xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเชียงรายโวยลั่น ถูกลดจุดจำนำข้าวนาปรัง จาก 173 เหลือ 13 จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังหลายอำเภอของเมืองพ่อขุนฯ ฮือประท้วงหน้าศาลากลาง โวยถูกลดจุดรับจำนำจาก 173 จุด เหลือ 13 จุด ไม่คุ้มค่าขน สงสัยนักการเมืองเอี่ยวจัดสรรจุดรับจำนำข้าวให้ฐานเสียง

วันนี้ (7 พ.ค. 56) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ของ จ.เชียงราย โดยเฉพาะ อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง และ อ.เมือง รวมประมาณ 400 คน นำโดยแกนนำแต่ละพื้นที่ เช่น นายวิรัตน์ พรหมสอน ประธานเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จ.เชียงราย, นายเชษฐา วรพิทย์เบญจา รองประธานเกษตรกร จ.เชียงราย ผู้นำหมู่บ้านต่างๆ ฯลฯ ได้รวมตัวชุมนุมกันที่ศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการรับซื้อข้าวนาปรังจากชาวนา

กลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังครั้งนี้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (คขช.) กำหนดให้มีโรงสีซึ่งรับจำนำข้าวจากเกษตรกรทั่วจังหวัด ลดเหลือ 13 จุด จากปีก่อนกำหนดเอาไว้มากถึง 173 จุด ทำให้หลายพื้นที่เดือดร้อนเพราะต้องเสียค่าขนส่งไปจำนำไกล เช่น อ.เวียงชัย มีจุดรับจำนำใกล้ที่สุดอยู่ที่ อ.ป่าแดด ซึ่งห่างออกไปร่วม 50 กิโลเมตร ฯลฯ

นายวิรัตน์กล่าวว่า การชุมนุมของพวกเรายืนยันว่าไม่มีใครหนุนหลัง แต่ชาวนาเดือดร้อนล้วนๆ เพราะปลูกข้าวกันมาก และเกี่ยวกันไปได้แค่ประมาณ 10% แต่กลับมีที่ให้ขายน้อย หรือขายไม่ได้ เพราะโรงสีเอกชน 3 แห่ง ในพื้นที่อยู่นอกโครงการรับจำนำ ได้งดรับซื้อตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 56 ทำให้ชาวนาต้องขนข้าวไปขายไกลมากไม่คุ้มกับราคารับจำนำ โดยเฉพาะในรายที่ปลูกกัน 3-5 ไร่ ซึ่งไม่คุ้มที่จะขนไปจำนำ ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วเพราะชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าวกันมากขึ้น และฝนก็ตกทุกวัน หากมีลูกเห็บตกลงมาอีกผลผลิตก็จะเสียหายหาที่ขายไม่ได้

“เราสงสัยว่าการกำหนดจุดรับจำนำลงเกิดจากการจัดสรรจุดหรือโควตา ที่นักการเมืองจัดสรรใช่หรือไม่ เพราะพื้นที่ฐานเสียงน้อย ไม่มีการเปิดจุดรับจำนำ เราเรียกร้องให้มีการติดต่อกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ชาวบ้านเลือกเข้าไปให้ได้ เพื่อจะได้ออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน”

กลุ่มชาวนาได้ยื่นหนังสือเรียกร้องมีเนื้อหา 4 ข้อ คือ 1. ขอให้ผ่อนผันเปิดจุดรับจำนำที่ อ.เวียงชัย 2. ขอให้ชาวนาขายข้าวตามโควตาไร่ละ 1,000 กิโลกรัม จากเดิมกำหนดแค่ 700 กิโลกรัม 3. ขอให้ตรวจสอบภายใน 7 วัน กรณีชาวนาขายข้าวได้เกิน 500,000 บาท และ 4. ในระยะยาวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร จัดทำแผนช่วยเหลือชาวนา แทนที่จะฝากอนาคตไว้กับโรงสีข้าวและนายหน้าค้าข้าวเท่านั้น

ต่อมานายมนัส โสกันธิกา รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย, นายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัด จ.เชียงราย ได้เข้ารับเรื่องจากชาวบ้าน โดยนายชาติชายพยายามอธิบายให้ชาวบ้านว่า สาเหตุที่ คขช.ลดจำนวนจุดรับจำนำลงเนื่องจากพบข่าวมีการโกงเกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยมีการเพิ่มติมจำนวนข้าวส่วนเกินที่อาจจะมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไป ไม่ใช่ข้าวของชาวนาที่แท้จริง ขณะเดียวกันฝ่ายตรงกันข้ามทั้ง ป.ป.ช., สตง., พรรคการเมืองฝ่ายค้านต่างๆ ฯลฯ พยายามจะให้ยกเลิกโครงการรับจำนำ

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านหลายคนได้ลุกขึ้นแย้งว่า ปัญหาการทุจริตโกงกินภายในโครงการเกิดจากการบริหารจัดการของรัฐที่จะต้องเข้าไปแก้ไขกันเองภายใน ไม่ใช่พอเกิดปัญหาแล้วกลับมาลดจำนวนจุดรับซื้อจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

นายวิรัตน์ยังขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาดูแลเรื่องนี้ และแก้ไขปัญหาการโกงภายในโดยไม่ให้กระทบกับชาวบ้าน รวมทั้งอย่าอ้างเรื่องฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายค้าน เพราะไม่จำเป็นต้องกลัว แต่ควรกลัวชาวบ้านหรือชาวนาที่เป็นฐานเสียงมากกว่า

นายเชษฐากล่าวว่า ส่วนใหญ่ข้าราชการในศาลากลางจังหวัดเป็นคนของนักการเมืองทั้งนั้น จึงขอให้ประสานกับนักการเมืองที่มีบทบาทหน้าที่ในรัฐบาลด้วย อย่าปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะการที่เกิดปัญหาการโกงกินกันภายในแต่กลับมาแก้ผิดจุดด้วยการลดจำนวนจุดรับซื้อจากเกษตรกรถือว่าไม่ถูกต้อง

หลังจากนั้น จังหวัดฯ ได้ให้สำนักงานการค้าภายในชี้แจงกับชาวบ้านว่า ขณะนี้ จ.เชียงรายกำหนดให้มีจุดรับจำนำข้าวที่โรงสีต่างๆ จำนวน 13 จุดในพื้นที่ อ.เมือง อ.แม่จัน อ.แม่สาย อ.เชียงของ อ.พาน อ.แม่สรวย อ.ป่าแดด และ อ.เทิง โดยยกเลิกไม่ให้สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเข้ามาร่วมรับจำนำอีก จากเดิมในฤดูกาลนาปรัง 2554-2555 เคยกำหนดเอาไว้มากถึง 173 จุด

อย่างไรก็ตาม การจะเพิ่มจุดรับจำนำข้าวนั้น จังหวัดต้องรอรัฐบาลโดย คขช.ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 10 พ.ค. 56 ประกาศจุดรับจำนำเพิ่มเติม และต้องถือปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศด้วย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีการแสดงความเห็นกันเข้มข้นมากขึ้น โดยระบุให้ทางจังหวัดเร่งแก้ไขเพราะช่วงนี้มีฝนตกทุกวันและชาวนาไม่สามารถขนข้าวไปขายไกลๆ ได้

ท้ายที่สุด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ติดต่อไปยังผู้ประกอบการโรงสีข้าวทั้ง 3 แห่งของ อ.เวียงชัย ให้เปิดจุดรับซื้อชั่วคราวให้กับชาวนา เพื่อจะได้รับข้าวจากชาวนาไปก่อน แม้ว่าจะเป็นโรงสีนอกโครงการรับจำนำก็ตาม โดยให้ชาวนานำข้าวไปส่งไว้ เพื่อรอผลการประชุมของ คขช.ในวันที่ 10 พ.ค. 56 นี้ ส่วนข้อเสนออื่นๆ นั้นทางจังหวัดรับปากจะนำเสนอต่อที่ประชุม คขช. ทำให้กลุ่มชาวบ้านสลายตัว







กำลังโหลดความคิดเห็น