xs
xsm
sm
md
lg

รอมฎอนไม่หยุดบึ้มเลิกคุย "เหลิม"ย้ำบีอาร์เอ็นคือโจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายวานนี้ (20มิ.ย.) พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาปกรณ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้นำกระเช้าดอกไม้เข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นการล่วงหน้า โดยวันคล้ายวันเกิดนายกฯ คือวันที่ 21 มิ.ย. ครบรอบ 46 ปี
พล.อ.ยุทธศักดิ์ เปิดเผยหลังการเข้าพบว่าได้รายงานให้นายกฯทราบถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่ตนได้ลงพื้นที่ติดตามงาน ร่วมกับคณะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา อีกทั้งจะนำผลการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ กับกลุ่มบีอาร์เอ็น เข้าหารือในที่ประชุม ศปก.กปต.ในวันนี้(21มิ.ย.) ด้วย
ส่วนข้อตกลงร่วมว่าจะยุติการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ หากพบว่ายังมีการก่อเหตุ และมีความรุนแรงอยู่ ส่วนตัวเห็นว่า คงต้องนำข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ให้ยุติการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เข้ามาพิจารณา
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในการพบนายกฯครั้งนี้ ไม่ได้มีการหารือถึงการปรับครม.ยิ่งลักษณ์ 5 แต่อย่างใด ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนตนร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่บ้านพิษณุโลกในวันนี้ด้วย

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (21 มิ.ย.) จะมีการประชุม ศปก.กปต. ซึ่ง 3 บิ๊กคือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เดินทางไปพูดคุยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น จะมารายงานรายละเอียดทั้งหมดให้ที่ประชุมฟัง สำหรับตนอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถึงจะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อถามว่าสถานการณ์ในภาคใต้ขณะนี้ยังคงมีการโจมตีเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา รองนายกฯ กล่าวว่า ตนถึงได้บอกว่า “ที่เราไปคุยน่ะ เขาเป็นโจรนะ เชื่อได้ครึ่งหนึ่ง”
รองนายกฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยบอกแล้วว่า หากใครคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ให้แจ้งมา ส่งเป็นสำเนามาก็ได้ไม่ต้องมาเอง แต่ก็ไม่เห็นมีใครมาแจ้งเลย ตนสั่งให้เจ้าหน้าที่เอารถไปรับที่สุโหงโกลก ไปรอมา 3 อาทิตย์ จนคนขับรถเป็นไข้ ก็ยังไม่เห็นมีใครมาเลย ตนจะรอคุยกับทั้ง 3 คนที่ไปเจรจามาก่อน และหารือร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งหลังจากประชุม ศปก.กปต. แล้วทุกอย่างจะชัดเจน

**ผบ.ทบ.สั่งคุมเข้มจัดการภัยแทรกซ้อนเด็ดขาด

ด้านพล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคใต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่า ได้มอบนโยบาย ผบ.หน่วยในพื้นที่ โดย 1.การปฏิบัติงานในพื้นที่ของทุกหน่วยงาน จะต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการทำงานอย่างมีเอกภาพ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานที่ผ่านมาถือว่ามีการพัฒนาไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาอย่างมีเอกภาพ และบูรณาการกันระหว่าง ส่วนราชการปกติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และ กอ.รมน. ปัจจัยสำคัญคือ การแก้ปัญหาโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
2. การขับเคลื่อนแผนงานโครงการในพื้นที่ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูนาร้าง โครงการสัมมนาสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาคพลเรือน ทหาร และตำรวจ, ส่งเสริมอาชีพแก่กลุ่มสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการตามแนวพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้นำท้องถิ่นให้สามารถดูแลชุมชนของตนเองได้
3. พัฒนาด้านการศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการอย่างจริงจังและพิจารณาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องต่อความต้องการของพื้นที่มากขึ้น เช่น หลักสูตร ทวิภาษา
4. การแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน เช่น น้ำมันเถื่อน , ปัญหายาเสพติด ฯลฯ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
5. ให้ทุกหน่วยเน้นการพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับผู้นำศาสนา และ ผู้นำชุมชนให้มากขึ้น
6. ผบ.ทบ.ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยเข้าใจการทำงานว่า ในระดับนโยบาย มีศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเสนาธิการของ นายกรัฐมนตรี และมี 6 กลุ่มงาน ที่คอยบูรณาการและประสานงาน สำหรับในระดับพื้นที่ มี กอ.รมน.ภาค 4 สน. , ศอ.บต. ขับเคลื่อนผ่านส่วนราชการจังหวัด, กอ.รมน.จังหวัด และ ศปก.อำเภอ ลงไปยังพื้นที่เป้าหมาย 3 ระดับ แต่ลำดับความเร่งด่วนอยู่ที่พื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงทั้ง 136 หมู่บ้าน
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มีความหลากหลายมิติ ทั้งการก่อเหตุที่เป็นภัยความมั่นคง การก่อเหตุแบบอาชญากรรมทั่วไป และการก่อเหตุแบบภัยแทรกซ้อน ที่เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด และพวกค้าของเถื่อน ทางการพยายามจะแยกแยะว่า จริงๆ แล้วการก่อเหตุแต่ละครั้งเกิดจากปัญหาด้านไหนกันแน่ และที่ผ่านมาได้พบข้อมูลว่า ขบวนการที่ก่อความรุนแรงบางพวก มีความเกี่ยวพันกับขบวนการยาเสพติด และปล้นธนาคาร ซึ่งตรงนี้ทางผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับต้องดำเนินการทางกฎหมาย กับกลุ่มภัยแทรกซ้อนอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในระดับพวกหัวหน้า
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ทางการพยายามดึงกลุ่มคนผู้หลงผิดให้เข้ามอบตัว ซึ่งขณะนี้ได้มีบุคคลที่โดนหมายจับ 2,000 กว่าราย แบ่งเป็นหมายจับตาม พ.ร.ก. 942 ราย หมายจับตาม ป.วิอาญา 1,407 ราย และตอนนี้มีทยอยเข้ามอบตัวแล้วกว่า 300 ราย

**อย่ามองข้ามเหตุระเบิดย่านรามคำแหง

นายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงในช่วงใกล้เดือนรอมฎอน เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงหลายครั้ง มีการบาดเจ็บและล้มตาย จึงอยากเรียกร้องให้ชาวมุสลิม มองกลับมาสู่ความสงบสันติ ส่วน 5 ข้อเสนอ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ทางเลขาธิการ สมช.ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งบางส่วนเห็นด้วยในบางข้อ แต่กับข้อเสนอให้หยุดเคลื่อนไหวช่วงเดือนรอมฎอน ที่ทางตัวแทนฝ่ายไทยยื่นไปนั้น ตนยังไม่แน่ใจว่ากลุ่มบีอาร์เอ็น จะยอมหยุดเคลื่อนไหวหรือไม่ รวมถึงไม่มั่นใจว่า นายฮาซัน ตอยิบ จะควบคุมกลุ่มต่างๆในพื้นที่ได้ เพราะในพื้นที่มีหลายกลุ่ม ที่เคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่ามองข้ามเหตุการณ์วางระเบิด ปากซอยรามคำแหง 43/1 เพราะจุดนั้น เป็นแหล่งของชาวมุสลิมของภาคใต้ มีทั้งเรื่องอาหาร และยาเสพติด รวมถึงการเป็นแหล่งมั่วสุม มีทั้งดี และไม่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น