xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละงบปี57คนไทยอ่วม ค่าครองชีพพุ่ง ดีเซลจ่อขยับ-แก๊สขึ้นราคากระฉูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ชำแหละงบปี 57 โบว์ดำรัฐบาลดันค่าครองชีพสูงขึ้น คนไทยอ่วมจ่ายค่าน้ำมันแพงแน่ เหตุรัฐเตรียมรีดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 1.50 บาท เริ่มต.ค.นี้ ต่อด้วยขึ้นค่าแก๊สหุงต้มปีหน้าอีก 10 บาทต่อก.ก. "โต้ง"ยอมรับหนี้ครัวเรือนเพิ่ม แต่จะไม่ทิ้งคนมีรายได้น้อย "ทนุศักดิ์" อ้างขึ้นภาษีไม่กระทบราคาน้ำมัน ยันราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท "เพ้ง"อ้อนคลังคงภาษีถึงสิ้นปี หวังดึงเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้ถึง 2 หมื่นล้าน ไว้ใช้แก้วิกฤตน้ำมันแพง

ที่รัฐสภา วานนี้ (29 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ถึงการทำงบประมาณขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อน 5 หมื่นล้านบาท ว่า จะเป็นภาระของประชาชนและเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลเคยแถลงและหาเสียงเอาไว้ว่าจะกระชากค่าครองชีพของประชาชนลงมา ยกเลิกกองทุนน้ำมัน วันนี้เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี คำว่า แพงทั้งแผ่นดิน ติดหูติดปากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ

"ของขวัญที่ประชาชนจะได้รับจากการขาดดุลน้อยลง 5 หมื่นล้านบาท คือ จะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในเดือนต.ค.2556 ลิตรละ 1.50 บาท หมายความว่าประชาชนที่ใช้น้ำมันดีเซลจะจ่ายเพิ่มขึ้น 1.50 บาท สิ่งที่จะตามมา คือ น้ำมันดีเซลจะสูงเกิน 30 บาท จะมีการขึ้นราคาค่าขนส่งและสินค้า เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ในแต่ละปี มีการใช้น้ำมันดีเซลราว 2 หมื่นล้านลิตร ดังนั้น เมื่อเพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท ก็เท่ากับประชาชนต้องจ่ายเพิ่มในส่วนนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท"

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ของขวัญชิ้นต่อมาที่ประชาชนต้องรับภาระเพื่อประหยัดเงินของรัฐบาล คือ การขึ้นราคาแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน ซึ่งมีการเลื่อนมาโดยลำดับ พวกตนยืนยันว่าแก๊สหุงต้มเป็นความจำเป็นในชีวิตและประชาชนใช้ไม่มากกว่าปริมาณแก๊สที่นำขึ้นมาจากทรัพยากรของชาติ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ในราคาที่ขายให้คนอื่น แต่ควรใช้ในราคาต้นทุน แต่รัฐบาลจะปรับให้เท่ากับภาคขนส่ง และปรับให้เท่าภาคอุตสาหกรรม คือ 30 บาท ต่อกิโลกรัม (ก.ก.) โดยทยอยขึ้น หมายความว่าปีหน้าประชาชนต้องจ่ายค่าแก๊สแพงขึ้น 10 บาทต่อก.ก. ซึ่งในแต่ละปีประชาชนใช้ประมาณ 3,000 ล้านกิโลกรัม เท่ากับต้องจ่ายเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รวมกับที่ประชาชนต้องจ่ายค่าน้ำมันดีเซลเพิ่ม เท่ากับประชาชนมีภาระเพิ่ม 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น แนวทางการบริหารด้านการคลังของรัฐบาลไม่ได้เอาใจใส่กับความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ใช้หลักคิดงบประมาณด้วยการเอาเงินไปให้ประชาชนกู้แล้วเป็นหนี้ ทำให้เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวชี้แจงระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2557 ว่า ยอมรับว่าแนวคิดของรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลในอดีตไม่ตรงกันจริง แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็งเพื่อไม่ให้มีหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี โดยยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนต่อรายได้เพิ่มสูงขึ้นจริงจาก 0.74% เป็น 0.82% แต่ถ้ามองย้อนกลับไปทุกปีก็พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2551 อยู่ที่ 0.58% ปี 2552 ขึ้นเป็น 0.65% ปี 2553 เพิ่ม 0.67% ปี 2554 อยู่ 0.74% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนครั้งล่าสุดเป็นหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สำคัญของชีวิต คือ บ้านและรถยนต์ ซึ่งทรัพย์สินส่วนนี้จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนการประเมินรายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ไม่ได้เป็นตัวเลขที่แสดงนัยยะในการจะจัดเก็บภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การเพิ่มมาตรการภาษีบางประการ ก็เพื่อประโยชน์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การเพิ่มภาษีสรรพสามิตบางประเภท ก็เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภค

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ขณะที่ปัญหาการดูแลค่าครองชีพ โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันดีเซล ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดูแลให้ราคาขายปลีกมีเสถียรภาพอย่างดี และผู้ประกอบการภาคขนส่งมีความมั่นใจจนกำหนดอัตราค่าบริการต่างๆ ที่มีเสถียรภาพที่ดีได้ การดำเนินการในส่วนนี้ ได้ดูแลให้กองทุนน้ำมันอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพ แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐบาลจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา ก็อาจจะทะยานขึ้นไป เพราะจะกระทบต่อสินค้าที่อาจสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาแก๊สหุงต้ม สาเหตุที่รัฐบาลลดการอุดหนุนก็เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงต้นทุนที่แท้จริง

"ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการทอดทิ้งประชาชนที่มีรายได้น้อย แต่ต้องการให้ตระหนักถึงภาวะต้นทุนและเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยแม้จะมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลก็มีนโยบายการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนควบคู่กันไปด้วย"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง กล่าวเสริมว่า รัฐบาลจะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันจริง แต่ไม่ใช่การขึ้นราคาน้ำมัน เพราะประชาชนยังสามารถใช้น้ำมันในราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท และปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันพ้นจากการติดลบแล้ว โดยในอีก 4 เดือนนับจากนี้จะมีเงินไหลเข้ากองทุนมาตลอดในอัตรามากกว่าลิตรละ 1.50 บาท การเก็บภาษีน้ำมัน 1.50 บาทจะเกิดประโยชน์ 3 ฝ่าย คือ 1.รัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้น 2.สามารถจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้มากขึ้น 3.ประชาชนได้ใช้น้ำมันดีเซลในราคาลิตรละไม่เกิน 30 บาท

***สรรพสามิตพร้อมทำตามรัฐบาล

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจะปรับขึ้นภาษีเมื่อใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล กรมสรรพสามิตเพียงเตรียมข้อมูลไว้นำเสนอเท่านั้น และเห็นว่าการปรับขึ้นในอัตราลิตรละ 1.50 บาท มีความเหมาะสม เนื่องจากเอาราคาขายปลีกไม่เกินราคาลิตรละ 30 บาทเป็นตัวตั้ง โดยหากมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในเดือนต.ค. ก็จะทำให้กรมฯ มีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้นเดือนละ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งคำนวณจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในแต่ละเดือน ที่อยู่ในระดับ 1.7 พันล้านลิตร หรือทั้งปีก็น่าจะมีเงินเข้ามาอีกอย่างน้อย 2.5 หมื่นล้านบาท โดยภาษีที่เข้ามานั้น จะเข้าไปอยู่ในงบประมาณรายจ่ายปี 2557 ที่จะเริ่มในเดือนต.ค. เนื่องจากปีนี้ รายได้ที่กำหนดไว้ได้คำนวณจากการไม่มีการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลไว้แล้ว

“มองว่าช่วงดังกล่าวน่าจะมีความเหมาะสม เนื่องจากองทุนน้ำมันฯ มีหนี้เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย และกำลังจะกลับมามีฐานะเป็นบวก ขณะที่ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนประมาณ 3.6 บาทต่อลิตร หากจะลดการนำส่งเงินเหลือเพียง 2 บาทก็ไม่น่าจะกระทบฐานะของกองทุน จึงเป็นเพียงการโยกเงินจากองทุนน้ำมันมาเป็นเงินภาษีแทนเท่านั้น ขณะที่ประชาชนยังซื้อน้ำมันดีเซลในราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทเท่าเดิม ประกอบกับขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย” นายสมชายกล่าว

***"เพ้ง"อ้อนคลังคงภาษีสรรพสามิตไปก่อน

นายพงศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวว่า เร็วๆ นี้ จหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อที่จะสรุปแนวทางมาตรการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันรัฐบาลลดให้ 5.30บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาดีเซลขายปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ให้เกิน30บาทต่อลิตร โดยเห็นว่าควรจะยังคงนโยบายดังกล่าวต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี แม้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคาดว่าจะกลับมามีฐานะเป็นบวกได้ในวันที่ 7มิ.ย.นี้ เนื่องจากเห็นว่ายังจำเป็นต้องสะสมเงินเข้ากองทุนฯ อีกอย่างน้อย2หมื่นล้านบาทเพื่อไว้ดูแลราคาน้ำมันช่วงสิ้นปีที่ปกติจะมีราคาสูงโดยเฉพาะดีเซล

“ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิติดลบอยู่ประมาณ 2,024 ล้านบาท มีรายได้เฉลี่ย 196 ล้านบาทต่อวัน ก็คิดว่าถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยน น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ 7 มิ.ย.นี้ แต่กองทุนน้ำมันฯ เองควรจะมีเงินสะสมไว้บ้าง เพื่อที่จะได้เอาไว้ดูแลราคาน้ำมันช่วงที่แพง โดยเฉพาะปกติน้ำมันโลกจะสูงช่วงสิ้นปี ก็คิดว่าควรจะมีไว้ 2 หมื่นล้านบาท การสะสมก็น่าใช้เวลาอย่างน้อย 120 วัน คิดว่าภาษีดีเซลก็น่าจะยังตรึงต่อจนถึงสิ้นปี หลังจากนั้นปีหน้าค่อยมาพิจารณาจัดเก็บได้ และจังหวะนั้น ก็น่าจะลดการเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ ลงมาได้เช่นกัน ก็จะทำให้การขึ้นภาษีฯ ไม่กระทบราคาขายปลีก”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

***ขู่ใช้ไฟแพงถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายพงษ์ศักดิ์ยังกล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง "วิกฤตพลังงานไฟฟ้า ปัญหาและแนวทางแก้ไข” จัดโดยสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า กรณีไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมืองว่าจะไปผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับไทย เนื่องจากข้อเท็จจริงขณะนี้ไทยผลิตไฟจากก๊าซธรรมชาติ 62% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วยังใช้เฉลี่ยไม่เกิน 40% ที่เหลือก็หันไปพึ่งถ่านหินและอื่นๆ กรณีการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟทั้ง ลม น้ำ แสงแดด ก็ต้องทำควบคู่ไป แต่ต้องยอมรับว่าค่าไฟจากพลังงานทดแทนจะแพงกว่าเชื้อเพลิงอื่นเกือบเท่าตัวประชาชนจะยอมรับได้หรือไม่

ปัจจุบันประเทศไทยมีค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ยที่เก็บอยู่ 3.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับสหรัฐฯ มาก ทั้งที่ไทยมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า และหากปล่อยให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าพึ่งก๊าซฯ สูงขึ้น และนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น จะทำให้ค่าไฟของไทยในอีก 4-5 ปีข้างหน้าขยับไปสู่ 6 บาทต่อหน่วยได้ กระทรวงพลังงานจึงเห็นว่าถ่านหินเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในช่วงนี้ เพราะสามารถนำมาสต็อกได้กรณีฉุกเฉิน และจะสามารถนำมาถ่วงดุลราคาค่าไฟกับพลังงานทดแทนที่รัฐบาลเองก็จะส่งเสริมควบคู่กันไป ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเปิดส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคาร บ้านเรือน ซึ่งกำลังดูหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่โดยเฉพาะการติดตั้งไม่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4

“ผมได้มีโอกาสไปชี้แจงกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับกรณีปัญหาไฟดับภาคใต้ สส. ภาคใต้ส่วนใหญ่ ก็เห็นด้วยที่จะให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อความมั่นคง รวมถึงราคาที่ถูก เพื่อที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยอนาคต มีศักยภาพการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน คนคัดค้านนั้น มีส่วนน้อย แต่ผมเองเห็นว่าแม้คนคัดค้านมีแค่คนเดียว แต่เขามีเหตุผลก็จะต้องฟัง”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ได้เสนอแนะไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือเรกูเลเตอร์ให้พิจารณาทบทวนอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนรอบโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าในส่วนของนิวเคลียร์ว่าควรจะให้มากประมาณ 7 สตางค์ต่อหน่วย ก็จะทำให้ประชาชนยอมรับได้มากขึ้นในอนาคต เพราะส่วนตัวมองว่านิวเคลียร์คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในยุคของตนได้ แต่ก็ยังเห็นว่าอนาคตไทยเองก็อาจจะต้องมองไว้บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น