โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
คงจะพูดได้เต็มปากเสียทีกับความถดถอยในมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประสงค์จะเข้ารับราชการในตำแหน่งครู ซึ่งเป็นเสาหลักทางการปลูกปัญญาและเป็นความคาดหวังแห่งบุคคลต้นแบบของเด็กและเยาวชนในชาติ ในภาวการณ์ปัจจุบันนี้ที่มีการแข่งขันสูงกลับมีแนวโน้มมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพต่ำลงถึงขั้นอยู่ในอาการโคม่า โดยเฉพาะกรณีมีบุคคลผู้อยู่ในข่ายทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วย
ระบบบริหารการศึกษาไทย คงต้องรู้สึกตื่นตัวเสียทีว่า การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อให้เป็นข้าราชการครูนั้น สามารถคัดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการได้อย่างแท้จริงหรือ โดยเฉพาะกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลที่เป็นอยู่ซึ่งดูเสมือนว่า มีช่องว่างแห่งการทุจริตในกระบวนการเต็มไปเสียทุกช่องทาง ทั้งยังมีการ “ฮั้ว” แบบสมยอม รับจ่ายทั้งใต้โต๊ะ บนโต๊ะ เป็นขบวนการตั้งแต่ระดับบริหารการศึกษาชั้นสูงและหน่วยงานย่อยอย่างลดหลั่นลงมาตามลำดับ และเครือข่ายผู้รับจ้างสอบแทน ที่ทำกันอย่างเป็นวงจร อย่างที่รู้ว่า วงจรอุบาทว์
การแก้ปัญหาดังกล่าว ยังคงดำเนินการไปด้วยวิธีการทางกฎหมายอย่างหนึ่ง หากมิได้คำนึงว่า จะมีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกระบวนการสอบ เพื่อต้องการคนเก่ง คนดี ไปเป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างไร หากจะมีข้อเสนอแนะ ผู้เขียนขอเสนอว่า แนวทางการคัดเลือกคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบข้าราชการครูนั้น ควรทดสอบและประเมินมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้เข้าสอบบรรจุครูด้วย อาจเป็นการประเมินสมรรถนะด้านวิธีปฏิบัติทางจริยธรรม โดยการทดสอบสถานการณ์ทางจริยธรรม หรือวิธีใดๆ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกและตัดสินผลการสอบบรรจุข้าราชการ
หากยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงวิธีการป้องกันและแก้ไขการทุจริตสอบบรรจุข้าราชการครู คงต้องพินิจอย่างละเอียดว่า ปัญหาเด็กเส้น เด็กฝาก หรือการทุจริตรูปแบบอื่น แตกต่างจากการสอบบรรจุอย่างไร เพราะค่านิยมและปัจจัยมาตรฐานทางจริยธรรมที่ต้องมีต่อสังคมและประเทศชาติ ถูกสั่นคลอนจากความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุนิยมครอบงำ และความเชื่อทางค่านิยมที่เห็นว่า การทุจริตเพียงน้อยนิดในเยาวชนที่เห็นว่ายอมรับได้ จากผลการวิจัยในหลายชิ้นงานยืนยันตรงกันว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางจริยธรรม ที่มีนัยสำคัญแห่งความสุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรมบุคคล
ถึงเวลาหรือยังที่จะหันหน้ากลับมาทบทวนและเพิ่มความเข้มข้นในการปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรมแก่ประชาชนของประเทศชาติ ก่อนที่จะเกิดภาวการณ์ที่พระอริยสงฆ์แห่งสวนโมกข์ได้เตือนสติว่า หากศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
คงจะพูดได้เต็มปากเสียทีกับความถดถอยในมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประสงค์จะเข้ารับราชการในตำแหน่งครู ซึ่งเป็นเสาหลักทางการปลูกปัญญาและเป็นความคาดหวังแห่งบุคคลต้นแบบของเด็กและเยาวชนในชาติ ในภาวการณ์ปัจจุบันนี้ที่มีการแข่งขันสูงกลับมีแนวโน้มมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพต่ำลงถึงขั้นอยู่ในอาการโคม่า โดยเฉพาะกรณีมีบุคคลผู้อยู่ในข่ายทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วย
ระบบบริหารการศึกษาไทย คงต้องรู้สึกตื่นตัวเสียทีว่า การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อให้เป็นข้าราชการครูนั้น สามารถคัดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการได้อย่างแท้จริงหรือ โดยเฉพาะกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลที่เป็นอยู่ซึ่งดูเสมือนว่า มีช่องว่างแห่งการทุจริตในกระบวนการเต็มไปเสียทุกช่องทาง ทั้งยังมีการ “ฮั้ว” แบบสมยอม รับจ่ายทั้งใต้โต๊ะ บนโต๊ะ เป็นขบวนการตั้งแต่ระดับบริหารการศึกษาชั้นสูงและหน่วยงานย่อยอย่างลดหลั่นลงมาตามลำดับ และเครือข่ายผู้รับจ้างสอบแทน ที่ทำกันอย่างเป็นวงจร อย่างที่รู้ว่า วงจรอุบาทว์
การแก้ปัญหาดังกล่าว ยังคงดำเนินการไปด้วยวิธีการทางกฎหมายอย่างหนึ่ง หากมิได้คำนึงว่า จะมีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกระบวนการสอบ เพื่อต้องการคนเก่ง คนดี ไปเป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างไร หากจะมีข้อเสนอแนะ ผู้เขียนขอเสนอว่า แนวทางการคัดเลือกคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบข้าราชการครูนั้น ควรทดสอบและประเมินมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้เข้าสอบบรรจุครูด้วย อาจเป็นการประเมินสมรรถนะด้านวิธีปฏิบัติทางจริยธรรม โดยการทดสอบสถานการณ์ทางจริยธรรม หรือวิธีใดๆ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกและตัดสินผลการสอบบรรจุข้าราชการ
หากยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงวิธีการป้องกันและแก้ไขการทุจริตสอบบรรจุข้าราชการครู คงต้องพินิจอย่างละเอียดว่า ปัญหาเด็กเส้น เด็กฝาก หรือการทุจริตรูปแบบอื่น แตกต่างจากการสอบบรรจุอย่างไร เพราะค่านิยมและปัจจัยมาตรฐานทางจริยธรรมที่ต้องมีต่อสังคมและประเทศชาติ ถูกสั่นคลอนจากความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุนิยมครอบงำ และความเชื่อทางค่านิยมที่เห็นว่า การทุจริตเพียงน้อยนิดในเยาวชนที่เห็นว่ายอมรับได้ จากผลการวิจัยในหลายชิ้นงานยืนยันตรงกันว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางจริยธรรม ที่มีนัยสำคัญแห่งความสุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรมบุคคล
ถึงเวลาหรือยังที่จะหันหน้ากลับมาทบทวนและเพิ่มความเข้มข้นในการปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรมแก่ประชาชนของประเทศชาติ ก่อนที่จะเกิดภาวการณ์ที่พระอริยสงฆ์แห่งสวนโมกข์ได้เตือนสติว่า หากศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ