xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย : แนวทางการแก้ไขปัญหา (2)

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

โดย...วีระศักดิ์ นาทะสิริ

ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย : แนวทางการแก้ไขปัญหา (2)

ผู้เขียนขอขอบคุณในความคิดเห็นของท่านผู้อ่านทุกท่าน และต้องขออภัยสำหรับบทความแรกที่ข้อความในข้อ 2.2 ซึ่งต่อจาก..โอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง ลงมาปะปนกับ Footnotes 2

กล่าวนำ

ในการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในภาคใต้นั้น ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้า และตรวจสอบจากเอกสารต่างๆ (Examining Documentation) ได้สัมภาษณ์และรับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Interviewing) และได้ศึกษาจากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ (Case Study) ซึ่งข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนถึงปัจจุบัน จึงสรุปได้ว่า การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องใช้แนวทางในการแก้ไขปัญหาในหลายๆ ด้านเพราะในแต่ละด้านต่างมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ซึ่งด้านที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหา มีดังนี้

1. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านการทหารและความมั่นคง

2. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านการศึกษาและการพัฒนาการศึกษา
3. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และแรงงาน
4. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

5. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านการปกครองและกระบวนการยุติธรรม

6. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านศาสนา สังคม วัฒนธรรม และภาษา

7. แนวทางการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศ

จากแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนได้ให้ความสำคัญต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านการทหารและความมั่นคง (ซึ่งมีเรื่องการเจรจาพูดคุยรวมอยู่ด้วย) โดยคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของปัญหา ส่วนที่เหลือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของปัญหา ควรใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านอื่น(แนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อ 2 ถึงข้อ 7) ร่วมกัน

แต่เนื่องจากในเวลาที่ผ่านมาได้เกิดการสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงควรเร่งรีบหาวิธีการต่างๆ เพื่อลดหรือยุติการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงจะทำการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพสังคมให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้มุ่งพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการทหารและความมั่นคงตามความเร่งด่วนเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ดี มีท่านผู้อ่านบางท่านที่มีความสนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และบางท่านก็ยังมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจในข้อเสนอแนะต่างๆ ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมในข้อสงสัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

I. ปัญหาไฟใต้ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง เมื่อเทียบกับความขัดแย้งต่างๆ ในโลก

ขอให้ท่านดูข้อมูลในตารางที่ 1 และตารางที่ 2 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการทหาร และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 โดยตารางที่ 1 จะเป็นการสรุปจำนวนเหตุร้าย (การก่อการร้าย) และตารางที่ 2 จะเป็นสถิติการก่อการร้ายโดยจัดแยกตามรูปแบบของการก่อการร้าย และเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะและรูปแบบการก่อเหตุ ต่อไปนี้ผู้เขียนจะขอใช้คำว่า การก่อการร้าย แทนคำว่า การก่อความไม่สงบ

ตารางที่ 1 สรุปจำนวนเหตุการณ์การก่อการร้าย

ตารางที่ 2 สถิติการก่อการร้ายแยกตามรูปแบบการก่อการร้าย

สำหรับตารางที่ 3 จะเป็นข้อมูลการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการก่อการร้าย ตั้งแต่ม.ค. 2547 จนถึง ก.พ. 2555 และตารางที่ 4 จะเป็นสถิติแสดงการเปรียบเทียบความสูญเสียของไทยกับประเทศอื่นๆ

ตารางที่ 3 ข้อมูลการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการก่อการร้าย

ตารางที่ 4 เปรียบเทียบความสูญเสียจากการก่อการร้ายของไทยกับประเทศอื่นๆ

เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ก่อการร้ายในไอร์แลนด์เหนือ (ระหว่างกลุ่ม IRA หรือ Irish Republican Army กับกลุ่มที่นับถือนิกายโปเตสแตนต์และอังกฤษ) เหตุการณ์ก่อการร้ายในศรีลังกา (ระหว่าง Tamil Eelam กับรัฐบาลศรีลังกา) และเหตุการณ์ก่อการร้ายในสเปน (ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ETA หรือ Euskadi Ta Askatasuna หรือ “Basque Homeland and Freedom” กับรัฐบาลสเปน) ในตารางที่ 4 จะเห็นว่า ในเวลา 8 ปีที่ผ่านมา การก่อการร้ายในไทยได้สร้างความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลทั้งชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งยังไม่ได้รวมทรัพย์สินที่เสียหาย สภาพจิตใจของประชาชนที่สูญเสียพ่อแม่ญาติพี่น้อง และโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ที่สูญเสียไป

จากข้อมูลการเปรียบเทียบในตารางที่ 4 ได้ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณความสูญเสียของไทยเป็นรองความสูญเสียของศรีลังกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น อาจเป็นเรื่องจริงถ้าจะกล่าวว่าปัญหาไฟใต้ไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในโลก แต่เป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของไทย เพราะข้อมูลในตารางที่ 1-4 ได้แสดงให้เห็นว่า การสูญเสียที่เกิดขึ้น (ก.พ. 2555) เริ่มมีปริมาณใกล้เคียงกับการสูญเสียจากการรบของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีทหารเสียชีวิต 5,957 นาย (จาก www.mhmd.rtarf.mi.th.) และที่สำคัญคือ ตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดความสงบสันติเสียที

II. ขบวนการ BRN ถือเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ หรือผู้แสดงที่ไม่ใช่รัฐ


ผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดเห็นของท่านที่ว่า BRN ถือเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐนั่นหมายถึง BRN คือ กลุ่มติดอาวุธที่ผิดกฎหมายซึ่งอาจเทียบได้กับกลุ่มอาชญากรรมโดยทั่วไป เพราะไม่มีกฎหมายใดรับรองหรืออนุญาตให้กลุ่มบุคคลใดที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือไม่ได้สังกัดหน่วยราชการที่ต้องใช้อาวุธต่างๆ สามารถมี ครอบครอง และใช้อาวุธร้ายแรงนั้นทำร้ายหรือสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนไทยได้ตามอำเภอใจ ดังนั้นการทำร้ายหรือสังหารเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนไทย ทั้งบนพื้นแผ่นดินไทยหรือในส่วนใดของโลก ก็ย่อมถือว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มผิดกฎหมายที่ใช้อาวุธร้ายแรงเช่นเดียวกันกับกลุ่มอาชญากรรม ซึ่งจะต้องถูกจับกุมมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยโดยไม่มีข้อยกเว้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องนำกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้เพราะไม่ใช่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐ

ส่วนการที่มีตัวแทนรัฐบาลที่ได้รับมอบอำนาจไปเจรจากับตัวแทนกลุ่มก่ออาชญากรรมที่กระทำผิดกฎหมายการกระทำเช่นนี้อาจตีความได้ว่า คณะเจ้าหน้าที่ไทยไม่เพียงกระทำการละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งควรจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียส่งตัวผู้กระทำผิดกลับมายังประเทศไทยเพื่อดำเนินคดีต่อไป) แต่ยังไปช่วยยกฐานะของกลุ่มอาชญากรรมก่อการร้ายขึ้นเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมือง (Pattani Liberation Movement) โดยการเปิดเจรจาพูดคุยกับ BRN อย่างเป็นทางการที่มาเลเซีย ซึ่งต่อมากลุ่ม BRN ได้ยื่นเงื่อนไขผ่าน youtube ให้ตัวแทนรัฐบาลไทยยอมรับฐานะของ BRN ว่า เป็นขบวนการปลดปล่อยปัตตานี ไม่ได้เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (not a separatist group) ดูข้อเรียกร้องลำดับที่ 5 ในตารางที่ 5

ตารางที่ 5 ข้อเรียกร้องของ BRN ที่ส่งผ่าน youtube ให้คนทั้งโลกได้รับรู้

การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองฐานะของกลุ่ม BRN เป็น ขบวนการปลดปล่อยปัตตานี ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ของ BRN เพื่อจะอ้างว่า ปัตตานีเคยเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ต่อมาถูกไทย (หรือสยามในอดีต) ใช้กำลังบังคับเอาเป็นเมืองขึ้น และได้พยายามให้ร้ายป้ายสีต่อประเทศไทยว่า เป็นนักล่าอาณานิคม เพื่อให้กลุ่ม BRN และกลุ่มก่อการร้ายได้รับความเห็นอกเห็นใจจากนานาประเทศว่า เป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ จึงมีความชอบธรรม (Ligitimacy) ที่จะจับอาวุธต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระออกจากไทย ดังนั้นเราจะพบว่ากลุ่ม BRN และกลุ่มก่อการร้ายมักอ้างเหตุผลต่างๆ (แสดงความชอบธรรม) เพื่อก่อเหตุที่ร้ายแรงเพียงใดก็ได้ ตัวอย่างเช่น การฆ่าตัดคอพระและทหาร การบุกเข้าไปยิงครูชลธีต่อหน้านักเรียนในโรงเรียน และการสังหารหมู่เด็กผู้หญิง 6 ศพอย่างโหดเหี้ยมในร้านขายของชำที่ปัตตานี เป็นต้น

ส่วนเรื่องเมืองปัตตานีนั้น มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ระบุว่า ปัตตานีเป็นเมืองหนึ่งในสิบสองเมืองนักษัตรซึ่งก็คือเป็นหนึ่งในเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช (อาณาจักรตามพรลิงก์) ต่อมาในปี 1292 นครศรีธรรมราชและเมืองบริวารทั้งสิบสองเมืองได้ตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงสุโขทัย (Wyatt, p.42-45 และ Hall, p.188-190) ดังนั้นปัตตานีจึงได้เป็นกลายเป็นเมืองบริวารของกรุงสุโขทัยไปด้วยซึ่งตรงกันกับความเห็นของ K.A.Nilakanta Sastri (ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลกที่อ้างจดหมายเหตุของมอญและศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ได้ระบุว่า ในปี 1292 กรุงสุโขทัยได้ปลดปล่อยดินแดนทางเหนือของแหลมมลายูให้พ้นจากอำนาจของอาณาจักรวิชัยได้เป็นผลสำเร็จ และต่อมาในปี 1390 สมัยพระราเมศวร (แห่งกรุงศรีอยุธยา) ได้โยกย้ายชาวล้านนาจำนวนมากให้มาตั้งรกรากในเมืองพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และจันทบุรี (Wyatt, p.58) นั่นหมายความว่า มีคนไทยจากล้านนาได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และในเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูในช่วงสมัยพระราเมศวร ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากเซอร์จอห์น เบาว์ริง (ซึ่งได้มาสำรวจประชากรและเมืองต่างๆ บนแหลมมลายู) ได้ระบุว่าในปี 1855 ปัตตานีมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 100,000 คน และมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเป็นชนชาติไทย (คงจะหมายถึง ประชากรที่นับถือศาสนาพุทธ มีธรรมเนียมไทย และใช้ภาษาไทย)

จากข้อมูลที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า ปัตตานีเป็นเมืองท่าขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 100,000 คน และไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอำนาจจึงเป็นเพียงเมืองๆ หนึ่งที่มีสถานภาพเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรตามพรลิงก์และเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสยาม (ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) การสร้างเรื่องให้ปัตตานีเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ จึงเป็นการแต่งเติมทางประวัติศาสตร์โดยมุ่งหวังเพื่อชักจูงคนไทยเชื้อสายมลายู (สุมาตรา) และอาหรับ (ซึ่งเพิ่งอพยพเข้ามาในช่วงสงครามโลก) ในปัตตานีที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้ร่วมกันต่อสู้เพื่อแยกตัวออกจากประเทศไทย

III. การเข้าพูดคุยเจรจาของรัฐไทยมิได้ทำให้การแก้ปัญหาไฟใต้ผิดพลาด ซึ่งผบ.ทบ.กระทรวงกลาโหม และกองทัพภาคที่ 4 ล้วนเห็นตรงกัน

การใช้คำว่า รัฐไทย น่าจะหมายถึง ความเป็นรัฐไทยรัฐเดี่ยวจะแบ่งแยกไม่ได้ มีเอกราช และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนทุกคนย่อมได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน (รัฐธรรมนูญ 2550, มาตรา 1-มาตรา 4) นอกจากนี้ยังมีระบบกฎหมายและระบบการปกครองเป็นของตนเอง โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายและระบบการปกครองของชาติอื่น นั่นหมายความว่า คนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิและความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมทั้งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติต่างๆ ตามระบบกฎหมายของไทยอย่างเสมอกันโดยไม่มีข้อยกเว้นให้เป็นการพิเศษเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตั้งตัวแทนไปพูดคุยกับกลุ่ม BRN และกลุ่มก่อการร้าย (ที่ได้สังหารประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก) อย่างเปิดเผย ในทำนองเดียวกันเพื่อความเสมอภาคตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งได้ระบุไว้ในมาตรา 4 ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง) รัฐบาลก็ควรตั้งตัวแทนไปพูดคุยกับกลุ่มอาชญากรรมกลุ่มต่างๆ ทั้งที่อยู่ในคุกและอยู่นอกคุกเพื่อลดหย่อนผ่อนโทษและแสวงหาสันติภาพด้วยเช่นกัน การละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะทำให้ระบบนิติรัฐล้มเหลว และประชาชนขาดความเคารพเชื่อถือในระบบกฎหมายจนอาจนำไปสู่ความวุ่นวายและล่มสลายของสังคมได้ในอนาคต

สำหรับเรื่องการพูดคุยเจรจาของตัวแทนรัฐบาลไทย ผู้เขียนขอให้ข้อมูลและความคิดเห็น ดังนี้

1. การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มก่อการร้ายได้กระทำมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนถึงก่อนรัฐบาลปัจจุบัน โดยเป็นการพูดคุยอย่างไม่เปิดเผย แต่ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการพูดคุยเจรจาอย่างเปิดเผยในรัฐบาลปัจจุบัน

2. นายราจิบ ราซัค ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้ประสานงานอยู่เบื้องหลังจึงทำให้มีการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ ซึ่งอาจแปลได้ว่า รัฐบาลไทยได้แสดงความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากที่จะพูดคุยสันติภาพมากกว่าที่จะเป็นความต้องการของกลุ่มก่อการร้าย BRN จนทำให้กลุ่มก่อการร้าย BRN ได้รับรู้ถึงความรู้สึกต้องการของรัฐบาลไทย (ซึ่งน่าจะเป็นความจริง) จึงได้ถือโอกาสยื่นเงื่อนไขของกลุ่มผ่าน youtube เพื่อกดดันฝ่ายรัฐบาลให้ตอบสนองตามความต้องการ และถ้าไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทางกลุ่มก่อการร้าย BRN ก็อาจยุติการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการแย่งชิงความเป็นฝ่ายริเริ่มและรุกในคราวเดียวกัน ซึ่งได้ทำให้ตัวแทนรัฐบาลไทยได้กลายเป็นฝ่ายตั้งรับไปโดยปริยาย

3. ในการประชุมติดตามผลการพูดคุยสันติภาพของคณะกรรมาธิการทหารและคณะอนุกรรมาธิ การพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบฯ สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2556 ได้มีการซักถามตัวแทนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพว่ากลุ่มก่อการร้ายในภาคใต้มีกี่กลุ่ม และใครเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมและสั่งการกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดสามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องนี้ได้ คือ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีกลุ่มก่อการร้ายกี่กลุ่ม และไม่รู้ด้วยว่าใครเป็นผู้นำกลุ่มก่อการร้ายที่แท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงจะหวังอะไรมากไม่ได้จากการพูดคุยในครั้งนี้ ถ้าเปรียบเป็นการชกมวย ตัวแทนรัฐบาลไทยเปรียบเสมือนนักมวยที่ขึ้นไปเต้นชกลมบนเวทีแล้วแต่ยังไม่เห็นคู่ชกที่แท้จริงเพราะนายฮัสซัน ตอยิบซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน BRN คงเป็นได้แค่พี่เลี้ยงที่คอยให้น้ำให้ท่าแก่นักมวยเท่านั้น เพราะการยื่นเงื่อนไขของกลุ่มก่อการร้าย BRN ผ่าน youtube ได้แสดงให้เห็นว่า ยังมีกลุ่มบุคคลที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังนายฮัสซัน ตอยิบ อีกนั่นเอง

4. ส่วนการพูดคุย ผู้ขียนได้เขียนโครงสร้างตัวแทนกลุ่มผู้เข้าร่วมในการพูดคุย ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 โครงสร้างตัวแทนกลุ่มผู้เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพ

จากรูปที่ 1 จะเห็นว่า นายนาจิบ ราซัค และนายอันวาร์ อิบราฮิม ได้แสดงบทบาทเป็นผู้ให้การอุปการะแก่กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่มาอาศัยพักพิงในมาเลเซีย(ภาษาชาวบ้านก็คือ ให้ข้าว ให้น้ำ ให้ที่พักรักษาตัว และหลบภัยจากการตามจับของฝ่ายไทย ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังไม่ได้รับการยืนยัน) แต่ที่สำคัญคือ ฝ่ายไทยยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้นำกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่อยู่เหนือนายฮันซัน ตอยิบขึ้นไป เช่น กลุ่มBRN Coordinate, กลุ่ม New PULO, และกลุ่ม Bersatu เป็นต้น อาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มก่อการร้ายมีหลายกลุ่มและยังไม่มีผู้นำคนหนึ่งคนใดที่สามารถควบคุมกลุ่มต่างๆ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างกับการเจรจาสันติภาพที่ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น กรณีการเจรจายุติความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ คู่ขัดแย้งคือคนพื้นเมืองที่นับถือคาทอลิกกับคนอังกฤษที่อพยพเข้ามาในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งนับถือโปรเตสแตนต์ต่างก็รู้ว่า ใครเป็นผู้นำที่มีอำนาจของแต่ละฝ่าย และมีนักธุรกิจชาวไอริชที่ชื่อ นาย Brendan Duddy ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการติดต่อระหว่าง IRA กับรัฐบาลอังกฤษในทางลับจนนำไปสู่การเจรจาอย่างเปิดเผยเป็นทางการ โดยมีรัฐบาลอเมริกันให้การสนับสนุน และมีปัจจัยสำคัญคือ เป็นคนยุโรปเหมือนกัน มีชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ไม่แตกต่างกัน จึงทำให้การเจรจาสันติภาพบรรลุผลสำเร็จสามารถยุติความรุนแรงได้ในที่สุด

5. สำหรับในกรณีของไทยที่มีกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม แต่ไม่มีผู้นำคนใดที่สามารถควบคุมสั่งการทุกกลุ่มได้ รัฐบาลก็ควรจัดแบ่งกลุ่มก่อการร้ายเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีกองกำลังติดอาวุธ และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ รัฐบาลควรตั้งตัวแทนเจรจากับกลุ่มที่สองก่อน ส่วนกลุ่มแรกรัฐบาลควรยื่นเงื่อนไขให้ยุติการปฏิบัติการก่อการร้ายเสียก่อน ถ้าเจรจาตกลงกันได้ในเรื่องการอำนวยความยุติธรรมแล้ว ควรให้กลุ่มแรกวางอาวุธทั้งหมด และเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ต่อไป ที่สำคัญไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามายุ่งด้วย

IV. การจัดอันดับความเข้มแข็งทางการทหารของประเทศต่างๆ ในโลก และความเข้มแข็งทางทหารของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 20 ของโลก

ในเรื่องนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า ข้อมูลที่ได้จาก www.globalfirepower.com ควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งเพราะมีหลายประเทศที่มีความเข้มแข็งทางการทหารต่ำกว่าไทยอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น เกาหลีเหนือ ออสเตรเลีย โปแลนด์ ยูเครน และเวียดนาม เป็นต้น

โดยเฉพาะเกาหลีเหนือมีทหารประจำการนับล้านคน เป็นรองเพียงจีน และรัสเซียเท่านั้น มีกองกำลังขีปนาวุธ (ดูรูปที่ 2) ที่แม้แต่สหรัฐอเมริกายังกลัว และไม่กล้าใช้กำลังอย่างที่ทำกับอิรัก และลิเบีย นอกจากเกาหลีเหนือแล้ว กองทัพเวียดนาม (เพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา) ได้แสดงศักยภาพให้คนทั้งโลกได้เห็นแล้วว่า สามารถเอาชนะฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาได้อย่างขาวสะอาด และยังสามารถสร้างความ

รูปที่ 2 กองกำลังขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
รูปจากหนังสือพิมพ์ The Telegraph, 30 November 2010, p. 1
สูญเสียต่อกองทัพจีนเป็นอย่างมากในสงครามจีนสั่งสอนเวียดนาม (ดูรูปที่ 3 ทหารอเมริกันกำลังอพยพหนีตายออกจากไซ่ง่อน) ส่วนไทยมีการรบย่อยๆ กับลาวแต่ได้รับความสูญเสียจนต้องขอเจรจายุติการรบ และที่สำคัญคือ ในขณะที่กองทัพเวียดนามรุกเข้ามากำจัดเขมรแดงในกัมพูชา (ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นชาวเขมรหนีตายเข้ามาอยู่ในฝั่งไทยนับแสนคน) กองทัพไทยนั่งเฉยอยู่ทำไม ถ้ายังจำกันได้ในช่วงก่อนเกิดสงคราม โลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันรุกเข้าไปในโปแลนด์ กองทัพสหภาพโซเวียตแม้รู้ว่ายังสู้กองทัพเยอรมันไม่ได้ ก็ยังแข็งใจเคลื่อนกำลังเข้าไปยันกองทัพเยอรมันในโปแลนด์ ที่ยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบเพื่อให้ท่านได้เห็นว่า นอกจากกำลังอาวุธ และกำลังทหารแล้ว กำลังใจก็เป็นปัจจัย(พลัง)ที่มีความสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถชี้ขาดผลแพ้ชนะในการรบได้เช่นกัน

รูปที่ 3 ทหารอเมริกันและครอบครัวกำลังหนีตายอพยพออกจากหลังคาสถานทูตในไซ่ง่อน 28 April - 4 May 1975 (ภาพจาก www.fola.cia.gov/Air America
/C05273092.pdf)

ดังนั้นการจัดทำGFP Ranking จึงไม่อาจจะเชื่อถือได้ทั้งหมด บางครั้งตัวชี้วัดที่ใช้อาจมีความคาดเคลื่อนจึงทำให้ผลการศึกษาคลาดเคลื่อนไปด้วย หรืออาจมีปัจจัยอื่นอีก แต่ที่สำคัญเมื่อเห็นอันดับของไทยอยู่สูงก็อย่าไปคิดว่า ความจริงจะเป็นเช่นนั้น การนำข้อมูลมาอ้างอิงจึงต้องตรวจสอบกับข้อเท็จ จริงที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง มิฉะนั้นจะทำให้กำลังพลในกองทัพเข้าใจผิด และเกิดความประมาทในที่สุด

V. ความสำคัญของกองทัพเรือ

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหมทางทะเล (ดูรูปที่ 4) กองทัพเรือจึงต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะตอบโต้ต่อภัยคุกคามทางทะเลทั้งสองด้าน และจะต้องป้องกันการแทรกซึมเล็ดลอดของกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อประเทศทางทะเลทั้งสองด้านด้วยเช่นกัน การปล่อยให้ผู้อพยพที่มาทางทะเลเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของประเทศได้ เช่น ชาวโรฮิงญาจากพม่า ชาวทมิฬจากศรีลังกา และชาวอาหรับจากตะวันออกกลางจะก่อให้เกิดความเสียหาย และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว

รูปที่ 4 เส้นทางสายไหมทางทะเลจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในรูปที่ 4 แสดงที่ตั้งของไทยซึ่งอยู่ในจุดแห่งผลประโยชน์และอำนาจของโลก ดังนั้น ทอ.และทร.จึงควรมีขีดความสามารถตามขนาดของวงกลมใหญ่ ส่วน ทบ.ควรมีขีดความสามารถตามขนาดของวงกลมกลาง

VI. การจัดตั้งองค์กรต่อต้านการก่อการร้าย (National Counterterrorism Center)

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านเสียก่อนว่า หน่วยซีล ทีม 6 (SEAL TEAM 6) ของกองทัพเรืออเมริกา, หน่วย SAS (Special Air Service) ซึ่งสังกัดกองทัพบกอังกฤษ, หน่วย Sayaret Matkal ของอิสราเอล, และหน่วย GSG 9 (Border Police Group 9) ของเยอรมัน ทั้งหมดนี้เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการรบในสถานการณ์พิเศษ รวมทั้งปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้กองกำลังเป็นชุดปฏิบัติการพร้อมอาวุธเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นภารกิจเฉพาะที่ได้รับมอบหมายตามสถานการณ์ในช่วงเวลาที่จำกัด เช่น การเข้าช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกจี้ในเครื่องบิน ในรถไฟ บนเรือเดินทะเล หรือในอาคารต่างๆ และการเข้าทำลายหรือกำจัดผู้ก่อการร้ายในสถานการณ์ต่างๆ เมื่อปฏิบัติภารกิจสำเร็จก็กลับที่ตั้งของหน่วย เช่น การปฏิบัติการกำจัด Osama Bin Laden ในปากีสถาน เป็นต้น

แต่ถ้าปฏิบัติการไม่สำเร็จ (เช่น การปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันที่สถานทูตอเมริกันใน Iran ในสมัยประธานาธิบดี Carter เพราะเฮลิคอปเตอร์ที่บรรทุกหน่วยซีลไปชนกันเอง ดูรูปที่ 5) ก็จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงต่างประเทศก็จะใช้วิธีทางการทูตและทางการเมือง หรืออาศัยความช่วยเหลือจากมิตรประเทศเข้าแก้ไขสถานการณ์นั้นต่อไป สำหรับในกรณีนี้รัฐบาลอเมริกันได้สนับสนุน (อย่างลับๆ)ให้อิรักใช้กำลังทหารเข้าโจมตีอิหร่าน เพื่อบีบบังคับให้อิหร่านต้องกลับมาเจรจายุติปัญหานี้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และในเวลาต่อมาสหรัฐฯ ก็หันกลับมาจัดการกับซัดดัม ฮุสเซนในที่สุด

รูปที่ 5 ภาพเฮลิคอปเตอร์ที่จะไปช่วยเหลือตัวประกันตกในทะเลทราย (April 27, 1980)

ในปัจจุบันความขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงครามตามแบบ (Conventional Warfare) มีโอกาสเป็นไปได้น้อยแม้จะมีพลังอำนาจทางทหารที่ใกล้เคียงกันหรือสูงต่ำกว่ากันก็ตาม เนื่องจากแต่ละประเทศไม่ต้องการให้เกิดสงครามที่มีการใช้อาวุธทำลายล้างสูงมาทำลายซึ่งกันและกันเพราะจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ โครงสร้างความเจริญ และประชากรรุ่นต่างๆ ต้องถูกทำลายลงไปด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้ความเจริญก้าวหน้าของประเทศต้องหยุดชะงักลง และการพัฒนาการต่างๆ ต้องล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีพลังอำนาจทางทหารสูงกับกลุ่มการเมือง (ที่ไม่ใช่ตัวแสดงที่เป็นรัฐ) ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมือง ทางด้านศาสนา ทางด้านเศรษฐกิจ หรือทางด้านอื่นใด ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ด้วยวิธีใดๆ กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่างๆ ซึ่งไม่มีพลังทางทหารที่เข้มแข็งก็จะหันไปหาวิธีการต่อสู้อื่นๆ ที่เชื่อว่า จะสามารถทำลายฝ่ายตรงข้ามที่มีพลังอำนาจทางทหารที่เข้มแข็งกว่าได้ ดังนั้นการสงครามนอกแบบหรือไร้รูปแบบ (Irregular Warfare) จึงได้กลายเป็นทางเลือกที่นำมาใช้ต่อสู้กับประเทศที่มีพลังอำนาจสูงกว่า และในปัจจุบันสงครามนอกแบบ (Irregular Warfare) ได้รับการพัฒนาไปสู่การทำสงครามแบบผสม (Hybrid Warfare) ซึ่งเป็นการผสมรวมกันระหว่างวิธีการรบตามแบบ วิธีการรบนอกแบบ ยุทธวิธีการก่อการร้าย และอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การปล้นร้านทองเพื่อนำเงินมาใช้ซื้ออาวุธหรือวัตถุระเบิด และการก่อเหตุร้ายต่างๆ สามารถกระทำได้ตลอดเวลาถ้ามีโอกาส เป็นต้น

รูปที่ 6 ที่มาของการสงครามแบบผสม

จากเหตุผลที่กล่าวมาจะเห็นว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เช่น หน่วย SEAL, หน่วย SAS, หรือหน่วย Green Berets (ของสหรัฐอเมริกา) ต่างถูกสร้างมาให้ปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาที่จำกัด จึงไม่เหมาะที่จะให้รับผิดชอบในภารกิจระยะยาวที่มีความต่อเนื่อง ต้องใช้เทคนิควิทยาการต่างๆ หลายด้าน และมีขอบเขตกว้างขวางทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และลัทธิความเชื่อต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่มีขอบข่ายกว้างขวางไร้พรมแดนดังสภาพที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน และเป็นภารกิจที่มีลักษณะยาวนานหรือมีความต่อเนื่อง เช่น ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ที่ผู้สนับสนุนอยู่นอกประเทศซึ่งได้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนมานานร่วมสิบปี จึงเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมารับผิดชอบในภารกิจการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการเฉพาะ

องค์กรต่อต้านการก่อการร้ายดังกล่าวควรมีภารกิจและความรับผิดชอบที่กว้างขวางครอบคลุมทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยมีภารกิจการต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ เช่น การต่อต้านการข่าว การต่อต้านการวางระเบิด และการทำสงคราม Cyber ดังตัวอย่างการจัดองค์กรของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ(National Counterterrorism Center) ในรูปที่ 7 ซึ่งอาจนำไปเปรียบได้กับการ

รูปที่ 7 ตัวอย่างการจัดองค์กรของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ

ก่อสร้างโดยศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติเปรียบเสมือนเป็นบริษัทก่อสร้างเจ้าของโครงการ ส่วนหน่วยปฏิบัติการพิเศษต่างๆ เปรียบเสมือนเป็นผู้รับเหมาช่วงที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั่นเอง

บทส่งท้าย

ในบทความฉบับที่ 2 ผู้เขียนได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ผู้อ่านได้ขอมา และหวังว่าท่านคงมีข้อคิดเห็นต่างๆ กลับมายังผู้เขียนอีกเช่นเคย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในด้านอื่นๆ กำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูล และรับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้าท่านใดมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านใดซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาในภาคใต้ กรุณาส่งมาที่ udomdee@gmail.com ขอบคุณครับ

เอกสารอ้างอิง

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

2. Bougas, Wayne A. The Kingdom of Patani : Between Thai and Malay Mandala, Selangor : Institut Alam Dan Tamadun Melayu Universiti Kebangsaan Malaysia, 1994, p. 3.

3. Bowring, Sir John. The Kingdom and People of Siam Vol. II, London : John W. Parker and Son, West Strand, 1857, p.48 - 49.

4. Deep South Watch ระหว่างม.ค. 2547 - ก.พ. 2555(www.deepsouthwatch.org)

5. Hall, D.G.E. A History of Southeast Asia. 4th ed. Hong Kong : McMillan Education LTD., 1981, p. 224.

6. Human Right Watch, “No One Is Safe”: Insurgent Attacks on Civilians in Thailand’s Southern Border Provinces, vol. 19, no. 13(C), August 2007, p. 45.

7. Maday, Bela C.Area, Susan E. Callaway, Gustavo A. Mellander, Elaine M. Themo, and John O. Weaver, Handbook for Malaysia and Singapore, Washington D.C.: U.S. Government Printing Office, 1965, p. 38 - 39.

8. Newbold, T.J. Political and Statistical Account of the British Settlements in the Straits of Mallacca, “Pinang, Malacca, and Singapore; with a history of the Malayan States on the Peninsula of Malacca.”, London: John Murray, Albemarle Street, 1839, p. 418 - 419.

9. Nilakanta Sastri, K.A., Sri Vijaya, In: Bulletin de l’Ecole francaise d’Extreme-Orient. Tome 40 No 2, 1940, p.301.

10. U.S.A. Joint Chief of Staff, Joint Publication 3-24 : Counterinsurgency Operations, 2009, p. I-15

11. Wyatt, David K. Thailand: A Short History 2nd ed., Bangkok: O.S. Printing House, 2004, p. 42-45, 58.
กำลังโหลดความคิดเห็น