xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย : แนวทางการแก้ไขด้านการทหารและความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ1

โดย...วีระศักดิ์ นาทะสิริ1

1. สถานการณ์การก่อการร้ายของประเทศไทยในปัจจุบัน

1.1 การจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายของโลก

ถ้าได้ทราบว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งในสิบของโลก (Top Ten of the World) เราก็ต้องตื่นเต้นและประหลาดใจว่า รัฐบาลได้ไปทำอะไรมาจึงทำให้อันดับของประเทศไทยพุ่งขึ้นไปถึงหนึ่งในสิบของโลก แต่เมื่อเราได้เห็นดัชนีผลกระทบจากการก่อการร้าย (Global Terrorism Index) ที่สถาบันเศรษฐกิจและสันติภาพ (The Institute for Economics and Peace) ได้จัดทำขึ้นในปี 2012 ดังที่แสดงในตารางที่ 1 หลายท่านก็คงเข้าใจได้ทันทีว่า ประเทศไทยของเราได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายเป็นอันดับที่แปดของโลก

คำอธิบาย

- อันดับที่หนึ่ง ถึงอันดับที่สิบสาม หรือสีเลือดหมูหมายถึง ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงหรือได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายสูงที่สุด (Highest Impact of Terrorism)

- อันดับที่ต่ำสุด (อันดับที่ 116) หรือสีเขียว หมายถึง ประเทศที่ไม่มีความเสี่ยงหรือไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการก่อการร้าย (No Impact of Terrorism)

1 ปัจจุบันผู้เขียนทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

1.2 สถิติการก่อการร้ายของประเทศไทยในระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2556

ข้อมูลในตารางที่ 1 และ 2 ได้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ Peace Talk ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งมีพลโทภราดร พัฒนถาบุตร เป็นหัวหน้าคณะกับนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนกลุ่ม BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะเกิดความสงบสันติได้อย่างที่หวัง ซึ่งอาจประมาณการได้ดังนี้

ประการแรก กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว อาจมีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ (รวมทั้งกลุ่มอาชญากรรมต่างๆ) ที่เป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่ม BRN ซึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพของกลุ่ม BRN

ประการที่สอง ถ้ามองในแง่ลบ เป็นไปได้ว่าฝ่ายกองกำลังติดอาวุธจะปฏิบัติการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้นต่อไปเพื่อกดดันรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงของไทยให้ยินยอมตามความต้องการของฝ่ายการเมืองของกลุ่ม BRN ซึ่งได้เสนอผ่าน Youtube ให้คนไทยได้รับทราบกันไปไม่นานมานี้

ประการสุดท้าย กลุ่มก่อการร้ายได้เพิ่มการปฏิบัติการรุนแรงและโหดเหี้ยมมากขึ้นโดยไม่เลือกเป้าหมาย และมุ่งขจัดหรือสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและไม่ให้การสนับสนุนต่อกลุ่มก่อการร้าย เพื่อลดจำนวนประชาชนที่ต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายโดยไม่เลือกว่านับถือศาสนาใด (คงมุ่งหวังหรือต้องการให้อพยพออกไปจากพื้นที่) และในทางตรงกันข้ามก็จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่ให้การสนับสนุนต่อกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ โดยมุ่งหวังว่า ถ้ารัฐบาลไทยโอนอ่อนยินยอมให้มีการปกครองตนเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีการเลือกผู้บริหารโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ (BRN และกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธต่างๆ) ก็เชื่อมั่นว่า จะมีกลุ่มประชาชนที่ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้ตัวแทนของกลุ่มก่อการร้าย (BRN และกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธต่างๆ) ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้บริหารเขตปกครองพิเศษในอนาคต

ดังนั้น การพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เป็นเครื่องมือเพียงประการเดียวที่จะสามารถยุติการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ท่านเลขาธิการ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) เชื่อและเข้าใจ เพราะยังมีเครื่องมืออื่นๆ2 ที่รัฐจะต้องนำมาใช้ร่วมกับการพูดคุยสันติภาพ เช่น มาตรการทางทหารในการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มาตรการการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ นอกเหนือจากศาสนา และเพื่อพัฒนาประชาชนให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มาตรการการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและเพิ่มความต้องการแรงงานในทุกระดับความรู้ และมาตรการการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้ประชาชนที่นับถือศาสนาและวัฒนธรรมที่ต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเคารพในสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม

2. ยุทธวิธีที่เป็นที่นิยมของกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2.1 การวางเพลิง Arsons เป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน ไม่มีความเสี่ยงจากความผิดพลาดทางเทคนิคเพราะเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ดังนั้นการวางเพลิง การทำลายโทรทัศน์วงจรปิด การวางตะปูเรือใบ การตัดต้นไม้ขวางถนน การให้สัญญาณหรือการแจ้งเตือน จึงเป็นการฝึกการก่อการร้ายในขั้นต้นก่อนที่จะเริ่มการใช้อาวุธปฏิบัติการที่รุนแรงขึ้นในขั้นต่อไป

2.2 การลอบสังหารบุคคลเป้าหมาย Assassination เป็นวิธีการที่เป็นที่นิยมมาก ซึ่งมักจะมุ่งกระทำต่อเป้าหมายที่อ่อนแอหรือเป้าหมายที่ไม่มีการป้องกันตนเองเพราะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ

2 ความขัดแย้งในศรีลังกาได้ใช้ทั้งมาตรการทางการเมือง การเจรจา และได้มีการหยุดยิงในปี 2006 แต่ในที่สุดต้องใช้มาตรการทางทหารจึงจะสามารถยุติความขัดแย้งได้ (ดูSri Lanka Civil WarในWikipedia) สูง เช่น การยิงครูและบุคลากรทางการศึกษา ใช้มีดฟันพระภิกษุ การสังหารข้าราชการพลเรือน พ่อค้าหาบเร่ และเด็ก ผู้หญิง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งกระทำต่อคนไทยที่นับถืออิสลามแต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการที่รุนแรงเหี้ยมโหดของกลุ่มก่อการร้าย เช่น การบุกเข้าไปยิงครูชลธี เจริญชล (ซึ่งนับถืออิสลาม) ต่อหน้านักเรียนในโรงเรียน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 เป็นต้น

2.3 การเข้าโจมตีฐานที่ตั้งทางทหาร Raids หรือสถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐ คือ การรวมกำลังของกลุ่มก่อการร้ายเพื่อเข้าโจมตีฐานที่ตั้งทางทหาร สถานีตำรวจ และสำนักงานที่ทำการของหน่วยงานรัฐ เพื่อสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดอาวุธและทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มก่อการร้าย เช่น การโจมตีกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547, การบุกโจมตี ร้อย ร. 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2554 และการเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการปล.ที่ 2 ฉก.นย. 32 อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556

2.4 การซุ่มโจมตี Ambushes มักจะเป็นการปฏิบัติของกลุ่มก่อการร้ายเพื่อทำลายเป้าหมายรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มซึ่งได้แก่ การซุ่มโจมตีรถของบุคคลสำคัญ ขบวนรถบรรทุกทหารและบรรทุกสัมภาระ และขบวนรถมอเตอร์ไซค์ลาดตระเวนหรือรักษาความปลอดภัยครู ตัวอย่างเช่น การซุ่มโจมตีขบวนรถมอเตอร์ไซค์ลาดตระเวน 3 คันของทหารพรานบนถนนปัตตานี-ยะลา ตำบลแม่ลาน จังหวัดปัตตานีซึ่งทำให้ทหารเสียชีวิต 2 นาย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 (จากBangkok Post Online)

2.5 การวางระเบิด Bombings โดยใช้ระเบิดประกอบเฉพาะกิจ หรือระเบิดแสวงเครื่องซึ่งมีคำ ย่อว่า IEDs (Improvised Explosive Devices) วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้ทั้งในอิรัก อัฟกานิสถาน และรวมทั้งในประเทศไทยของเรา เนื่องจากวัสดุที่นำมาประกอบระเบิดมีราคาไม่แพง จึงไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และง่ายต่อการจัดทำขึ้นเองโดยใช้เวลาเรียนรู้เพียง 2-3 สัปดาห์ สามารถจัดทำในขนาดที่เหมาะสมต่อเป้าหมายหรือต่อการใช้งานตามลักษณะของสถานที่ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังสะดวกในการพกพาไปในที่ต่างๆ โดยไม่เป็นที่สังเกตอีกด้วย ดังนั้นกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงนิยมที่จะใช้การวางระเบิดเพื่อทำลายทรัพย์สิน และบุคลากรของรัฐและเอกชน (ดูตารางที่ 2 จะเห็นว่าการสูญเสียชีวิตจากการวางระเบิด จะอยู่ในลำดับที่ 2 รองจากการลอบยิงเท่านั้น)

2.6 การวางระเบิดและซุ่มโจมตี Bombings & Ambushes เป็นวิธีการที่ผสมกันระหว่างการวางระเบิดและการซุ่มโจมตี เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอิรัก และอัฟกานิสถาน ในปัจจุบันเริ่มเป็นที่นิยมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วยเช่นกัน กลุ่มก่อการร้ายในไทยเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว (คาดว่าน่าจะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้เข้ามาให้การอบรมสั่งสอน) และนำไปปฏิบัติจนสามารถทำลายเป้าหมายที่เป็นบุคคลสำคัญของหน่วยงานรัฐได้หลายครั้ง เช่น การวางระเบิดขบวนรถรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 และการวางระเบิดสังหารเจ้าหน้าที่ทหารสังกัด ร้อย ร. 15123 ฉก.นราธิวาส 30 บนถนนสายปูโป-บือเจาะบองอ ต.สาวอ ทำให้ร.อ.ศิวิช ศรีอุปโย เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหลายนาย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 เป็นต้น

3. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในด้านการทหารและความมั่นคงของชาติ

ผู้เขียนเชื่อว่า มาตรการด้านการทหารและความมั่นคงไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้อย่างเด็ดขาด แต่ถ้ากลุ่มก่อการร้ายใช้ยุทธวิธีทางทหาร เช่น การลอบยิง การซุ่มโจมตี และการวางระเบิดเพื่อสังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่จนก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมายดังข้อมูลที่แสดงในตารางที่ 2 ก็อยากถามว่า รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐจะนั่งอยู่เฉยๆ โดยไม่ตอบโต้หรือไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลยหรือ

มีหลายท่านที่มีความเชื่ออย่างผิดๆ และชอบอ้าง (โดยไม่ได้ศึกษาหรือไม่ได้เรียนรู้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต) ว่า การเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถยุติเหตุการณ์ความรุนแรงหรือการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งผู้เขียนขอแย้งว่าไม่เป็นความจริงโดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเช่น ที่ศรีลังกาได้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลที่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม กับชาวทมิฬที่อพยพมาจากแคว้นทมิฬนาดูในอินเดียตอนใต้ จนเกิดการสู้รบหลายครั้งและมีการเจรจาหยุดยิงในปี 2002 แต่ในที่สุดก็เกิดการสู้รบขึ้นอีกในปี 2006 และในปี 2009 กองทัพศรีลังกาก็ได้รับชัยชนะสามารถยุติการสู้รบ (การต่อสู้ที่ใช้อาวุธ) ได้อย่างเด็ดขาด

สำหรับตัวอย่างต่อมาเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับชาวเชชเนียที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนปกครองตนเอง ทำให้เกิดการสู้รบกันหลายครั้ง มีการเจรจายุติการสู้รบ แต่ในที่สุดก็เกิดการสู้รบครั้งใหญ่ขึ้นอีกในปี 1999 และในปี 2000 การทำสงครามตามแบบระหว่างรัสเซียกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชชเนียก็ยุติลง แต่ได้แปรสภาพเป็นการก่อการร้าย ต่อมาในปี 2009 กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชชเนียซึ่งไม่ประสบความสำเร็จจากการก่อการร้าย (คาดว่าคงได้รับความสูญเสียจากการโต้ตอบของกองกำลังของรัสเซีย และของรัฐบาลเชชเนีย) ก็ได้ประกาศยุติการก่อการร้ายหรือการใช้อาวุธอย่างสิ้นเชิง

ส่วนกรณีความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือนั้นมีปัจจัยบางอย่างที่แตกต่างจากทั้งสองตัวอย่างข้างต้น กล่าวคือ มีการกล่าวหาว่า กลุ่ม IRA อาจได้รับประโยชน์จากการให้ความคุ้มครองกลุ่มค้ายาเสพติดและธุรกิจที่ผิดกฎหมาย (Horgan, J. and Taylor, M. pp. 124-152) ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่ม IRA บางส่วนไม่พอใจในการกระทำดังกล่าว และต้องการที่จะเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ และที่สำคัญคือในเดือนสิงหาคม ปี 2001 ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบระเบิดของ IRA (Irish Republican Army) 3 คนที่ไปช่วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน FARC (หรือ People’s Army) ได้ถูกจับที่Colombia ซึ่งการที่กลุ่มหัวรุนแรงของ IRA ได้ถูกจับในเหตุการณ์ต่างๆ อาจมีผลทำให้การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือบรรลุผลได้ง่ายขึ้น

จากกรณีตัวอย่างทั้ง 3 จะเห็นว่า การใช้มาตรการทางทหารเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงหรือการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ (ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นยาแรงที่ใช้กับอาการไข้ที่รุนแรง) ยังมีความจำเป็นและเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะยับยั้งหรือขจัดการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเป็นผล แต่ต้องใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ซึ่งผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อรัฐบาลและหน่วยต่างๆ ได้นำไปพิจารณา ดังนี้

3.1 ข้อเสนอแนะด้านความมั่นคงของชาติ

3.1.1 รัฐบาลต้องมีความจริงใจและมีความกล้าที่จะแก้ไขปัญหานี้ หมายความว่า รัฐบาลจะต้องไม่กลัว ไม่ขี้ขลาด ต้องกล้าประณามการกระทำที่โหดเหี้ยมของกลุ่มก่อการร้าย เช่น การสังหารประชาชน 6 ศพ โดยการจ่อยิงทีละคนซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วยที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556

3.1.2 รัฐบาลควรออกกฎหมายห้ามประชาชนไทยถือสองสัญชาติ ถ้าบุคคลใดถือสองสัญชาติจะต้องถูกยกเลิกสิทธิการมีสัญชาติไทยทันทีที่มีหลักฐานแสดงการถือสัญชาติอื่น และควรระงับการโอนสัญชาติอื่นมาเป็นสัญชาติไทยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี

3.1.3 รัฐบาลควรจัดทำประชามติถามประชาชนทั้งประเทศว่าจะให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แบ่งแยกออกจากประเทศไทยไปปกครองตนเองเป็นรัฐอิสระหรือไม่ เพื่อให้ได้ฉันทามติในการแก้ไขปัญหานี้

3.2 ข้อเสนอแนะด้านการทหาร

3.2.1 ไทยต้องพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ (กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกองทัพของอิสราเอล โดยเฉพาะกองทัพอากาศจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการให้ความคุ้มครองการปฏิบัติภารกิจของทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือได้ในทุกพื้นที่เนื่องจากไทยมีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศที่มีปัญหาและมีข้อพิพาทที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในอนาคต การมีกองทัพที่เข้มแข็งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยับยั้งไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามข่มขู่และมุ่งที่จะใช้กำลังกับประเทศไทยเพียงวิธีเดียว

3.2.2 กองทัพเรือควรได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสมารถในการป้องกันและทำลายเส้นทางการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายจากต่างประเทศทั้งในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

3.2.3 กองทัพบกควรจัดตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการขจัดหรือทำลายการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ โดยให้หน่วยอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน

3.2.4 กองทัพควรจัดตั้งชุดป้องกันภัยของหมู่บ้านซึ่งมีทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองเป็นแกนร่วมกับชาวบ้าน (ควรพัฒนาชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านหรือชรบ.ขึ้นใหม่) และจัดฝึกอบรมการใช้อาวุธเพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือทหารและตำรวจในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหมู่บ้าน

3.2.5 กองทัพบกจะต้องจัดทำคู่มือการต่อต้านการวางระเบิด รวมทั้งคู่มือการต่อต้านการก่อการร้ายที่ทันสมัย เพื่อใช้อบรมกำลังพลทุกนายที่จะต้องไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เรียนรู้ เข้าใจ จนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นผล

3.2.6 กองทัพต้องจำกัดเสรีในการปฏิบัติของกลุ่มก่อการร้าย เพราะถ้ากลุ่มก่อการร้ายมีเสรีในการปฏิบัติมากเพียงใด ก็จะสร้างความสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการที่ ผบ.ทบ.เสนอให้สร้างรั้วตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ต้องขอชมว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดีที่จะจำกัดเสรีในการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน

อย่างไรก็ดี แม้ข้อเสนอให้สร้างรั้วเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ควรปรับเปลี่ยนจากการสร้างรั้วมาเป็นกำแพงขนาดใหญ่เช่นเดียวกับกำแพงเมืองจีน โดยมีความสูงไม่ต่ำกว่า 8 เมตร และกว้างไม่ต่ำกว่า 6 เมตรโดยจุด เริ่มต้นของกำแพงนี้ควรเริ่มจากชายแดนไทย-มาเลเซีย จังหวัดสตูล ผ่านยะลา และไปจดอ่าวไทยที่จังหวัดนราธิวาส รวมระยะทางประมาณ 506 กิโลเมตร (ดูรูปที่ 1) บนกำแพงควรสร้างให้แข็งแรงแบบทางด่วนในกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการขนส่งหรือขนย้ายเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ หรือภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น และควรมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ในจุดที่สำคัญตามแนวกำแพงนี้ด้วย

นอกจากนี้การมีกำแพงขนาดใหญ่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลย์ไม่เพียงเป็นเครื่องช่วยสกัดกั้นการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีหรือสิ่งผิดกฎหมายเข้าประเทศ เช่น การลักลอบนำน้ำมันหนีภาษี และยาเสพติดเข้าไทย แต่ยังสามารถใช้ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และยังจะสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศได้อีกด้วย

4. สรุป

การเสนอแนวความคิดให้จัดสร้างรั้วหรือกำแพงเมืองไทย มีหลายท่านคงคิดว่า ผู้เสนอแนวคิดนี้คงจะเพี้ยนไป จึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หนึ่งในผู้สร้างกำแพงเมืองจีนคือ ฉินซือหวง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ กษัตริย์จีนผู้รวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นและมีความมั่นคงจนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ไทยจะมีโครงการสร้างกำแพงเมืองไทยเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ เช่นเดียวกับที่จีนได้เคยทำมาในอดีตผู้เขียนจึงขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้รีบจัดทำโครงการสร้างกำแพงเมืองไทย (The Great Wall of Thailand) ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อขจัดปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มผิดกฎหมายต่างๆ ให้ลดลงหรือหมดสิ้นไป

สำหรับความเป็นมาของปัญหา กลยุทธ์ของกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน และข้อเสนอแนะอื่นๆ กรุณาดูในรายงานผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร (ระหว่างวันที่ 6 กันยายน - วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555) ครั้งที่ 1 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านการทหารและความมั่นคงของชาติ

เอกสารอ้างอิง

1. Horgan, J. and Taylor, M. “Insurgency in Ireland: A preliminary analysis of the Provisional IRA ceasefire - 1994-1996”, in Albrecht Schnabel and Rohan Gunaratna, Understanding and Managing Insurgent Movements, Singapore: Marshall Cavendish International, 2006, pp. 124-152.

2. Institute for Economics & Peace. “2012 Global Terrorism Index: Capturing the Impact of Terrorism for the Last Decade”, Sydney and New York, 2012.
กำลังโหลดความคิดเห็น