xs
xsm
sm
md
lg

ตะกั่วป่า-สตูล-น้ำท่วมวิกฤต-จมกว่าหมื่นหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อำเภอตะกั่วป่าวิกฤตหนัก น้ำทะลักท่วมบ้านแล้วกว่า 1 พันครัวเรือน ขณะที่ดินสันเขื่อนเริ่มทรุดตัว เริ่มพังทลายหลายจุด นอภ.เร่งระดมเครื่องจักรป้องกัน พร้อมสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวหลายแห่ง ส่วน "สตูล" ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 7 อำเภอ เสียหายกว่า 9 พันครัวเรือน พร้อมจับตาพื้นที่ "ละงู" หลังน้ำป่าเพิ่มสูงขึ้น "ปภ."เตือน ปชช.47 จังหวัดเตรียมรับมือฝนตกหนัก-ดินถล่ม

วานนี้ (13 มิ.ย.) นายพงศ์พัฒน์ เรืองระพีพรรณ นายอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบริเวณท้ายเขื่อนกั้นน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเมืองตะกั่วป่า บ้านทุ่งหัวนา ต.โคกเคียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาว่า ดินบริเวณสันเขื่อนได้เริ่มทรุดตัวและค่อยๆ พังทลายหลายจุดๆ ละ 10 เมตร จึงเร่งเข้าตรวจสอบแนวสันเขื่อนดังกล่าวและได้ระดมใช้เครื่องจักรนำหินและดินมาเสริมสันเขื่อน เพื่อป้องกันการพังทลายของสันเขื่อน

นายพงศ์พัฒน์ กล่าวว่า พื้นที่ตะกั่วป่าเป็นพื้นที่ๆ มีน้ำท่วมทุกปี มีประชากรที่อาศัยอยู่ภายในเขื่อนประมาณ 1,000 ครัวเรือน หลังจากได้สร้างเขื่อนจนแล้วเสร็จ ขณะนี้น้ำด้านนอกเขื่อนมีระดับสูงกว่าน้ำด้านในเขื่อนมากกว่า 1 เมตร ทำให้พื้นที่ด้านในของ อ.ตะกั่วป่า มีเพียงน้ำที่เล็ดลอดเข้ามาเพียงเล็กน้อย จึงทำให้ประชากรกว่า 1,000 ครัวเรือนยังสามารถเดินทางผ่านไปมาได้ แต่เกรงว่าถ้าท้ายเขื่อนเกิดพังทลายลงมา น้ำด้านนอกที่มีความสูงกว่าน้ำด้านในเกือบ 2 เมตร จะทะลักเข้าท่วมเมือง จึงเรียกประชุมเพื่อสั่งการแก้ไขโดยด่วนและในขณะนี้ได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ขอการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริเวณรอบนอกกว่า 1,000 หลังคาเรือนแล้ว

นายชัยณรงค์ มหาแร่ นายกเทศมนตรีเมืองตะกั่วป่า เปิดเผยว่า ได้สั่งปิดโรงเรียนในสังกัดทั้ง 3 แห่งเป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับสถานศึกษาอีกหลายแห่งใน อ.ตะกั่วป่า ก็ต้องสั่งปิดการเรียนการสอนในวันนี้เช่นกัน พร้อมสั่งให้จัดตั้งโรงครัวจัดทำอาหารแจกจ่ายราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว พร้อมกันนี้ทางเทศบาลเมืองตะกั่วป่าได้เร่งสูบน้ำออกจากเมืองตะกั่วป่าออกสู่แม่น้ำตะกั่วป่าตลอดเวลา เพื่อป้องกันน้ำฝนที่ยังคงตกอยู่ตลอดเวลาท่วมขังด้านในเขื่อน และได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นไว้แล้ว

นายสมพร กะสิรักษ์ นายก อบต.โคกเคียน ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,000 ครอบครัว ประมาณ 5,000 คนกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และไม่สามารถหุงหาอาหารรับประทานเองได้ ขณะที่ทางราชการเองก็ไม่สามารถช่วยเหลือราษฎรได้อย่างเต็มที่ เพราะสถานที่ทำงานของทางราชการก็ถูกน้ำท่วมหนักเช่น

ส่วน จ.สตูล ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วทั้ง 7 อำเภอ 36 ตำบล หลังเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนเกษตรกร และพืชสวนไร่นา รวมทั้งถนนหนทาง ล่าสุด สำรวจพบความเสียหายแล้ว 17 ตำบล 70 หมู่บ้าน 9,241 ครัวเรือน

ซึ่งนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล บอกว่า พื้นที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้อยู่ที่ อ.ละงู ใน ต.เขาขาว และ ต.กำแพง เนื่องจากปริมาณน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพืชสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันได้รับความเสียหาย ประกอบกับระดับน้ำในคลองสายละงู ได้เอ่อล้นตลิ่งมาสมทบ เพราะน้ำทะเลหนุน จึงได้มีการสั่งการให้ทุกพื้นที่เข้าช่วยเหลือหากมีการร้องขออย่างทันท่วงที ส่วนเรือประมงขนาดเล็กในระยะนี้ควรงดออกจากฝั่ง และติดตามการรายงานสภาพดินฟ้าอากาศอย่างใกล้ชิด

ทางด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ.เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 47 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก และดินถล่ม ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน จันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และระนอง ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยได้ทันท่วงที ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 - 3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

นอกจากนี้ ปภ.ได้ประสาน 47 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี ,เขต 3 ปราจีนบุรี ,เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ,เขต 6 ขอนแก่น, เขต 7 สกลนคร ,เขต 8 กำแพงเพชร ,เขต 9 พิษณุโลก, เขต 10 ลำปาง ,เขต 11 สุราษฎร์ธานี ,เขต 12 สงขลา ,เขต 14 อุดรธานี, เขต 15 เชียงราย, เขต 17 จันทบุรีและเขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น