xs
xsm
sm
md
lg

ชาวตลาด “เฉลิมลาภ” ประตูน้ำ ยังรอความหวัง! ระดมเงินตั้งนิติบุคคล ขอรับสิทธิพัฒนาจาก “ทรัพย์สินฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้านหน้าทางเข้าตลาดเฉลิมลาภ
ชาวตลาด “เฉลิมลาภ” ยังคงรอความหวัง หลังขอสัมปทานพื้นเพื่อพัฒนาเองจากสำนักงานทรัพย์สินฯ แทนแพลทินัมพลาซ่า ที่ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่

สถานการณ์ ณ ปัจจุบันของตลาด “เฉลิมลาภ” หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในนาม “ประตูน้ำมาร์เก็ต” ขณะนี้ถ้าจะเปรียบเปรยก็ต้องบอกได้ว่ากำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ก็ไม่น่าจะผิดเพี้ยนไปนัก เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันอย่างดีของชาวชุมชนตลาดประตูน้ำมาพักใหญ่แล้วว่า ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สัมปทานของที่ดินบริเวณนี้ ได้ส่งหนังสือขอยุติสัญญาเช่า และขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน และอนาคต และให้ย้ายออกภายใน 17 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวตลาดเฉลิมลาภประตูน้ำกว่าพันชีวิตเลยทีเดียว

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ชาวชุมชนตลาดประตูน้ำยังต้องยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่สุดก็คือ การเวนคืนตลาดประตูน้ำครั้งนี้ชาวชุมชนไม่ไดรับการบอกกล่าวให้ทราบมาก่อนว่าจะมีการขอคืนที่ดินบริเวณนี้ แต่กลับให้มีกลุ่มทุน และนักธุรกิจที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อได้สิทธิในการเข้าทำประโยชน์บนที่ดินตลาดประตูน้ำ ซึ่งชาวชุมชนเห็นว่า ขัดกับหลักการ และนโยบายของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่มีมาเป็นเวลานาน
อาคารพาณิชย์ริมถนนราชปรารภยาวไปถึงอินทราสแควร์
ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุมชนตลาดประตูน้ำได้หาทางออกโดยการยื่นแผนเพื่อขอพัฒนาตนเองมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้ที่อยู่เก่าได้อยู่ค้าขายกันต่อโดยไม่มีผลประโยชน์ อีกทั้งคณะกรรมการชุมชนเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหาผลประโยชน์ จึงยังมีความหวังว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ตรงข้ามกับกลุ่มทุนและนักธุรกิจที่จะเข้ามาย่อมจะหาผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีที่สุดเป็นหลัก จึงจะทำให้พื้นที่มีราคาสูงเกินจริง

ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ใช่ว่าทางคณะการชุมชนประตูน้ำจะไม่ได้ทำอะไรเลยเสียทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ได้ดิ้นรนหาทางออกที่จะลงตัวกับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ มาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ไปยื่นแนวทางที่ 1 เรียบร้อย จนวันที่ 22 มีนาคม 2556 ทางสำนักงานส่วนทรัพย์สินฯ ได้ติดต่อให้นายธนา คชาไพร หัวหน้ากองโครงการธุรกิจ เข้าไปหารือ และตอบข้อซักถามต่อแผนพัฒนาตนเอง ซึ่งครั้งล่าสุด ได้ยื่นแผนพัฒนาตัวเองไปอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา
โครงการ King Place Market
นายวีระศักดิ์ สุศรวัสวงศ์ ประธานคณะกรรมการชุมชนตลาดเฉลิมลาภ ประตูน้ำ เปิดเผยว่า แนวทางที่ 2 ทางชุมชนขอพระราชทานราชานุญาตใช้ชื่อ King Place. Market เป็นชื่ออาคารซึ่งเป็นแนวทางล่าสุดที่เสนอให้ทางสำนักทรัพย์สินฯ หลังจากมีการพูดคุยหารือกันมาระยะหนึ่ง คือ สร้างเป็นคอมเพล็กซ์ สูงประมาณ 10 ชั้น มูลค่าโดยรวมประมาณ 3,600 ล้านบาท ตอบโจทย์ที่จอดรถอย่างเพียงพอสำหรับคนที่จะเข้ามาอยู่ใหม่ รวมไปถึงรองรับผู้ค้าหน้าใหม่ คนภายนอกได้ ตอบโจทย์ความแข็งแรงอยู่ได้นานเป็นร้อยปี

โดยเนื้อในการพัฒนาที่มีประมาณ 7 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมด 5 ชั้น โดยชั้น 1-4 จะเป็นศูนย์การค้า พื้นที่ชั้นที่ 1-2 คิดค่าตอบแทนเซ้งพื้นที่การค้าระยะยาว ให้แก่ผู้ที่มีความสารถเข้ามาเซ้ง ส่วนชั้น 3-4 ให้สำหรับผู้ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอ เหมาะกับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นในลักษณะไม่เก็บค่าตอบแทนระยะยาว แต่เก็บเป็นรายเดือน ช่วยให้ผู้ค้าไม่ต้องใช้เงินก้อนจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องดิ้นรนมาก และมีความสุข

ส่วนชั้นที่ 5 จะทำเป็นร้านค้า และศูนย์อาหารอย่างละส่วน และทางชมรมจะมอบพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร ให้แก่สำนักงานส่วนทรัพย์สินฯ เพื่อเป็นโครงการพระราชดำริ โดยส่วนนี้จะไม่คิดมูลค่าแต่ประการใด

ขณะที่ชั้น 6 จะเป็นสำนักงานส่วนดูแลของอาคาร และส่วนบริหารของโครงการ นอกจากนั้น จะมีพื้นที่เพื่อให้เช่าสำหรับเก็บของ ส่วนชั้น 7-10 จะเป็นที่จอดรถทั้งหมด รองรับการรอดรถได้ประมาณ 1,200 กว่าคัน

“ขั้นตอนในการทำงานหากได้รับสัมปทาน ชาวชุมชนเก่า 51 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อถือหุ้นร่วมกัน ดังนั้น พวกเราจะเป็นสัมปทานร่วมกันในระยะเวลา 30 ปี”

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ บอกแก่ทางชุมชนประตูน้ำก็คือ เรื่องเงินค่าก่อสร้างต่างๆ และค่าสัมปทานที่จะต้องส่งมอบให้สำนักงานทรัพย์สินฯ

นายวีระศักดิ์ ยกตัวอย่างว่า ค่าก่อสร้างประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ทางชุมชนจะจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ โดยเงินสัมปทานที่จะให้สำนักงานทรัพย์สินฯ จะเพียงพอต่อระยะเวลา 30 ปี อย่างแน่นอน ส่วนตลาดจะเริ่มมีรายรับจากการที่จัดเก็บเงินจอง และเงินดาวน์ และชาวชุมชนจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในลักษณะ Prefinance (ให้การอุดหนุนทางการเงินล่วงหน้า) ในเบื้องต้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ “ตลาดเฉลิมลาภ” ตลาดเก่าแก่กว่า 50 ปี ยังคงมีการค้าขายเช่นเดิม เพียงแต่จำนวนผู้ค้า และกลุ่มร้านค้าภายในตลาดเหลืออยู่เกินกว่า 51.6% จากจำนวนผู้เช่าเดิมทั้งหมด 697 ราย หลังสำนักงานทรัพย์สินฯ ยุติสัญญาเช่า และไม่มีการเก็บค่าเช่าอีกตั้งแต่วันที่ 17 ธค.2555 ที่ผ่านมา จนนำไปสู่การรวมตัวของพ่อค้าแม่ค้ากว่า 700 คน เดินทางไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อขอให้ทบทวนการยกเลิกคำสั่งบอกเลิกสัญญาการเช่า และการส่งมอบพื้นที่เช่าคืน โดยเสนอขอพัฒนาตนเองมาเป็นเวลาถึงปัจจุบัน

มาถึงวันนี้ สิ่งที่ชาวชุมชนตลาดประตูน้ำกังวลใจที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น การถูกกลุ่มทุนนิยมแทรกแซง เพราะจะทำให้เกิดนโยบายทุนนิยมเบ่งบาน การเก็งกำไร ปั่นราคาทรัพย์สินเกินจริง ตัดโอกาสในการประกอบอาชีพของพ่อค้าแม่ค้าผู้มีรายได้น้อย การเวนคืนครั้งนี้ยังจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม บั่นทอนกลุ่มประชาชนรากหญ้าผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพสุจริตตามแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ผ่านมา แม้จะมีการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายคือ สำนักงานทรัพย์สินฯ และคณะกรรมการชุมชนมาโดยตลอด แต่ก็เป็นไปในลักษณะไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนว่าทางสำนักงานทรัพย์สินฯ จะตัดสินใจต่อเรื่องนี้อย่างไร จึงได้สร้างความวิตกกังวลต่อชาวชุมชนตลาดประตูน้ำอยู่ตลอด โดยคำชี้แจงก่อนหน้านี้ของทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ออกเป็นหนังสือชี้แจงว่า สำนักงานฯ ได้พิจารณาให้ บริษัทแพลทินัมพลาซ่า จำกัด เป็นผู้ได้สิทธิพัฒนายังคงคาใจพ่อค้าแม่ค้าในปัจจุบันแบบไม่มีคำตอบ

ปณิธานของชาวชุมชนประตูน้ำที่ว่า เราอยากสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนของตนเอง ด้วยความร่วมมือของชุมชนเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของชุมชนอื่นๆ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้การต่อสู้ของเราเป็นประตูน้ำโมเดล การต่อสู้ของเราจะเป็นแบบอย่างต่อชุมชนอื่นต่อไป จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ อีกไม่นานนี้คงจะมีคำตอบสุดท้ายว่าตลาดประตูน้ำที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ที่สุดตลาดหนึ่งในประเทศไทย จะสามารถฝ่าพายุทุนนิยมลูกนี้ไปได้หรือไม่ และบทสรุปสุดท้ายจะจบลงอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น