมาจนถึงจักระที่ 5 และไปยังจุดพินธุ จากนั้นจดจ่อจิตอยู่ที่จุดพินธุแล้วหายใจออกแบบอุชชายี พร้อมกับชักนำจิตลงสู่ช่องลมปราณด้านหลังของลำตัวไปยังจักระที่ 1 โดยจะต้องตระหนักถึงแต่ละจักระที่ผ่านลงไปด้วย

จากนั้นให้ผู้ฝึกทำชาลันธรพันธะ (ล็อกคาง) พร้อมกับกักลมหายใจเอาไว้ แล้วให้เริ่มทำมูลพันธะ (ขมิบรูทวารหนัก) อุททียานพันธะ (แขม่วท้อง) และการเพ่งปลายจมูกไปพร้อมๆ กันด้วย โดยที่ผู้ฝึก ต้องหัดย้ายฐานของจิตจากปลายจมูกไปที่บริเวณท้อง (อุททียานพันธะ) และที่บริเวณรอยฝีเย็บ (มูลพันธะ) ตามไปด้วย คล้ายกับการฝึก “มหามุทรา” (กิริยาท่าที่ 6) แต่ต่างกันที่ตำแหน่งของฐานที่จิตไปตั้งอยู่เท่านั้น

ผู้ฝึกควรหัดย้ายฐานของจิตในระหว่างการกักลมหายใจให้ได้อย่างน้อยสามเที่ยว ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสิบสองเที่ยว เมื่อความสามารถในการกักลมหายใจของผู้ฝึกทำได้นานขึ้น จากนั้นค่อยๆ คลายการเพ่งปลายจมูก คลายมูลพันธะ คลายอุททียานพันธะ และคลายชาลันธรพันธะตามลำดับ แต่ศีรษะยังคงก้มอยู่ คราวนี้ให้ส่งจิตไปที่จักระที่ 1 อีก เพื่อขึ้นรอบใหม่ด้วยการหายใจเข้าแบบอุชชายี ชักนำจิตขึ้นไปตามช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว จงฝึกอย่างนี้ 12 รอบ หรือฝึกจนกว่าจะออกจากสมาธิ อนึ่ง เคล็ดการฝึกกิริยาท่านี้หรือ “มหาเภธะมุทรา” ก็อยู่ที่การฝึกย้ายฐานของจิต ในช่วงที่กำลังกักลมหายใจอยู่ ผ่านการเพ่งปลายจมูก อุททียานพันธะ และมูลพันธะไปพร้อมๆ กันนั่นเอง การฝึกกิริยาท่าที่ 7 มักฝึกหลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึก กิริยาท่าที่ 6 จนชำนาญแล้ว

กิริยาท่าที่ 8 “มาณทุกีกริยา” (ฝึกแบบกบ)

นั่งขัดสมาธิ ลืมตา วางสองมือบนเข่า และทำการเพ่งปลายจมูก จากนั้นให้มีสติตามรู้ลมหายใจที่ไหลผ่านเข้ารูจมูกทั้งสองข้าง ในระหว่างที่หายใจเข้า ให้ตามรู้ลมหายใจที่ไหลผ่านรูจมูกทั้งสองข้างนี้ซึ่งไปบรรจบกันที่หว่างคิ้ว หรือจักระที่ 6 ครั้นพอหายใจออก ก็ให้ตามรู้ลมหายใจออกที่ไหลจากจักระที่ 6 แยกออกเป็นสองสาย ผ่านรูจมูกทั้งสองข้างออกไป ลักษณะของลมหายใจที่ไหลออกจะเหมือนกับรูป “วี” คว่ำ ขอให้รู้สึกให้ได้ พร้อมกันนั้น ก็ให้ตื่นตัวในการสัมผัสกลิ่นต่างๆ ในระหว่างที่กำลังอยู่ในสมาธิด้วย ในระหว่างฝึก หากรู้สึกเมื่อยตาก็สามารถหลับตาได้เป็นพักๆ ก่อนที่จะเปิดตาและเพ่งปลายจมูกต่อ ให้ฝึกกิริยาท่านี้ จนกระทั่งจิตของผู้ฝึกกำลังจะเข้าสู่ภวังค์ แล้วให้หยุดฝึกเพราะไม่ควรฝึกต่อ จนกระทั่งจิตตกภวังค์ลืมตนจนไม่ออกจากสภาวะนั้น

ภาพ “กิริยาท่าที่ 7” มหาเภธะมุทรา”

กิริยาท่าที่ 9 “ทาดัน กิริยา” (ท่ากระแทกกุณฑาลินี)

นั่งขัดสมาธิในท่าปัทมะอาสนะ โดยยังลืมตาอยู่ วางสองมือแตะกับพื้นข้างลำตัวใกล้กับสะโพก ปลายนิ้วชี้ไปข้างหน้า เงยศีรษะไปข้างหลังเล็กน้อย เพ่งจิตไปที่หว่างคิ้ว (ศัมภาวีมุทรา) จากนั้นจงอ้าปาก หายใจเข้าแบบอุชชายี โดยให้ลมเข้าทางปาก ขณะที่หายใจเข้า ขอให้ผู้ฝึกรู้สึกด้วยว่า ลมหายใจได้เคลื่อนลงจากปากผ่านท่อลมปราณจนกระทั่งลงมาถึงจักระที่ 1 เมื่อลมหายใจลงมาสะสมที่จักระที่ 1 แล้ว ให้กักลมหายใจไว้พร้อมกับกำหนดจิตอยู่ที่จักระที่ 1 โดยทำ มูลพันธะ (ขมิบบริเวณรอบๆ รูทวารหนัก) ด้วย

จากนั้นให้ใช้สองมือยกตัวขึ้นจากพื้น แล้วปล่อยตัวลงให้กระแทกกับพื้นเบาๆ เพื่อกระตุ้นจักระที่ 1 ให้ฝึกอย่างนี้สามครั้ง ที่สำคัญจะต้องไม่ทำเร็วเกินไปและแรงเกินไป หลังจากทำครบสามครั้งแล้ว ให้หายใจออกอย่างผ่อนคลายผ่านทางจมูกแบบอุชชายี ลมปราณจะดูเหมือนกระจายออกทุกทิศทางจากจักระที่ 1 ข้างต้นคือหนึ่งรอบ ให้ฝึกอย่างนี้ 7 รอบด้วยกัน ส่วนจำนวนครั้งที่ปล่อยลำตัวลงกระทบพื้นนั้น ค่อยๆ เพิ่มจาก 3 ครั้ง จนมากสุดถึง 11 ครั้งเท่าที่ผู้ฝึกจะสามารถกักลมหายใจเข้าได้นานขนาดนั้นได้

ภาพ กิริยาท่าที่ 9 “ทาดันกิริยา”

(ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น