ข่าวปนคน คนปนข่าว
ปรากฏการณ์ “ไทยสปริง” ที่ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้าตำรวจราชสำนักประจำและอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ผนึกกำลังกับผู้ก่อการกลุ่มหนึ่งหวังกระตุ้นคนไทยลุกขึ้นสู้ รัฐบาลสามานย์ในคราบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่น่าจับตายิ่ง
ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่มีการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ก็ได้รายชื่อชาวเน็ตกว่าหมื่นคนที่เข้าร่วมปฏิเสธ คำปาฐกถาของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ มองโกเลีย หรือที่ถูกเรียกขานว่า “อูลาบันตอแหล”นั้น
นับเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างทรงพลัง ทำให้คนที่มีความรู้ทางการเมืองซึ่งปกติจะถูกเรียกว่า “นักเลงคีย์บอร์ด” ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในภาคปฏิบัติมากขึ้น และมีแนวโน้มว่ากำลังจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ด้วย
Thaispring หรือ “ดอกบัวแห่งการตื่นรู้” เพื่อปลุกคนไทยลุกขึ้นสู้กับ ระบอบทักษิณที่ยังตามหลอกหลอนคนไทยไม่จบไม่สิ้น แม้กระทั่งในวันที่น้องสาวมีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมิได้มีสำนึกที่จะทบทวนความดีชั่วของตัวเองเพื่อใช้เป็นบทเรียนในการก้าวเดินด้วยคุณธรรม
ตรงกันข้ามกลับนำพาประเทศชาติตกต่ำในทุกด้านทั้ง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ศีลธรรม จรรยา ซึ่งถือว่าอยู่ในยุคเสื่อมถอยมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย
เราได้เห็นผู้นำหญิงเข้าโรงแรมไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเวลาราชการ ท่ามกลางข้อครหาทั้งเรื่องคาวและความฉาวเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน
คนเลวได้ดี มียศศักดิ์ คนดีถูกเหยียบย่ำ เบียดออกจากสังคม
สื่อมวลชนบางสำนักไม่ทำหน้าที่เพื่อประชาชน แต่เลือกที่จะเป็นขี้ข้าร่วมกับคนชั่วทำร้ายแผ่นดินเกิดของตัวเอง
เกิดความสั่นคลอนต่อกระบวนการยุติธรรมครั้งรุนแรงที่สุด จากความพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ทักษิณ พ้นผิดทุกคดี หวังปล้นเงินชาติ 4.6 หมื่นล้านให้คนผิด
ในสภาวะที่ “รัฐบาลคือตัวปัญหา เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ย่อมสร้างความคับแค้นให้กับประชาชนที่รักความถูกต้องอย่างยิ่ง
และความคับแค้นนั้นก็ถูกระบายออกผ่านโลกออนไลน์อย่างเข้มข้นมากขึ้นทุกที
“รัฐบาลควรทบทวนบทบาทของตัวเองที่คิดว่าไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง แต่นายกฯ ไม่รู้จะคิดออกหรือไม่ แต่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะคิดออก ถ้าเกิดยังดึงดันในท่าที่อย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปรากฏการณ์ไทยสปริงก็คงจะนำไปสู่เหตุการณ์อื่น เช่นเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริงที่มีคนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้”
คำกล่าวของ พล.ต.อ.วสิษฐ ที่เปรียบเทียบ “ไทยสปริง” กับ “อาหรับสปริง” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในเวลาอันใกล้นี้ เพราะคนดีที่ถูกคนชั่วกดหัวมานานเริ่มลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้แล้ว
อาวุธในที่นี้ไม่ได้หมายถึง จรวดอาร์พีจี ที่ถูกใช้ในการยิงวัดพระแก้ว และไม่ใช่อาวุธสงครามใด ๆ เหมือนที่กองกำลังติดอาวุธนำมาใช้ในการชุมนุมที่ผิดกฎหมายของคนเสื้อแดง จนนำไปสู่การเผาบ้าน เผาเมือง
แต่อาวุธที่ว่านั้นคือ “ปัญญา” ตามความ “ถนัด” และ “ความสามารถ” ของแต่ละคน ซึ่งกำลังมีการใช้ผ่านโลกโซเชียลมีเดียอย่างทรงพลังและสร้างสรรค์ยิ่ง
จะเห็นได้ว่า เพียงแค่คำสั้น ๆ ของ ชัย ราชวัตร การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง ผู้มากความสามารถที่ว่า “กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” ก็สะเทือนเลือนลั่นออกจากเฟซบุ๊คไปเขย่าเก้าอี้ ยิ่งลักษณ์ให้ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที
กระทั่งวันนี้ “ยิ่งลักษณ์” ยังหนีภาพพจน์ตามวลีดังกล่าวไม่หลุด
มีคนเด่น คนดังมากมาย ใช้เฟซบุ๊คแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลมากขึ้น และมีทีท่าจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ ไม่ง้อสื่อหลักที่ไร้ความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง
เพราะวันนี้แตกต่างไปจากอดีต ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของสื่อ สามารถกำหนดประเด็นที่แหลมคมเพื่อสร้างทิศทางให้กับบ้านเมืองได้ จนกระทั่งสื่อหลักยังหนีกระแสจากโซเชียลมีเดียไม่ได้
น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เราจะเห็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน ใช้เฟซบุ๊คในการสร้างปัญญาให้กับประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ไปจนถึงอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้ เฟซบุ๊คส่วนตัวให้แง่มุมในทางกฎหมายได้อย่างชัดเจน และวิเคราะห์พฤติกรรมการบริหารที่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้อย่างตรงไปตรงมาและแหลมคมยิ่ง
ข้อความในเฟซบุ๊คของอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาท่านี้ จึงถูกส่งผ่านจากโลกออนไลน์ไปยังหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ กระทั่งบางครั้งกลายเป็นพาดหัวด้วยซ้ำไป
เหตุการณ์ 'อาหรับ สปริง' อันลือลั่น มีจุดเริ่มต้นจากประเทศตูนิเซีย และลุกลามกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาค จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ
พลังของประชาชนที่ออกมาโค่นล้ม ประธานาธิบดีซิเน่ อัล-อะบิดีน เบน อาลี วัย 74 ปี ซึ่งครองตำแหน่งผู้นำประเทศตูนิเซียมานานถึง 23 ปีให้ลงจากตำแหน่งนั้น จุดเริ่มการโค่นอำนาจเผด็จการตูนิเซียเกิดจากชายขายผักที่ประท้วงรัฐบาลด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง กระทั่งเหตุการณ์ประท้วงลุกลามไปทั่ว มีประชาชนหลากหลายสาขาวิชาชีพออกมาร่วมต่อต้าน กระทั่งประธานาธิบดีเบน อาลี ต้องหนีออกนอกประเทศ
เหตุการณ์จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตูนิเซีย ถูกนำมาตีแผ่เป็นข่าวใหญ่ในอียิปต์ และประชาชนจำนวนมากใช้ช่องทางของโซเชียล มีเดีย เพื่อนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และความยากจนได้ กระทั่งนำไปสู่การประท้วง มีชาวอียิปต์กว่า 1,000,000 คน ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ก้าวลงจากตำแหน่ง
ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยัง ลุแก่อำนาจ ไร้ธรรมาภิบาลในการบริหาร มูมมาม โกงกิน ไม่กลัวนรกสูบ มุ่งทำลายระบบของบ้านเมืองต่อไปโดยไม่รู้สำนึก
โอกาสที่รัฐบาลซึ่งมีความแข็งแกร่งด้านคะแนนเสียงในสภา มีข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองว่ามาจากการเลือกตั้งแต่บริหารประเทศแบบเผด็จการ จะล้มลง เพราะขั้วอำนาจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นจากโลกโซเชียลมีเดียก็ใกล้มาถึงเต็มที