xs
xsm
sm
md
lg

พลังประชาชน : จากฟิลิปปินส์ถึงซีเรียและไทย

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ณ วันนี้มีการเคลื่อนไหวของหลายกลุ่มในเมืองไทยด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมือง ล่าสุดเป็นกลุ่มทที่มีหน้ากากขาว “กาย ฟอว์กส์” เป็นสัญลักษณ์

ที่มาที่ไปของหน้ากากกายฟอว์กส์คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวซ้ำนอกจากจะย้ำส่วนที่ว่า มันมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะของฝ่ายการเมืองที่กดขี่และฉ้อฉล การรวมตัวกันเคลื่อนไหวก่อให้เกิดพลังประชาชนอันแข็งแกร่ง ในขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนในหลายประเทศในลักษณะต่างๆ กัน การเคลื่อนไหวที่ใช้วิธีรุนแรงที่สุดกำลังดำเนินไปในซีเรียซึ่งตกอยู่ภาวะสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว

ผมเคยอาศัยอยู่ หรือไม่ก็ไปทำงานในหลายประเทศที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อล้มรัฐบาลเนื่องจากประชาชนทนไม่ไหวกับการปกครองแนวเผด็จการที่ข่มขี่และฉ้อฉลรวมทั้งฟิลิปปินส์ ลิเบีย อียิปต์ เยเมนและซีเรีย จึงขอนำข้อสังเกตบางอย่างมาเสนอซึ่งอาจเป็นข้อคิดสำหรับกลุ่มพลังประชาชนไทยที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ในขณะนี้ หรือคิดว่าจะเคลื่อนไหวต่อไป

ในฟิลิปปินส์ การเคลื่อนไหวของชาวฟิลิปปินส์ครั้งสำคัญยิ่งเป็นการต่อต้านการบริหารบ้านเมืองของเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ซึ่งเริ่มเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2508 การต่อต้านอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นหลังเขาบริหารประเทศได้ 5 ปี การเคลื่อนไหวครั้งนั้นถูกรัฐบาลปราบอย่างรุนแรง แต่การเคลื่อนไหวในรูปต่างๆ ยังดำเนินต่อไปเพื่อต่อต้านการบริหารแนวเผด็จการผ่านการใช้กฎอัยการศึกและความฉ้อฉลในวงการรัฐบาล การต่อต้านกระจายไปอย่างกว้างขวางและเข้มข้นยิ่งขึ้นเมื่อหัวหน้าฝ่ายตรงข้ามของมาร์กอสชื่อเบนิกโน อากีโน ถูกประหารอย่างเลือดเย็นกลางสนามบินเมื่อเขาเดินทางกลับเข้าประเทศเพื่อจะลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับมาร์กอส

ต่อมาหลักฐานบ่งว่ามาร์กอสโกงคะแนนเลือกตั้งอย่างกว้างขวางเมื่อภรรยาของอากีโนชื่อ คอราซอน ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนสามีที่ถูกสังหาร การประท้วงเข้มข้นจนมาร์กอสถูกโค่นลงในปี 2529 และคอราซอน อากีโน ขึ้นบริหารประเทศแทนท่ามกลางความลิงโลดของประชน แต่หลังจากบริหารประเทศได้ไม่นาน การสนับสนุนของประชาชนก็ลดลงอย่างน่าใจหายส่งผลให้เธอไม่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2

ผมมองว่าปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนจนเข้าขั้นที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติของประชาชน” มีผลออกมาเช่นนั้นเพราะประธานาธิบดีอากีโนไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญตามความคาดหวังของประชาชน ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนผิดหวังกับการบริหารบ้านเมืองของเธอคือ การที่เธอไม่ปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังตามความคาดหวังของชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ เธอปฏิรูปที่ดินไม่ได้เพราะเธอเองและสมาชิกในครอบครัวของเธอมีที่ดินจำนวนหลายหมื่นไร่ซึ่งเธอพยายามไม่ให้ถูก “ปฏิรูป” ด้วยกลวิธีต่างๆ

ผลสุดท้าย การปฏิวัติประชาชนจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งนำไปสู่สภาพการ “สมบัติผลัดกันชม”

เหตุการณ์ในลิเบีย อียิปต์ เยเมนและซีเรียเป็นส่วนหนึ่งของ “อาหรับสปริง” ซึ่งถูกจุดชนวนขึ้นในตูนิเซีย เนื่องจากผมไม่เคยไปทำงานในประเทศตูนิเซีย จึงจะไม่เล่าถึงประเทศนั้นนอกจากจะย้ำว่าการเผาตัวเองของพ่อค้าผลไม้เมื่อเดือนธันวาคม 2553 เพื่อประท้วงความกดขี่ของตำรวจและผู้บริหารบ้านเมืองนำไปสู่การเคลื่อนไหวของประชาชนจนประธานาธิบดีตูนิเซียต้องหนีไปลี้ภัยยังต่างประเทศ เหตุการณ์นั้นถูกเอาอย่างโดยประชาชนในประเทศอาหรับอื่นๆ ซึ่งมีรัฐบาลแนวเผด็จการฉ้อฉลและกดขี่ประชาชนเช่นกัน

ลิเบียอยู่ติดกับตูนิเซียและปกครองโดยมูอัมมาร์ กัดดาฟีตั้งแต่ปี 2512 เขาครองอำนาจอยู่นานถึง 42 ปีเพราะมีอำนาจเผด็จการแบบสัมบูรณ์ การประท้วงของประชาชนนำไปสู่สงครามกลางเมืองซึ่งมหาอำนาจตะวันตกเข้าแทรกแซง สงครามยุติลงในปี 2554 กัดดาฟีเสียชีวิตเหตุการณ์นั้น แต่หลังเปลี่ยนรัฐบาลแล้วเหตุการณ์ในลิเบียยังมิสงบลงเสียทีเดียวเนื่องจากกลุ่มต่างๆ ที่ร่วมกันขับไล่กัดดาฟียังตกลงกันไม่ได้ว่าจะบริหารบ้านเมืองอย่างไรต่อไป กลุ่มใหญ่ๆ และเผ่าต่างๆ ยังมีกองกำลังติดอาวุธของตนเองและฝ่ายที่พ่ายแพ้ไปก็ยังมีกองกำลังที่ซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ และพร้อมที่จะออกมาต่อสู้อีก

ในอียิปต์ การประท้วงกองกลุ่มต่างๆ และการปราบปรามของรัฐบาลทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 800 คน แต่เหตุการณ์ไม่ถึงกับเป็นสงครามกลางเมืองอย่างกว้างขวางหลังประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคซึ่งครองอำนาจอยู่ 30 ปีลาออก การเปลี่ยนรัฐบาลชั่วคราวหลายครั้งไม่นำไปสู่ความสงบ มูบารัค ถูกจับขึ้นศาลซึ่งตัดสินจำคุกเขาตลอดชีวิต ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อียิปต์มีรัฐธรรมนูญและประธานาธิบดีใหม่ แต่การประท้วงยังเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแม้จะไม่แพร่หลายเหมือนในปี 2554 ก็ตาม หลายกลุ่มไม่พอใจรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนอียิปต์เป็นสาธารณรัฐอิสลาม นอกจากนั้น เศรษฐกิจยังมีปัญหาเช่นเดิมเนื่องจากโครงสร้างและฐานของการพัฒนายังคงเดิม

ในเยเมน การต่อต้านรัฐบาลนำไปสู่การสู้รบกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับของเผ่าต่างๆ อยู่นาน ประธานาธิบดีบาดเจ็บในการสู้รบนั้นจนต้องไปรักษาตัวยังต่างประเทศ กลุ่มประเทศอาหรับที่ร่ำรวยเข้าไปไกล่เกลี่ยจนในที่สุดประธานาธิบดียอมสละอำนาจหลังจากครองมา 33 ปี แต่ ณ วันนี้สถานการณ์ในเยเมนมิได้เปลี่ยนไปมากนัก บางเผ่าไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่และยังรักษากองกำลังของตนไว้เช่นเดิม นานๆ จะเกิดการปะทะกันอีก ในพื้นที่ของเผ่าเหล่านั้น รัฐบาลกลางมักเข้าไปทำอะไรไม่ได้ เยเมนจึงยังตกอยู่ในสภาพกึ่งรัฐล้มเหลวเช่นเดิม

ในซีเรีย สงครามกลางเมืองยังดำเนินต่อไป กลุ่มต่อต้านรัฐบาลต้องการขับไล่ประธานาธิบดีซึ่งสืบทอดอำนาจจากพ่อมาเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว หลังจากพ่อของเขาครองอำนาจเผด็จการอยู่ 29 ปี สงครามกลางเมืองมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไปเพราะมหาอำนาจแยกกันสนับสนุนคู่กรณี รัสเซียสนับสนุนรัฐบาล ส่วนอเมริกาและพันธมิตรสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน อย่างไรก็ตาม แม้สงครามกลางเมืองจะยุติลงเร็วกว่าที่คาด แต่กลุ่มต่างๆ คงตกลงกันยากว่าจะร่วมกันปกครองอย่างไรเนื่องจากอุดมการณ์และพื้นฐานต่างกันมาก ผลสุดท้าย เมื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่พอใจก็จะจับอาวุธขึ้นมาขับไล่รัฐบาลอีก

ใน 5 ประเทศที่เล่ามานี้ ประชาชนลุกขึ้นสู้กับการบริหารบ้านเมืองของผู้นำเผด็จการซึ่งครองอำนาจมานานด้วยความฉ้อฉลและกดขี่อย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้น การเคลื่อนไหวในเมืองไทยจึงดูต่างออกไปจากในประเทศเหล่านั้น เนื่องจากรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งและเพิ่งครองอำนาจมา 2 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องความฉ้อฉลย่อมเป็นที่ยอมรับกันแล้วเมื่อภาคเอกชนออกมาประกาศว่าต้องเสียค่าใต้โต๊ะมากขึ้นจนถึงราวร้อยละ 30 ของราคาโครงการจึงจะได้งานของรัฐบาล นอกจากนั้น เผด็จการในไทยในปัจจุบันใช้วิธีที่ใช้กันในหลายประเทศ นั่นคือ หลีกเลี่ยงวิธีรุนแรงและกดขี่ที่มองเห็นง่าย หากใช้วิธีแยบยลกว่าไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สื่อ การเก็บภาษีและสวัสดิการสังคม นอกจากนั้นยังมีการโกงกระบวนการเลือกตั้งทั้งๆ ที่ปากพร่ำว่ายึดระบอบประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ The Dictator’s Learning Curve ของ William J. Dobson ซึ่งพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว

แม้การเคลื่อนไหวในเมืองไทยจะมีเหตุผลพอที่จะขับไล่รัฐบาลปัจจุบันออก แต่สิ่งที่จะตามมายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะต่างกับการโค่นรัฐบาลที่ผ่านๆ มาอย่างไร หากไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนรัฐบาลตามกระบวนการสมบัติผลัดกันชม อีกไม่นานสถานการณ์จะกลับไปเข้าอีหรอบเดิม ฉะนั้น ก่อนถึงวันที่จะไล่รัฐบาลกันจริงๆ ไม่ว่าจะผ่านการสวมหน้ากากหรือไม่ ผู้นำกลุ่มต่างๆ น่าจะมานั่งถกกันเสียก่อนว่าอะไรคือสิ่งต้องทำต่อไปหลังไล่รัฐบาลแล้ว จะยึดแนวไหนหรือของใครเป็นหลัก เนื่องจากประชาชนมักมีความคาดหวังสูงยิ่งกว่าสิ่งต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไปแบบทันตาเห็น ทั้งที่การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านไหนจะต้องใช้เวลานาน ถ้าอุดมการณ์ไม่มั่น แผนไม่เหมาะ ผู้นำไปแข็งแกร่งและมีความอึดสูง การไล่รัฐบาลนี้จะไม่ต่างกับการไล่เมื่อปี 2549 มิใช่หรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น