อดีต ปธ.ศปภ.เผยเข้าให้ข้อมูลตามคำเชิญ ป.ป.ช. หลังยื่นเรื่อง UN สอบ กบอ.ออก พ.ร.ก.กู้ 3.5 แสนล้าน ก่อนชงมา ป.ป.ช. ชี้มีข้อสอบรั่วเอื้อบางบริษัท และเปิดช่องโกงที่ดิน ย้ำทีโออาร์หละหลวมเอื้อเอกชน เล็งยื่น “ยิ่งลักษณ์” อีกรอบ เผยร่างสัญญาจัดการน้ำ ทีโออาร์สัญญาจ้างเป็นแบบที่แพร่หรือไม่ แจงการให้คะแนน เผยแนวคิดแต่ละบริษัท แจงใช้สิทธิตาม กม.3 ฉบับ
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักงานไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 ตามที่ ป.ป.ช.ได้เชิญมา หลังจากที่ตนได้ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก่อนที่ทางยูเอ็นจะส่งเรื่องต่อมายัง ป.ป.ช. โดยตนได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในส่วนของข้อสังเกต อาทิ หลักเกณฑ์การพิจารณากรอบแนวคิดที่เหมือนว่าบริษัทที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรู้ข้อสอบมาก่อน เพราะมีบางบริษัทได้รับเลือกและมีสิทธิ์ยื่นในทุกแผนงาน รวมไปถึงเรื่องการจัดหาที่ดินตามทีโออาร์ ซึ่งเปิดช่องให้มีการโกงราคาที่ดินได้ และรัฐจะเสียประโยชน์ ดังนั้นจึงอยากให้ ป.ป.ช.ตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลอีกครั้งในเรื่องการกำหนดราคาที่ดิน
นายอุเทนกล่าวอีกว่า ที่สำคัญทีโออาร์ที่มีความหละหลวม ยังจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ในส่วนของกรรมสิทธิ์ของดินที่ถูกขุดขึ้นมา เนื่องจากปริมาณดินที่ได้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านคิวบ์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ตรงนี้ใครจะได้รับ เหตุใด กบอ.จึงไม่กำหนดกรรมสิทธิ์ในส่วนนี้ลงในทีโออาร์ให้ชัดเจน เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน
นายอุเทนเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าตนจะยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ใน 4 ประเด็น คือ 1. ให้เปิดเผยร่างสัญญาโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่ทาง กบอ.ร่างเสร็จแล้วมีรายละเอียดอย่างไร 2. ทีโออาร์ประกอบสัญญาว่าจ้างในแต่ละแผนงานเป็นฉบับเดียวกับที่นำออกมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้หรือไม่ 3. ชี้แจงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาทางเทคนิคว่ามีการให้คะแนนกันอย่างไร เพราะตนตั้งข้อสังเกตว่าแผนงาน A2 และ B2 เป็นแผนงานที่มีรายละเอียดเหมือนกัน แต่กลับเป็นคนละบริษัทได้รับงาน ทั้งที่สองบริษัทเทียบเรื่องประสบการณ์และขนาดของบริษัทไม่ได้เลย และ 4.กรอบแนวคิดตั้งแต่รอบแรกของแต่ละบริษัทมีรายละเอียดอย่างไร โดยเฉพาะ 6 รายที่เข้ารอบสุดท้ายที่ต้องนำมาเปิดเผยด้วย
นายอุเทนกล่าวด้วยว่า รายละเอียดต่างๆที่ตนเรียกร้องให้เปิดเผยนั้น เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และ พ.ร.ก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของประชาชน