xs
xsm
sm
md
lg

แฉพิรุธทีโออาร์น้ำ3.5แสนล. เปิดช่องเอื้อประโยชน์เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (20มิ.ย.) นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยว่า ตนได้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักงานไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 ตามที่ป.ป.ช.ได้เชิญมา หลังจากที่ตนได้ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ได้ออกพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก่อนที่ทางยูเอ็น จะส่งเรื่องต่อมายังป.ป.ช. โดยตนได้ให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในส่วนของข้อสังเกต อาทิ หลักเกณฑ์การพิจารณากรอบแนวคิดที่เหมือนว่า บริษัทที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรู้ข้อสอบมาก่อน เพราะมีบางบริษัทได้รับเลือก และมีสิทธิ์ยื่นในทุกแผนงาน รวมไปถึงเรื่องการจัดหาที่ดินตามทีโออาร์ ซึ่งเปิดช่องให้มีการโก่งราคาที่ดินได้ และรัฐจะเสียประโยชน์ ดังนั้นจึงอยากให้ ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลอีกครั้งในเรื่องการกำหนดราคาที่ดิน
นายอุเทน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญทีโออาร์ ที่มีความหละหลวม ยังจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ในส่วนของกรรมสิทธิ์ของดินที่ถูกขุดขึ้นมา เนื่องจากปริมาณดินที่ได้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านคิวบ์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ตรงนี้ใครจะได้รับ เหตุใด กบอ. จึงไม่กำหนดกรรมสิทธิ์ในส่วนนี้ลงในทีโออาร์ให้ชัดเจน เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า ตนจะยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ใน 4 ประเด็น คือ 1. ให้เปิดเผยร่างสัญญาโครงการเพื่อออกแบบ และก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่ทางกบอ.ร่างเสร็จแล้วมีรายละเอียดอย่างไร 2. ทีโออาร์ประกอบสัญญาว่าจ้างในแต่ละแผนงานเป็นฉบับเดียวกับที่นำออกมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้หรือไม่ 3. ชี้แจงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาทางเทคนิคว่ามีการให้คะแนนกันอย่างไร เพราะตนตั้งข้อสังเกตว่า แผนงาน A2 และ B2 เป็นแผนงานที่มีรายละเอียดเหมือนกัน แต่กลับเป็นคนละบริษัทได้รับงาน ทั้งที่สองบริษัทเทียบเรื่องประสบการณ์ และขนาดของบริษัทไม่ได้เลย และ 4. กรอบแนวคิดตั้งแต่รอบแรกของแต่ละบริษัท มีรายละเอียดอย่างไร โดยเฉพาะ 6 รายที่เข้ารอบสุดท้าย ที่ต้องนำมาเปิดเผยด้วย
นายอุเทน กล่าวด้วย รายละเอียดต่างๆ ที่ตนเรียกร้องให้เปิดเผยนั้น เป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และ พ.ร.ก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของประชาชน

** "เหลิม"เย้ย "มาร์ค"เอาตัวเองให้รอดก่อนเถอะ

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ หลังจากมีมติอนุมัติให้มีการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ส่อว่ามีการฮั้ว และขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นพฤติกรรมปกติของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ซึ่งครั้งนี้ช้าไปด้วยซ้ำ ปกติต้องคิดเร็วกว่านี้ วันนี้ไม่มีใครกลัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ แล้ว เพราะมีคดีเต็มพรรค อย่างคดีทุจริตโรงพักทั่วประเทศ หรือการสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิต 98 ศพ หรือคดีการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ก็ยังค้างอยู่ ตนมองว่า ตอนนี้นายอภิสิทธิ์ อยู่ในลักษณะเสียการทรงตัว ไม่รู้จะทำอย่างไร
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พรรคฝ่ายค้านประกาศจะยื่นถอดถอน ครม. ทั้งคณะนั้น ถือเป็นสิทธิ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรัฐบาลมีความพร้อม และยินดีที่จะชี้แจง เนื่องจากกระบวนการต่างๆ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้กว่าจะถึงกระบวนการคัดเลือกภาคเอกชน ที่จะมาดำเนินโครงการ ได้มีกระบวนการพิจารณาผู้เสนอตัว กว่า 300 รายจากทั่วโลก
การกล่าวหารัฐบาลว่าจะมีการทุจริตในโครงการดังกล่าวนั้น เป็นการกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐาน และเป็นการกล่าวหาล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการดำเนินโครงการใดๆ เลย ขอชี้แจงว่า การดำเนินโครงการจะถือว่าเริ่มต้นได้ก็คือ หลังจากได้ภาคเอกชนที่จะร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งกระบวนการคัดเลือกก็เพิ่งจบไป เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยินดีรับการตรวจสอบ และที่ผ่านมาก็รับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ที่ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็มอบหมายให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปร่วมหารือ และนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ที่มีประโยชน์ และสามารถนำมาปฏิบัติได้ มาปรับใช้กับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ และโปร่งใสของโครงการ และยินดีเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วมร่วมในการตรวจสอบโครงการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น