xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งจับตา “สนามบิน-โรงพยาบาล” ระวังไฟดับ เตือน 47 จังหวัดรับฝนตกหนัก-คลื่นแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.มหาดไทย ถกปัญหาไฟดับ ขันนอตสั่งเพิ่มระดับความมั่นคง “สนามบิน-โรงพยาบาล” หลังเหตุไฟดับ 14 จว.ภาคใต้ ด้าน ปภ.เตือนประชาชน 10 จังหวัด ระวังน้ำป่าไหลหลาก-ดินโคลนถล่ม หลังฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตร จับตาภาคใต้ 24 ชั่วโมง พร้อมเตือน 47 จังหวัด รับมือฝนตกหนัก พายุคลื่นลมแรง และดินถล่มวันที่ 13-14 มิ.ย.

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวหลังประชุมเตรียมความพร้อม รับเหตุไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมประชุมด้วยว่า จากบทเรียนไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ จำเป็นต้องมีการถอดบทเรียนในการแก้ไข และป้องกันปัญหา โดยจะต้องทำเป็นแผนระดับชาติ นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการที่แต่ละจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ นอกจากนี้ การสรุปบทเรียนเหตุการณ์ไฟดับ เพื่อปรับปรุงร่างแผนเผชิญเหตุไฟฟ้าดับบริเวณกว้างให้มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน

รมว.มหาดไทย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้กำชับให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารจัดการภาวะฉุกเฉินจากไฟฟ้าดับบริเวณกว้างรวดเร็วและคล่องตัว ตลอดจนเตรียมจัดหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง อาทิ รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งเร่งชี้แจงข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ ตนได้สั่งให้เพิ่มระดับความมั่นคงด้านไฟฟ้า ในจุดที่มีความเสี่ยงและพื้นที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน โรงงานอุตสาหกรรม โครงข่ายการสื่อสาร จะต้องมีกระแสไฟฟ้าใช้งานตลอดเวลา

ด้าน นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือ โดยสำรวจแก้ไขจุดเสี่ยง พร้อมจัดทำแผนสำรองแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในขณะเกิดเหตุ ต้องเน้นการรายงานข้อมูลจากพื้นที่ไฟฟ้าดับ การสื่อสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนก ที่อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

ส่วนสถานการณ์ภัยพิบัติขณะนี้ นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ.ได้มีแผนรองรับสถานการณ์ทั่วประเทศ โดยขณะนี้ 10 จังหวัด มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเกินกว่า 100 มิลลิเมตร ซึ่งทาง ปภ.ได้มีการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชน เพิ่มความระมัดระวังเรื่องน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้ เพราะคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรง มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า รมว.มหาดไทย ได้กำชับผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ดูแลประชาชน หากพบมีถนนชำรุดให้ประสานไปยังกระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมทันที พร้อมเตรียมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งดูแลเรื่องระบบการสื่อสารไม่ให้เกิดปัญหาขัดข้อง พร้อมเตือนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความระมัดระวัง

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง นายฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่เป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เพราะขณะนี้ถือว่ารุนแรงมาก จึงได้สั่งการให้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ จะมีการเชิญผู้ว่าฯ มาร่วมประชุมในวันที่ 14 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้วย

อีกด้านหนึ่ง นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ.ได้เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 47 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก และดินถล่ม ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน จันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และระนอง

โดยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

นอกจากนี้ ปภ.ได้ประสาน 47 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 6 ขอนแก่น เขต 7 สกลนคร เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต 14 อุดรธานี เขต 15 เชียงราย เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย

สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น