xs
xsm
sm
md
lg

กติกาสังคม : กฎที่ทุกคนในสังคมต้องทำตาม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในทางสังคมวิทยาถือว่าคนเป็นสัตว์สังคม (Social Animal) คือรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นเมือง และเป็นประเทศ ในทำนองเดียวกับสัตว์ที่รวมกันอยู่เป็นฝูง

แต่ถึงแม้ว่าคนเป็นสัตว์ในทางสังคมวิทยา แต่ในทางจริยศาสตร์คนมีข้อแตกต่างจากสัตว์ในด้านหลัก คือ

1. ทางด้านร่างกาย คนมีโครงสร้างร่างกายสูงขึ้นในแนวดิ่งของโลก ส่วนสัตว์มีโครงสร้างร่างกายยาวไปตามแนวนอนขนานกับพื้นโลก หรือถ้าจะพูดตามนัยแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนาว่า ดิรัจฉาน หรือเดรัจฉาน แปลว่า ไปทางขวาง ซึ่งเป็นที่มาของคำด่าคนชั่ว คนเลวว่าเป็นคนขวางโลก อันหมายถึงเป็นสัตว์นั่นเอง

2. ทางด้านจิตใจ คนใช้เหตุผล หลักการ คุณธรรม และจริยธรรม ควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย และวาจา ส่วนสัตว์มีเพียงสัญชาตญาณเท่านั้นควบคุมพฤติกรรม

ด้วยเหตุที่คนต่างจากสัตว์ในทางด้านจิตใจนี้เอง ทำให้สังคมของคนมีการพัฒนาเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านเมื่อกาลเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดกติกาขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้คนในสังคมให้อยู่รวมกันอย่างสงบสุข

กติกาทางสังคมของคนในยุคต้นเริ่มจากการมีความเชื่อร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ลัทธิ และความเชื่อในยุคแรกได้แก่ความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณประจำธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งสัตว์บางชนิด ความเชื่อในลักษณะนี้นักวิชาการด้านศาสนาเรียกว่า วิญญาณนิยม และความเชื่อในเรื่องทรงเจ้าเข้าผีก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกันนี้

จากความเชื่อดังกล่าวแล้ว ทำให้เกิดประเพณีเซ่นไหว้เพื่อขอพรเพื่อให้ได้สิ่งต้องการ รวมไปถึงขอให้ช่วยป้องกันภัยต่างๆ ด้วย ในทางกลับกัน ถ้าใครคนใดคนหนึ่งไม่เคารพนับถือ แสดงพฤติกรรมลบหลู่ในสิ่งที่ผู้คนเชื่อถือ ก็จะถูกลงโทษตามกติกาที่กำหนดไว้ มีตั้งแต่ถูกประณาม ขับไล่ออกจากหมู่ ไปจนถึงการทุบตีขว้างปาด้วยก้อนหินไปจนถึงเผาทั้งเป็น จึงทำให้ทุกคนในสังคมเกรงกลัวและปฏิบัติตาม จึงเรียกได้ว่าความเชื่อในลักษณะนี้เกิดจากความกลัว และดำรงอยู่ด้วยความกลัว

เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนได้เจริญขึ้น มีการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมากขึ้น จึงทำให้ความเชื่อที่ว่านี้เสื่อมลง และได้เกิดลัทธิบูชาเทพเจ้าประจำธรรมชาติต่างๆ เช่น เทพเจ้าในศาสนาประจำฝนเรียกพระพิรุณ และประจำไฟเรียกพระอัคคี หรือพระอัคนี เป็นต้น และมีการเซ่นไหว้เพื่อขอพรและอ้อนวอนให้ช่วยปกป้องภัย ในทำนองเดียวกัน ทั้งมีบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดหรือล่วงละเมิดต่อเทพเจ้าเช่นเดียวกัน แต่การลงโทษได้เปลี่ยนไปบ้าง จากที่ถูกผู้คนลงโทษกลายมาเป็นลงโทษทางใจคือถือว่าเป็นบาป และผลของบาปจะทำให้ผู้กระทำบาปต้องไปรับโทษในภพภูมิต่อไป เช่น ไปเกิดในนรก เป็นต้น

จากยุคลัทธิความเชื่อก็ได้พัฒนามาเป็นศาสนา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ประเภทที่เชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลก และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกรวมถึงจักรวาลด้วย (Thusm)

2. ประเภทที่ถือว่ามีพระเจ้า (Thusm) ผู้สร้างโลกและทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ถือว่าสรรพสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัยรวมกันอย่างถูกส่วนจึงทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น และเมื่อปัจจัยที่ว่านี้แยกออกจากกันก็ทำให้สิ่งนั้นดับลง

ทั้งศาสนาประเภทเทวนิยม (Thusm) และอเทวนิยม (Athusm) ต่างก็มีคำสอนที่สาวกหรือผู้นับถือ ยึดถือเป็นกติกาในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม และถ้าใครคนใดคนหนึ่งไม่ทำตามก็ถือเป็นบาป และมีบทลงโทษทางใจ และทางสังคม เช่น ถูกติเตียน ประณาม ไม่คบค้าสมาคมด้วย เป็นต้น

กติกาสังคมซึ่งแต่ละศาสนากำหนดขึ้นในยุคที่ผู้คนในสังคมเคร่งครัด และเกรงกลัวต่อบาปเป็นส่วนใหญ่ สังคมก็สงบและเป็นระเบียบ

แต่เมื่อโลกเจริญทางวัตถุเพิ่มขึ้น และปรัชญาที่ยึดถือเป็นครรลองในการดำเนินชีวิตได้เปลี่ยนจากจิตตนิยม (Idealism) มาเป็นวัตถุนิยม (Materialism) มากขึ้น กติกาสังคมที่ได้จากคำสอนของศาสนาไม่เพียงพอที่จะควบคุมให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้ ก็ได้เกิดกติกาใหม่ขึ้นมา นั่นคือ กฎหมายของบ้านเมือง และมีการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่มีผู้รักษากฎหมายเป็นผู้กำกับดูแลการใช้กติกา เป็นผู้ชี้ขาดว่าอะไรผิด อะไรถูก และควรจะลงโทษผู้กระทำผิดอย่างไร และสถานใดบ้าง

โดยนัยนี้ กฎหมายก็คือศีลธรรมทางศาสนาที่แปรรูปเป็นกฎหมายนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีกฎหมายแล้วศีลธรรมในทางศาสนาก็ยังมีความจำเป็นในการใช้ควบคู่กันไป เพื่อยับยั้งให้คนสำนึกและทำผิดได้ยากขึ้น เพราะมโนธรรมคอยห้ามใจไม่ให้ฝักใฝ่ในทางเลว

จากที่บอกมาแต่ต้นจะเห็นได้ว่ากติกาที่ผู้คนในสังคมต้องเคารพ และทำตามอยู่ในปัจจุบันนี้ได้พัฒนามาตลอดผ่านกาลเวลาอันยาวนาน และรอบคอบขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามกิเลสของคนที่หยาบขึ้นทุกวัน

ถ้าจะดูว่าคนในปัจจุบันดีหรือเลวมากกว่ากันก็ให้ดูที่กฎหมาย ถ้าประเทศใดมีกฎหมายมาก และลงลึกถึงรายละเอียดมากนั้น ก็แปลว่าคนในสังคมนั้นเห็นแก่ตัวและทำชั่วด้วยความแยบยลเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าใครสักคนในสังคมไม่เคารพกติกา ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แต่กลับบอกว่ากติกาไม่เป็นธรรม ขอให้เข้าใจได้เลยว่านั่นคือคนเห็นแก่ได้ และปฏิเสธที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการคิดแก้กติกาที่ตนเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาประโยชน์ของตนเอง และคนประเภทนี้เรียกได้ว่า คนขวางโลก โดยแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น