ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกฟ้องอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 คน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา กำลังจะถูกคนในเครือข่ายระบอบทักษิณ นำไปบิดเบือน ตีขลุมเอาว่า อดีต กกต.ยุค “3 หนา 5 ห่วง” ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งพิสดารเมื่อเดือนเมษายน 2549 แต่อย่างใด
การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย.2549 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งอัปยศที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจาก นช.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ยุบสภา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ปีเดียวกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านได้มีโอกาสเปิดอภิปรายกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปฯ อันอื้อฉาว
ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากการกำหนดวันเลือกตั้งและการจัดคูหาลงคะแนนโดย กกต.ชุดดังล่าว เป็นไปโดยไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ กกต.ชุด 3 หนา 5 ห่วง ยังแสดงพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดว่า เอื้อประโยชน์ให้แก่ นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่สามารถแทรกแซงองค์กรอิสระ จนองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ 2540 ในขณะนั้นง่อยเปลี้ยเสียขาไปหลายแห่ง
ย้อนกลับไป หลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.49 พรรคร่วมฝ่ายค้าน อันประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้ยื่นข้อเสนอให้พรรคไทยรักไทยร่วมลงสัตยาบันที่จะร่วมกันปฏิรูปการเมืองหลังการเลือกตั้ง แต่พรรคไทยรักไทยเบี้ยวนัด โดยหันไปลงสัตยาบันกำมะลอกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งสามจึงประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง โดยการไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ทำให้เขตเลือกตั้ง 281 เขต(จากทั้งหมด 400 เขต) มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขว่า เขตที่มีผู้สมัครเพียงพรรคเดียวนั้น ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงจะถือว่าเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.49 ออกมาปรากฏว่ามี 38 เขตที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวและได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จนกว่าผู้สมัครจะได้คะแนนถึงร้อยละ 20
ปัญหามีอยู่ว่าทั้ง 38 เขตส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย ต่อให้เลือกตั้งใหม่กี่สิบครั้ง ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยก็ไม่มีทางได้คะแนนถึงร้อยละ 20 และจะส่งผลให้ นช.ทักษิณไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งได้
แต่แล้ว กกต.ชุดนั้น ก็หาทางออกให้ นช.ทักษิณจนได้ ด้วยการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับ 38 เขตดังกล่าว ในวันที่ 23 และ 29 เม.ย.2549 โดยเปิดให้มีการรับสมัครใหม่ เพื่อให้เขตนั้นมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน จะได้ไม่ต้องเข้าเงื่อนไขที่ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนร้อยละ 20
เท่านั้นยังไม่พอ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยลงสมัครในเขตอื่นและสอบตกจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 เวียนเทียนมาลงสมัครใน 38 เขตนี้ได้อีกครั้งด้วย ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองผลการเลือกตั้งในเขตเดิมที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัครในรอบแรก
พฤติการณ์เช่นนี้ ทำให้นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงาน กกต. พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีต ประธาน กกต., นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร (เสียชีวิตแล้ว), พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต. และ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา อดีตเลขาธิการ กกต. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ. 2541 โดยโจทก์นำคดีมายื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2549
คำฟ้องสรุปว่าเมื่อระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย.2549 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่รอบ 2 ใน 38 เขต 15 จังหวัดเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2549 โดยเปิดรับสมัครใหม่ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ และอนุญาตให้ผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนลงสมัครข้ามเขตได้ เพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยมีคู่แข่ง และจะได้เลี่ยงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องได้คะแนน 20% ขึ้นไป ดังนั้น การจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเพิ่มเงื่อนไขในลักษณะเช่นนี้ ทำให้การเลือกตั้งใหม่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2549 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา, นายปริญญา และนายวีระชัย จำเลยที่ 2-4 ไว้คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ส่วนสำนักงาน กกต. พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ และ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ 2-4 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2551
จำเลยที่ 2-3 จึงยื่นฎีกา โดยขอให้ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นว่าการกระทำของ กกต.จะเป็นความผิด ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.นั้นจะต้องเป็นการกระทำต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความเพียงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 และเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้ส่งผู้ใดเข้าสมัครรับเลือกตั้งเลย โดยโจทก์ไม่ใช่ผู้สมัครดังนั้นยังถือไม่ได้ว่า กกต.ได้กระทำการที่จะเป็นความผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 24
ขณะที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เท่านั้น อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองถือเป็นผู้เสียหายตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมเท่านั้นไม่ได้บัญญัติ เพื่อคุ้มครองโจทก์ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งโดยตรงเป็นพิเศษ
ซึ่งหากการกระทำของจำเลยที่ 2-3 เป็นความผิดก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อรัฐ ไม่ใช่กระทำผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
เห็นได้ชัดว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ยกฟ้องนั้น ยกฟ้องในประเด็นที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง
แต่ไม่ได้ยกในประเด็นที่ว่า อดีต กกต.มีพฤติการณ์ช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย
หากเราย้อนไปดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2551 ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น ได้ระบุชัดเจนว่า การกระทำของอดีต กกต.ทั้งสามเอื้อประโยชน์ให้พรรคไทยรักไทยและทำให้เกิดความแตกแยกอย่างใหญ่หลวงขึ้นภายในชาติ
ดังคำพิพากษาบางตอนที่ระบุว่า
“...โดยจำเลยควรจะได้ดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเป็นที่เชื่อถือยอมรับที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาความแตกแยกขัดแย้งอย่างรุนแรงในชาติแล้วแต่เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งที่มีแต่พรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียวหลายเขตทำให้เกิดผลตาม มาตรา 74 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ.2541 คือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 จำนวน 38 เขต 15 จังหวัดซึ่งจำเลยควรจะต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อหาทางให้เกิดความสันติสุขแทนการก่อปัญหาเพิ่มเติมให้แก่ชาติบ้านเมือง
“…จากพฤติการณ์ที่จำเลยมีมติให้เปิดรับสมัครผู้สมัครใหม่ทั้งที่กฎหมายและระเบียบไม่เปิดช่อง การกำหนดให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยลงสมัครใหม่ด้วยหมายเลขเดิมที่ใช้หาเสียงมาก่อนเป็นเวลานานขณะที่ผู้สมัครรายใหม่ได้รับหมายเลขคละกันไปโดยมีระยะเวลาหาเสียงไม่นาน และการที่ให้ผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ลงเวียนเปลี่ยนเขตเลือกตั้งได้ด้วยการส่งโทรสารชี้นำประธานกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์และนายดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ ผู้ที่ได้รับทาบทามให้ลงสมัครเลือกตั้งในวันที่ 23 เม.ย.49 ว่า เป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยมีคู่แข่งเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ต้องได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ มาตรา 24 และ 45 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นชอบและอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
นี่คือส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่จะเป็นมลทินติดตัวอดีต กกต.ทั้ง 3 คนตลอดไป แม้ว่าพวกเขาจะไม่ต้องกลับเข้าคุกอีกก็ตาม