xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมจึงปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

ความแค้นที่คนเสื้อแดงมีต่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแค้นต่อนายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคนั้น เป็นความแค้นอันล้ำลึกชนิดที่ยากจะอยู่ร่วมฟ้าเดียวกัน เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 และ 2553

ความแค้นนั้นแสดงออกโดยพวกเขาจะออกมาคัดค้านต่อต้านตะโกนด่าที่สนามบินบ้าง ถนนหนทางบ้าง ตามเส้นทางที่พรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพนำพรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าฝ่าความจริงในจังหวัดต่างๆ

เนื้อหาสาระการเดินหน้าฝ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์คือ คัดค้านอย่างแข็งขันต่อการที่พรรครัฐบาล (พรรคเพื่อไทย) กำลังพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมบ้าง ปรองดองบ้าง โดยบอกกล่าวกับประชาชนว่า เนื้อหาสาระของกฎหมายนิรโทษกรรมก็ดี กฎหมายปรองดองก็ดี คือการล้างผิดให้ ทักษิณ ชินวัตร ให้ทักษิณสามารถกลับประเทศไทยได้อย่างเท่ๆ และทักษิณจะได้เงินที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยึดไว้ 4.6 หมื่นล้านบาทคืน

ฝ่ายที่พยายามเข็นกฎหมายนิรโทษกรรมหรือปรองดอง คือบรรดาชาวพรรคเพื่อไทยทั้งหลายบอกว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เพื่อทักษิณคนเดียว หากได้ประโยชน์กันทั่วถ้วนทุกคนทุกฝ่าย ใครก็ตามที่ตกเป็นจำเลยหรือกำลังจะเป็นจำเลยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งถึงปี 2553 ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีเหลือง (หมายถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) สีแดง (บริษัทบริวารของทักษิณทั้งปวง) หรือแม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไม่เว้น

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นอยู่ระหว่างที่อัยการกำลังพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีก็หนักหนาสาหัสอยู่ ตั้งแต่การก่อการร้าย และการชุมนุม

ฝ่ายเสื้อแดงแกนนำหลายคนอยู่ระหว่างประกันตัว และมีหลายคนที่ศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว ทั้งที่ยิงวัดพระแก้ว เผาศาลากลางจังหวัด

นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้นอยู่ระหว่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรวบรวมหลักฐานให้อัยการส่งฟ้องข้อหาทำให้คนตาย (สั่งทหารยิงประชาชน)

ในบรรดาผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ขณะนี้ มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ได้ชื่นชม และต้องการกฎหมายนิรโทษกรรมหรือปรองดองแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพนั้นไม่เอาเลยกับกฎหมายนิรโทษกรรมหรือกฎหมายปรองดอง ทั้งที่หากกฎหมายดังกล่าวนี้ออกมาจะไม่มีใครมีความผิดเลย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยมีความรู้สึกว่า การตั้งข้อหาบางคนในกลุ่มพวกเขาเป็นการก่อการร้ายออกจะหนักไปหน่อย หรือที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ทำเนียบรัฐบาลก็ดี สนามบินก็ดี มากไปหน่อย

ส่วนนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพที่จะต้องเจอข้อหาทำให้คนตาย โดยสั่งให้ทหารฆ่าประชาชนถึง 90 กว่าศพ (ซึ่งพวกเขามักจะเหมารวมเอามานับรวมกันทั้งศพทหาร ศพประชาชน) โทษก็หนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน อาจจะถึงขั้นประหารชีวิต อาจจะติดคุกตลอดชีวิต ถ้าหากอัยการเชื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือเชื่อหลักฐานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเมื่อฟ้องแล้วศาลเห็นด้วยทั้ง 3 ศาล

แต่ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพจะพอใจต่อการสู้คดีในศาล

ที่ประหลาดก็คือ บรรดาเสื้อแดงทั่วประเทศทั้งหลายที่ชูป้ายประณามสาปแช่งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพว่าเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนกลับไม่ออกมาคัดการการนิรโทษกรรม การปรองดองซึ่งจะทำให้คนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นฆาตกรลอยนวลพ้นผิดง่ายๆ

นักกฎหมายระดับตุลาการเก่า อดีตอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่หันมาเอาดีทางการเมือง (ด้วยการทอดตัวลงไปรับใช้ ทักษิณ ชินวัตร) แม้กระทั่งสื่อที่พยายามชี้ให้สังคมเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพสั่งฆ่าประชาชนกลับเพิกเฉย ประหนึ่งจะปล่อยให้ทั้งสองพ้นผิดลอยนวลไปได้ง่ายๆ

ความแค้นอันล้ำลึกประหนึ่งจะอยู่ร่วมฟ้าเดียวกันมิได้ กลับไม่ได้รับการชำระแค้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้กระบวนการยุติธรรมได้พิจารณาว่า ความเชื่อของพวกเขาที่คิดและเชื่อว่าทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเป็นฆาตกรนั้น กลับไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่เป็นธรรมกับกลุ่มเสื้อแดง และไม่เป็นธรรมทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ

ทั้งหลายทั้งปวงก็คือ การเดินให้สุดซอยที่ ทักษิณ ชินวัตร สั่งการมาจากดูไบนั่นเอง

เมื่อทักษิณต้องการใครก็ขวางไม่ได้ นอกจากขวางไม่ได้แล้ว บรรดาบริษัทบริวารต่างก็ออกมาเสนอหน้า เสนอความเห็นเพื่อที่จะได้ไม่ตกขบวน เผื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีอาจจะได้มีชื่อกับเขาบ้าง จะได้เป็นไม้ประดับให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่หาไม่ได้ง่ายๆ ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาก็เพิ่งจะเคยพบเคยเห็นนี่แหละ

ไปให้สุดซอยก็คงจะหลงอยู่ในซอยเท่านั้น เพราะเนื้อหาสาระขัดกับหลักนิติธรรม ที่สำคัญคือขัดรัฐธรรมนูญ แม้ประชาชนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี สมาชิกวุฒิสภาก็ดี หรือสมาชิกทั้งสองสภาฯ ก็ดี เข้าชื่อกันร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญระหว่างที่นายกรัฐมนตรีกำลังจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
กำลังโหลดความคิดเห็น