xs
xsm
sm
md
lg

โลกธรรม 8 และมานะ 9 : เหตุให้คนเสียคน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

โลกธรรมหรือความเป็นไปตามคติธรรมดา ซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลก และสัตวโลกหมุนเวียนไปตามธรรมที่ว่านี้ด้วย จึงเรียกว่าโลกธรรม มีอยู่ 8 ประการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 4 ประการดังนี้

1. ส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่คนอยากได้ใคร่มี และพยายามแสวงหามาเป็นของตน มี 4 ประการ คือ

1.1 ลาภ ได้แก่การได้มาซึ่งสิ่งที่คนปรารถนา

1.2 ยศ ได้แก่ตำแหน่งศักดินาต่างๆ

1.3 ปสังสา ได้แก่การได้รับการยกย่องสรรเสริญ

1.4 สุข ได้แก่ความสบายกาย สบายใจ

2. ส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือเป็นสิ่งคนไม่ปรารถนา ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ตน มี 4 ประการ คือ

2.1 อลาภ ได้แก่การสูญเสียสิ่งที่ได้มา

2.2 อยส ได้แก่การถูกถอดยศ ลดตำแหน่ง

2.3 นินทา ได้แก่การถูกตำหนิติเตียน

2.4 ทุกข์ ได้แก่ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

ธรรมทั้ง 8 ประการนี้จะเกิดขึ้นแก่ทุกคนทั้งที่เป็นปุถุชน และอริยชน เพียงแต่ว่าคนสองกลุ่มมีข้อแตกต่างกันด้วยเพศภาวะ และคุณธรรมดังนี้

ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส จะไล่ล่าแสวงหาส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ด้วยการจูงใจหรือผลักดันด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ ดังนั้น การแสวงหาของบุคคลบางคนและบางเวลาไม่คำนึงความถูกต้องตามครรลองคลองธรรม และก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เพียงขอให้ตนเองได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้ก็เป็นพอ

ส่วนอริยชนคือคนที่อยู่เหนือกิเลส และสามารถควบคุมจิตใจตนเองมิให้ตกเป็นทาสแห่งความอยาก จะแสวงหาตามครรลองแห่งศีลธรรม จึงไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่ง ปุถุชนเมื่อประสบโลกธรรมในส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ก็ไม่หวั่นไหว และบั่นทอนจิตใจตนเอง เนื่องจากยอมรับภาวะแห่งความเปลี่ยนแปลงจากลาภเป็นเสื่อมลาภ และจากสรรเสริญเป็นนินทา เป็นต้น

แต่อริยชนผู้รู้ และเข้าใจภาวะแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามความเป็นจริงจึงสามารถปล่อยวาง ไม่ยึดติดความมี ความเป็น ดังนั้นโลกธรรมส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์จึงไม่ทำให้มีผลกระทบ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชน

มานะ คือ ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มีอยู่ 9 ประการดังนี้

1. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา

2. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา

3. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา

4. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา

5. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา

6. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา

7. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา

8. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา

9. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา

ในมานะ 9 ประการนี้ มีทั้งที่เข้าใจหรือสำคัญตัวเองถูกต้อง และเข้าใจคนอื่นถูกต้อง และเข้าใจตนเองไม่ถูกต้อง และเข้าใจคนอื่นหรือประเมินคนอื่นไม่ถูกต้องด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ของการที่คนมองตนเองโดยนำไปเปรียบกับคนอื่นใน 9 ประการแล้ว จะพบว่าในข้อ 1, 5 และข้อ 9 เป็นการยกตนเสมอคนอื่น หรือการนำคนที่เสมอตนมาเปรียบเทียบกับตนเพื่อปลอบใจตนเองว่าตนยังมีสถานะเสมอคนอื่น การมองเช่นนี้นอกจากจะไม่ทำให้ตนเองมีปมด้อยแล้ว ยังไม่เป็นการดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น หรือพูดง่ายๆ ไม่เป็นการดูหมิ่นคนอื่นด้วย นับได้ว่าเป็นเรื่องดี และยอมรับได้ ส่วนข้อที่ทำให้ตนเองเป็นปมด้อย และเกิดความริษยาแก่คนอื่น ได้แก่ข้อ 3 และข้อ 6 ส่วนข้อที่จะเป็นอันตรายทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่นก็คือข้อ 4, 7 และข้อ 8 เพราะเป็นการยกตนข่มท่าน ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอะไรดีไปกว่าเขา

แต่อย่างไรก็ตาม ในมานะ 9 ประการนี้ ข้อที่ก่อให้เกิดความสับสนและวุ่นวายอยู่ในสังคมขณะนี้ เห็นจะได้แก่ข้อที่ 7 และข้อที่ 8 ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของคนในสังคมบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมืองที่มองเห็นคนเป็นเพียงขยะ และสัตว์เลื้อยคลาน ทั้งๆ ที่โดยคุณธรรมแล้ว คนที่ถูกมองว่าเป็นขยะและสัตว์เลื้อยคลานนั้นอาจมีคุณซึ่งเป็นคนมองด้วยซ้ำไป

อีกประการหนึ่ง ถ้านำเอาทั้งโลกธรรมและมานะ 9 ประการนี้มาเป็นบรรทัดฐานในการวัดคุณธรรมของคนในสังคมวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่ามีคนอยู่ 3 กลุ่มที่เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นโลกธรรม และพฤติกรรมการแสดงออกได้เป็นอย่างดี คือ

1. พระภิกษุสงฆ์ที่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางพระธรรมวินัย อวดอุตริมนุสธรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการต้องอาบัติปาราชิกเพื่อหวังให้เกิดลาภยศ ชื่อเสียงจากผู้มีศรัทธา จนลืมนึกถึงความเสื่อมของพุทธศาสนาอันเป็นมรดกทางสังคมอันทรงคุณค่าของประเทศไทย

2. เริ่มต้น พระภิกษุส่วนใหญ่หรือพูดได้ว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์บวชด้วยศรัทธาในพระศาสนา แต่เมื่ออยู่นานเข้าและได้ปฏิบัติธรรมจนได้สมาบัติ 8 และอภิญญา 6 สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปลุกเสกของขลังลงเลขยันต์จนเป็นที่เคารพนับถือ และก่อให้เกิดลาภสักการะจนทำให้หลงยึดติดในสิ่งที่เกิดขึ้น และมีอยู่ไม่น้อยที่พระภิกษุในลักษณะนี้ถูกคฤหัสถ์ผู้หากินทางพุทธพาณิชย์นำไปเป็นเครื่องมือทำของขลังออกขาย และมีการวางแผนโดยการใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์เหมือนการขายสินค้าทั่วๆ ไป มอมเมาประชาชนด้วยศรัทธาในสิ่งผิดๆ จนทำให้พระที่เคยเคร่งครัดในพระธรรมวินัยกลายเป็นอลัชชีไปแล้วหลายต่อหลาย ดังที่ตกเป็นข่าวจนถึงทุกวันนี้

3. นักการเมืองคือตัวอย่างที่ดีในการบ่งบอกถึงการแสวงหาโลกธรรมด้วยวิธีไม่โปร่งใส คดในข้อ งอในกระดูกเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมือง และนำตำแหน่งไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ

ครั้นถึงวันที่กรรมชั่วให้ผลบางคนถึงกับหนีคุก หนีตะรางออกนอกประเทศ และยอมรับไม่ได้กับความเสื่อมยศ แถมโยนความผิดที่เกิดขึ้นเพราะผลกรรมที่ตนเองทำไว้ให้คนอื่น มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในรอบ 10 ปีมานี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลชุดนี้ มีทั้งการแสวงหาโลกธรรมในทางมิชอบ และการแสดงออกพฤติกรรมตามนัยแห่งมานะ 9 อยู่หลายประการ

ส่วนจะเป็นใครและมีชื่อย่ออะไรคงไม่ต้องบอก เพียงให้ท่านไปอ่านโลกธรรม 8 และมานะ 9 แล้วนำมาเทียบเคียงกับพฤติกรรมจริงก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยาก

4. นักแสดงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องของการถูกครอบงำด้วยโลกธรรมในข้อสรรเสริญ และนินทาในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรม มีอยู่ไม่น้อยที่ดังขึ้นมาแล้วลืมตัว จนถูกสังคมทอดทิ้งให้ว่างงาน จึงต้องออกมาโอดครวญขอความเห็นใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น