กอ.รมน.ภาค 4 ระบุสถานการณ์ใต้มีหลายมิติ ทั้งภัยความมั่นคง-อาชญากรรมทั่วไป-ก่อเหตุแบบแทรกซ้อนจากขบวนการยาเสพติด-ค้าของเถื่อน เผย ผบ.ทบ.กำชับต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ด้านผู้นำศาสนาอิสลามห่วงช่วงรอมฎอนเกิดเหตุรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา เตือนอย่ามองข้ามเหตุระเบิดย่านรามคำแหง
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดนั้นมีความหลากหลายมิติ ทั้งการก่อเหตุที่เป็นภัยความมั่นคง การก่อเหตุแบบอาชญากรรมทั่วไป และการก่อเหตุแบบภัยแทรกซ้อนที่เกี่ยวกันกับเรื่องยาเสพติด และพวกค้าของเถื่อน ทางการพยายามจะแยกแยะว่าจริงๆ แล้วการก่อเหตุแต่ละครั้งเกิดจากปัญหาด้านไหนกันแน่ และที่ผ่านมาได้พบข้อมูลว่าขบวนการที่ก่อความรุนแรงบางพวกมีความเกี่ยวพันกับขบวนการยาเสพติด และปล้นธนาคาร ซึ่งตรงนี้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับต้องดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มภัยแทรกซ้อนอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในระดับพวกหัวหน้า
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า ทางการพยายามดึงกลุ่มคนผู้หลงผิดให้เข้ามอบตัว ซึ่งขณะนี้ได้มีบุคคลที่โดนหมายจับ 2,000 กว่าราย แบ่งเป็นหมายจับตาม พ.ร.ก. 942 ราย หมายจับตาม ป.วิอาญา 1,407 ราย และตอนนี้มีทยอยเข้ามอบตัวแล้วกว่า 300 ราย
นายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาและผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงในช่วงใกล้เดือนรอมฎอน เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงหลายครั้งที่มีการบาดเจ็บและล้มตาย จึงอยากเรียกร้องให้ชาวมุสลิมมองกลับมาสู่ความสงบสันติ
ส่วน 5 ข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น ทางเลขาธิการ สมช.ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งบางส่วนเห็นด้วยในบางข้อ แต่กับข้อเสนอให้หยุดเคลื่อนไหวช่วงเดือนรอมฎอน ที่ทางตัวแทนฝ่ายไทยยื่นไปนั้น นายนิมุกล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะยอมหยุดเคลื่อนไหวช่วงเดือนรอมฎอน รวมถึงไม่มั่นใจว่านายฮัสซัน ตอยิบจะควบคุมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ได้ เพราะในพื้นที่มีหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหว
นายนิมุกล่าวต่อว่า ตนขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่ามองข้ามเหตุการณ์วางระเบิดปากซอยรามคำแหง 43/1 เพราะจุดนั้นเป็นแหล่งของชาวมุสลิมของภาคใต้ มีทั้งเรื่องอาหารและยาเสพติด รวมถึงการเป็นแหล่งมั่วสุม มีทั้งดีและไม่ดี