xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เตรียมเก็บภาษีดีเซลเพิ่ม 1.50 บาท ยันไม่ทำราคาขายปลีกเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย
“คลัง” เตรียมเก็บภาษีสรรพสามิต “ดีเซล” เพิ่มอีก 1.50 บาท ยันไม่ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลปรับเพิ่มขึ้น “พลังงาน” แย้มอีก 4 เดือนปล่อยขึ้นแน่ภายใต้เงื่อนไขกองทุนน้ำมันฯ พลิกกลับเป็นบวก และจัดเก็บสะสมถึงระดับ 2 หมื่นล้านบาท ปัดฝุ่นแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า เดือน ต.ค.2556 กรมสรรพสามิตจะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 1.50 บาท ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อราคาขายน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น เพราะยังคงขายน้ำมันดังกล่าวในราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเช่นเดิม

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีดีเซล 1.5 บาทต่อลิตร ทำให้มีรายได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท/เดือน โดยปัจจุบัน ภาษีดีเซลจัดเก็บที่ 0.005 บาท/ลิตร ลดลงจากที่เคยจัดเก็บ 5.31 บาท/ลิตร ซึ่งการลดภาษีดีเซลต้องเสนอ ครม.ต่ออายุในลักษณะเดือนต่อเดือน ล่าสุด จนถึง 30 มิ.ย.2556

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ระดับ 0.005 บาทต่อลิตรนั้น ไปจนกว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีฐานะที่น่าพอใจ ซึ่งจำนวนเท่าไหร่นั้นจะหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่าควรจะมีจำนวนเท่าไร แต่คาดว่าไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาจัดเก็บประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน นับจากวันที่ 7 มิ.ย.2556 ที่กองทุนฯ เริ่มเป็นบวก และหลังจากนี้จะเริ่มทยอยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลได้เพิ่มขึ้น

ส่วนปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเปราะบางในระบบไฟฟ้าของไทยที่เกิดขึ้นมานาน ซึ่งเกิดจากการกระจายเชื้อเพลิงไม่เหมาะสม มีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และเกิดการต่อต้านในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เนื่องจากประชาชนขาดความเข้าใจเรื่องพลังงาน และกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการต่อต้านจากการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิง มาเป็นการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีมาตรฐานต่ำ และโรงไฟฟ้าที่มีจุดเสี่ยงในการปล่อยมลพิษ

ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะต้องไม่มองเพียงแค่การมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ แต่จะต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วย เพราะถ้าไทยไม่เปลี่ยนโครงสร้างเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ยังคงใช้ก๊าซฯ เป็นหลัก จะทำให้ภายใน 4-5 ปี ค่าไฟฟ้าของไทยจะทะลุไปที่ 5 บาทต่อหน่วย ขณะที่โรงไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ จะมีค่าไฟฟ้าถึง 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากไทยปรับเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเป็นหลัก รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ และส่งเสริมพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ ก็จะช่วยเฉลี่ยค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับไม่เกิน 4 บาท ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมยังคงศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ และค่าครองชีพประชาชนไม่สูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถ้าไม่นับพลังงานน้ำแล้ว ถ่านหินจะมีต้นทุนต่ำสุด รองลงมาเป็นนิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น