xs
xsm
sm
md
lg

เวรคืนตลาดประตูน้ำ ชาวชุมชน..รอคำตอบ ขอพัฒนาเองสู้กลุ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ ณ ปัจจุบันของตลาด"เฉลิมลาภ" หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในนาม "ประตูน้ำมาร์เก็ต"ขณะนี้ถ้าจะเปรียบเปรยก็ต้องบอกได้ว่ากำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ก็ไม่น่าจะผิดเพี้ยนไปนัก เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันอย่างดีของชาวชุมชนตลาดประตูน้ำมาพักใหญ่แล้วว่า ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหาษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สัมปทานของที่ดินบริเวณนี้ ได้ส่งหนังสือขอยุติสัญญาเช่าและขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเมืองในปัจจุบันและอนาคตและให้ย้ายออกภายใน17ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่องชาวตลาดเฉลิมลาภประตูน้ำกว่าพันชีวิตเลยทีเดียว
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ชาวชุมชนตลาดประตูน้ำยังต้องยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่สุดก็คือ การเวนคืนตลาดประตูน้ำครั้งนี้ชาวชุมชนไม่ไดรับการบอกกล่าวให้ทราบมาก่อนว่าจะมีการขอคืนที่ดินบริเวณนี้ แต่กลับให้มีกลุ่มทุนและนักธุรกิจที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับสำนักงาน เพื่อได้สิทธิในการเข้าทำประโยชน์บนที่ดินตลาดประตูน้ำ ซึ่งชาวชุมชนเห็นว่าขัดกับหลักการและนโยบายของสำนักงานที่มีมาเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาคณะกรรมการชุมชนตลาดประตูน้ำได้หาทางออกโดยการยื่นแผนเพื่อขอพัฒนาตนเองมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้ที่อยู่เก่าได้อยู่ค้าขายกันต่อโดยไม่มีผลประโยชน์ อีกทั้งคณะการชุมชนเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหาผลประโยชน์ จึงยังมีความหวังว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ตรงข้ามกับ กลุ่มทุนและนักธุรกิจที่จะเข้ามาย่อมจะหาผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีที่สุดเป็นหลัก จึงจะทำให้พื้นที่มีราคาสูงเกินจริง
ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ใช่ว่า ทางคณะการชุมชนประตูน้ำจะไม่ได้ทำอะไรเลยเสียทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาได้ดิ้นรนหาทางออกที่จะลงตัวกับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ มาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556ได้ไปยื่นแนวทางที่ 1 เรียบร้อย จนวันที่ 22 มีนาคม 2556 ทางสำนักงานส่วนทรัพย์สินได้ติดต่อให้เข้าไปหารือตอบข้อซักถามต่อแผนพัฒนาตนเอง ต่อนายธนา คชาไพร หัวหน้ากองโครงการธุรกิจ และได้ตอบข้อซักถามถึงแนวคิดและแนวทางของแผนพัฒนาตัวเอง จนครั้งล่าสุดได้ยื่นแผนพัฒนาตัวเองไปอีกครั้งเมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา
นายวีระศักดิ์ สุศรวัสวงศ์ ประธานคณะกรรมการชุมชนตลาดเฉลิมลาภ ประตูน้ำ เปิดเผยว่า แนวทางที่ 2 ทางชุมชนขอพระราชทานราชานุญาตใช้ชื่อKing Place. Market เป็นชื่ออาคารซึ่งเป็นแนวทางล่าสุดที่เสนอให้ทางสำนักทรัพย์สิน หลังจากมีการพูดคุยหารือกันมาระยะหนึ่ง คือสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ สูงประมาณ 10 ชั้น มูลค่าโดยรวมประมาณ 3,600ล้านบาท ตอบโจทย์ที่จอดรถ อย่างเพียงพอสำหรับคนที่จะเข้ามาอยู่ใหม่ รวมไปถึงรองรับผู้ค้าหน้าใหม่ คนภายนอกได้ ตอบโจทย์ความแข็งแรงอยู่ได้นานเป็นร้อยปี
โดยเนื้อที่ที่ประมาณ 7 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมด 5 ชั้น โดยชั้น 1-4 จะเป็นศูนย์การค้า พื้นที่ชั้นที่ 1-2 คิดค่าตอบแทนเซ้งพื้นที่การค้าระยะยาว ให้กับผู้ที่มีความสารถเข้ามาเซ้ง ส่วนชั้น 3-4 ให้สำหรับผู้ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอ เหมาะกับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นในลักษณะไม่เก็บค่าตอบแทนระยะยาว แต่เก็บเป็นรายเดือน ช่วยให้ผู้ค้าไม่ต้องใช้เงินก้อนจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้สามารถอยู่ได้ โดยไม่ต้องดิ้นรนมากและมีความสุข

ส่วนชั้นที่ 5 จะทำเป็นร้านค้าและศูนย์อาหารอย่างละส่วน และทางชมรมจะมอบพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร ให้แก่สำนักงานส่วนทรัพย์สิน เพื่อเป็นโครงการพระราชดำริ โดยส่วนนี้จะไม่คิดมูลค่า แต่ประการใด
ขณะที่ชั้น6 จะเป็นสำนักงานส่วนดูแลของอาคาร และส่วนบริหารของโครงการ นอกจากนั้นจะมีพื้นที่เพื่อให้เช่าสำหรับเก็บของ ส่วนชั้น 7-10 จะเป็นที่จอดรถทั้งหมด รองรับการรอดรถได้ประมาณ 1,200 กว่าคัน
"ขั้นตอนในการทำงานหากได้รับสัมปทาน ชาวชุมชนเก่า 51 เปอเซ็นต์ที่เหลืออยู่ จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อถือหุ้นร่วมกัน ดังนั้นพวกเราจะเป็นสัมปทานร่วมกัน ในระยะเวลา 30 ปี "
**อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นโจทย์สำคัญที่ทางสำนักงานทรัพย์สินบอกกับทางชุมชนประตูน้ำก็คือ เรื่องเงินค่าก่อสร้างต่างๆ และค่าสัมปทานที่จะต้องส่งมอบให้สำนักงานทรัพย์สิน**
นายวีระศักดิ์ ยกตัวอย่างว่า ค่าก่อสร้าง ประมาณ2,000 กว่าล้านบาท ทางชุมชนจะจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ โดยเงินสัมปทานที่จะให้สำนักงานทรัพย์สินจะเพียงพอต่อระยะเวลา 30 ปี อย่างแน่นอน ส่วนตลาดจะเริ่มมีรายรับจากการที่จัดเก็บเงินจองและเงินดาวน์ และชาวชุมชนจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในลักษณะ Prefinance(ให้การอุดหนุนทางการเงินล่วงหน้า)ในเบื้องต้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ "ตลาดเฉลิมลาภ" หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในนาม "ประตูน้ำมาร์เก็ต" ตลาดเก่าแก่กว่า 50 ปี ยังคงมีการค้าขายเช่นเดิม เพียงแต่จำนวนผู้ค้าและกลุ่มร้านค้าภายในตลาดเหลืออยู่เกินกว่า 51.6% จากจำนวนผู้เช่าเดิมทั้งหมด 697 ราย หลังสำนักงานทรัพย์สินฯ ยุติสัญญาเช่า และไม่มีการเก็บค่าเช่าอีกตั้งแต่วันที่ 17 ธค.2555 ที่ผ่านมา จนนำไปสู่การรวมตัวของพ่อค้าแม่ค้ากว่า 700 คน เดินทางไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อขอให้ทบทวนการยกเลิกคำสั่งบอกเลิกสัญญาการเช่า และการส่งมอบพื้นที่เช่าคืน โดยเสนอขอพัฒนาตนเองมาเป็นเวลาถึงปัจจุบัน
**มาถึงตรงนี้แล้ว สิ่งที่ชาวชุมชนตลาดประตูน้ำกังวลใจที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น การถูกกลุ่มทุนนิยมแทรกแซง เพราะจะทำให้เกิดนโยบายทุนนิยมเบ่งบาน การเก็งกำไร ปั่นราคาทรัพย์สินเกินจริง ตัดโอกาสในการประกอบอาชีพของพ่อค้าแม่ค้าผู้มีรายได้น้อย การเวนคืนครั้งนี้ยังจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม บั่นทอนกลุ่มประชาชนรากหญ้าผู้มีรายได้น้อย ที่ประกอบอาชีพสุจริต ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง**
ที่ผ่านมาแม้จะมีการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายคือสำนักงานทรัพย์สินฯและคณะกรรมการชุมชนมาโดยตลอด แต่ก็เป็นไปในลักษณะไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนว่าทางสำนักงานทรัพย์จะตัดสินใจต่อเรื่องนี้อย่างไร จึงได้สร้างความวิตกกังวลต่อชาวชุมชนตลาดประตูน้ำอยู่ตลอด โดยคำชี้แจงก่อนหน้านี้ของทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ออกเป็นหนังสือชี้แจงว่าสำนักงานฯได้พิจารณาให้ บริษัทแพลทินัมพลาซ่า จำกัด เป็นผู้ได้สิทธิ์พัฒนา ยังคงคาใจพ่อค้าแม่ค้าในปัจจุบันแบบไม่มีคำตอบ
**ปณิธานของชาวชุมชนประตูน้ำที่ว่า เราอยากสร้างความเจริญให้กับชุมชนของตนเอง ด้วยความร่วมมือของชุมชนเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของชุมชนอื่นๆ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้การต่อสู้ของเราเป็นประตูน้ำโมเดล การต่อสู้ของเราจะเป็นแบบอย่างต่อชุมชนอื่นต่อไป จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ อีกไม่นานนี้คงจะมีคำตอบสุดท้ายว่าตลาดประตูน้ำที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ที่สุดตลาดหนึ่งในประเทศไทยจะสามารถผ่าพายุทุนนิยมลูกนี้ไปได้หรือไม่และบทสรุปสุดท้ายจะจบลงอย่างไร**
กำลังโหลดความคิดเห็น