xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.ไม่รับตีความแก้ม.190

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 16 พ.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ นายบวร ยสินทร และคำร้องที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา 315 คนดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เข้าข่ายเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นคนละกรณีกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงไม่มีมูลกรณีที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
แต่ทั้งนี้ในส่วนคำร้องของนายวรินทร์ ยังได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องที่ผู้ถูกร้องทั้งหมดกระทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ด้วย โดยส่วนนี้ คณะตุลาการเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีมติให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับที่สมาชิกวุฒิสภา 15 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาแล้ว นายพิมล กล่าวว่าคณะตุลาการได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวและสั่งให้รวมไว้ในสำนวนแล้ว ซึ่งในช่วง 1 สัปดาห์นี้ คณะตุลาการจะศึกษาว่าคำร้องกรณีดังกล่าวที่มีเข้ามาทั้งหมดนั้นมีลักษณะเดียวกันสามารถนำมารวมพิจารณาได้หรือไม่ และจะมีคำสั่งออกมา

**15 ส.ว.ยันไม่ได้แหกมติ 312 ส.ส.-ส.ว.

พล.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในส.ว.จำนวน 15 คน ที่ได้ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำหน้าหน้าที่ของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คน ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ว่า เป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ กล่าวว่า การชี้แจงดังกล่าวไม่ได้เป็นการแหกมติของ 312 ส.ส. -ส.ว. แต่วุฒิสภามีความเป็นอิสระ เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ต้องทำตามมติใคร อีกทั้งการชี้แจงก็เพื่ออธิบายต่อศาลว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการแก้มาตรา 68 และ 237 เพราะมีความไม่ชัดเจน ต้องตีความ ซึ่งต้องเขียนให้ชัดว่า การพิทักษ์รัฐธรรมนูญต้องยื่นผ่านอัยการ หรือยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนที่เป็นมา ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้รักษากฎหมายมาก่อน หากมีความชัดเจนในการยื่น ก็ไม่ต้องตีความให้ยาก ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด และเท่าที่ทราบตอนนี้กรรมาธิการ(กมธ.) แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ก็พิจารณาก้าวหน้าไปมาก มีความเห็นว่าให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุด แต่หากไม่ดำเนินการใน 30 วัน ก็ให้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้เปิดศึกกับใคร

**แก้ม.190 เร่งหาข้อยุติด้านสิ่งแวดล้อม

ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทย ที่มี นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในถ้อยคำวรรคสอง ตามร่างของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ประเด็น “หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ ในการคุ้มครองหรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน ที่มิใช่เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรหาถ้อยคำให้กระชับ ไม่กว้างขวางจนเกินไป
นายเกียรติ สิทธีอมร กรรมาธิการ เสนอให้เติมถ้อยคำในวรรคสองว่า “ที่จะต้องออกพระราชบัญญัติหรือมีบทเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองหรือจัดการภายในประเทศ”แทนการระบุถ้อยคำสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน เนื่องจากมองว่าเนื้อหาจะครอบคลุมและมีความชัดเจนมากกว่า
ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ กรรมาธิการ กล่าวว่า การจะระบุถ้อยคำเพิ่มเติมสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงานหรือไม่นั้นก็เหมือนกัน เพราะสุดท้ายก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้นหากถ้อยคำดังกล่าวไม่ฟุ่ยเฟือยจนเกินไปเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการพิจารณาตามวรรคสองยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมายลูกอีกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น