xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หาญณรงค์ เยาวเลิศ “วุฒิภาวะของคุณปลอดประสพไม่สมควรเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หาญณรงค์ เยาวเลิศ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่รัฐบาลเพื่อไทยไม่น้อยทีเดียว สำหรับแรงสะท้อนกลับจากเครือข่ายภาคประชาชนที่มีต่อ นายปลอดประสพ สุรสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งออกมาประกาศกร้าวว่าห้ามประชาชนจัดการชุมนุมหรือคัดค้านระหว่างที่มีการจัดงานประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.2556 โดยทันทีที่รองนายกฯขู่ว่าหากมีการชุมนุมประท้วงจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมดำเนินคดี ก็มีเสียงประณามจากหลายๆภาคส่วนพุ่งตรงมายังนายปลอดประสพทันทีว่า 'เผด็จการ บ้าอำนาจ และละเมิดสิทธิประชาชน ' และปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้สร้างปมร้าวฉานระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยและองค์กรเอกชน(เอ็นจีโอ)อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

'หาญณรงค์ เยาวเลิศ' ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) องค์กรภาคเอกชนซึ่งเป็นแกนหลักในการชุมนุม และจัดประชุมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งทำงานคลุกคลีกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านน้ำมานับสิบปี ได้ชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งสะท้อนปัญหาใน การทำงานในการบริหารจัดการน้ำของนายปลอดประสพนับตั้งแต่มาเป็นประธาน กบอ. ชนิดลากไส้ออกมาหมดทุกขดเลยทีเดียว

ปกติในการประชุมระดับประเทศเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รัฐจะเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยหรือไม่

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญนะครับ เพราะเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง การประชุมระดมความเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในระดับสากลนั้นโดยทั่วไปนอกจากจะให้ตัวแทนของประเทศสมาชิกร่วมพูดคุยกันแล้ว ในส่วนของภาคประชาชนนั้นแม้ไม่ได้ร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมแต่จะให้มีการประชุมคู่ขนานกันไป จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะมีการประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอประเด็นของภาคประชาชนต่อที่ประชุม เช่นถ้าไทยเป็นเจ้าภาพ ผู้จัดงานก็จะประสานกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เดิมก็ต้องเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะผู้จัดการประชุมจะต้องเป็นกรมทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรฯ เมื่อเสนอผ่านรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็จะเสนอความเห็นของภาคประชาชนต่อที่ประชุมและนำไปสู่บทสรุปของปฏิญญาว่าด้วยการประชุมในครั้งนั้นๆ

อย่างในการประชุมเรื่องโซเชียลของกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไทยจะเข้าสู่เออีซี(ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ก็มีการจัดประชุมที่ประเทศไทยนี่แหล่ะ รัฐบาลไทยในขณะนั้นก็ให้ภาคประชาชนไปจัดประชุมกันก่อน 3 วัน แล้วหาข้อสรุปมาเสนอในที่ประชุมใหญ่เขา หรือแม้แต่การประชุมเกี่ยวกับอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเนี่ย ไม่ว่าจะประชุมที่โดฮา (ประเทศกาตาร์) หรือที่ไหนๆ ก็จะมีการประชุมคู่ขนานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

แต่การประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่เปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเลย

ปกติการประชุมในเชิงวิชาการเขาก็เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมประชุมได้ การประชุมครั้งนี้ก็เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้แต่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนอย่างน้อย 6,000 บาท ทั้งที่งานนี้ไทยเป็นเจ้าภาพและลงทุนในการจัดงานนี้ถึง 200 กว่าล้าน เลยสงสัยว่าในเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเนี่ยทำไมต้องเก็บค่าลงทะเบียนด้วย แล้วเท่าที่ทราบเฉพาะค่าตัดชุดสำหรับตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมจาก 30 กว่าประเทศเนี่ยใช้งบถึง 16 ล้านบาท งบค่ารักษาความปลอดภัยตอนแรกตั้งไว้ 10 ล้าน ตอนนี้จะขอเพิ่มอีก ค่ารักษาความปลอดภัยคือค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ค่าเบี้ยเลี้ยงของสันติบาลในการสืบหาข่าว ตอนนี้พอมีการปั่นกระแสว่าจะมีการบุกล้มการประชุมก็เลยขอเพิ่มงบตรงนี้อีก 6 ล้าน ทั้งที่จริงๆไม่มีใครคิดจะทำอย่างนั้นเลย

ผมก็มีข้อสงสัยว่าการที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพก็เพราะเราอยากแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำซึ่งประชาชนก็น่าจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย แล้วทำไมจึงต้องมีการจ่ายเงินค่าลงทะเบียน แล้ววันนี้เขาเปลี่ยนรูปแบบใหม่นะ คนที่มาร่วมประชุมก็ไปเกณฑ์โรงเรียนมา ไปเกณฑ์ครูมาดูนิทรรศการ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเพราะไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำ หรือกำลังหาวิธีการในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ มันเป็นการทำเพื่อเก็บตัวเลขว่าจัดประชุมแล้วมีผู้เข้าร่วมงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวิธีการแบบนี้มันไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ล่าสุดผู้สื่อข่าวก็รายงานว่าแม้แต่คนเชียงใหม่ยังไม่รู้เลยว่ามีการประชุม ผมไม่รู้นะครับว่าเขาเกณฑ์มาเท่าไหร่ แต่เท่าที่ทราบเนี่ยเจ้าหน้าที่ในกรมทรัยพากรน้ำถูกเกณฑ์มาทั้งหมดเลยครับ

เห็นว่าตอนแรกคนที่ดูแลเรื่องการจัดประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชียแปเชียแฟซิฟิก ไม่ใช่คุณปลอดประสพ

คือเดิมเนี่ยเจ้าภาพคือกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขามีแผนที่จะจัดงานนี้ตั้งปี 2554 แล้ว แต่ไม่ได้จัดเพราะบ้านเราเกิดน้ำท่วม ใหญ่ พอมาปี 2555 คิดว่าจะจัดได้แต่หาคนที่จะไปสปีชแทนรัฐมนตรีไม่ได้ พอคุณปลอดประสบทราบเรื่องนี้ก็เลยดึงเรื่องนี้มาทำเสียเอง ดึงเรื่องนี้ไปอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพราะคุณปลอดประสบเป็นรองนายกฯ แต่คนที่จ่ายเงินค่าจัดงานคือกรมทรัพยากรน้ำ แล้วเขาก็ ประชุมเตรียมงานไปได้ 1-2 ครั้งแล้ว จริงๆคนที่ดูแลโครงการต้องเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ส่วนรองนายกฯป็นแค่ประธาน ผมคิดว่าเรื่องนี้มันตั้งแต่น้ำท่วมปี 54 มา คุณปลอดประสพก็เลยเข้ามายึดเรื่องนี้ แล้วก็ดีไซน์งานออกมารูปร่างหน้าตาแบบนี้

เขาก็ใช้สไตล์แบบซิงเกิล คอมมาน แล้วก็สั่งการหมดทุกอย่าง ก็คือข้ามกระทรวงมาเลย คือหน้าที่ของคุณปลอดประสพหน้าที่หนึ่งก็คือเป็นรองนายกฯที่รับผิดชอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องของการจัดประชุมก็มีหน้าที่เป็นประธานเฉยๆ มันเป็นการทำงานข้ามกระทรวง จริงๆเป็นเรื่องของกรมทรัพยากรน้ำ แต่วันนี้สำนักนายกฯ เข้ามาจัดการหมด เรื่องทั้งหมดถูกตั้งมาจากสำนักนายกฯ แล้วมันก็มีบางเรื่องที่เจ้าหน้าเขาไม่สบายใจว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ยกตัวอย่างเช่น งบประมาณถูกตั้งไว้ที่กรมทรัพยากรน้ำ ในการจัดการประชุมผู้นำด้านน้ำฯเขาก็จะดีไซน์ออกมาว่ามันจะจ่ายอะไรได้บ้าง ค่าเดินทางจ่ายได้แค่ไหน ไม่ใช่ใครจะมาสั่งยังไงก็ได้ เพราะในกรอบงบประมาณมันเขียนรายละเอียดไว้ แต่คุณปลอดประสพไม่ได้สนใจรายละเอียดตรงนี้ แล้วมันจะมีงบที่ไม่รู้ว่าจะจ่ายได้จริงแค่ไหน มันก็อิรุงตุงนังอยู่

ในส่วนของกิจกรรมต่างๆ ในงาน ทางกรมทรัพยากรน้ำหรือทางสำนักนายกฯ เป็นคนออกแบบ

เท่าที่ทราบนี่คุณปลอดประสพเป็นคนสั่งหมด รวมไปถึงเรื่องการแสดงละครด้วย คณะละครนี่เป็นสิ่งที่คุณปลอดประสพเขาอยากได้ เพราะเขาชอบแสดงละคร ที่ผ่านมาเขาอยู่กรมไหนเขาก็แสดงละคร งานนี้ตอนแรกเขาก็ไปซ้อมละครมา ไม่รู้เขาไปดูเรื่องคู่กรรมมาหรือเปล่านะ เขาก็ไปกำหนดว่าคนที่เป็นนางเอกก็คือคนที่เป็นนางเอกคู่กรรม (ริชชี่-อมราวดี ดีคาบาเลส) ที่แสดงกับณเดชน์ (ณเดชน์ คูกิมิยะ) แต่การแสดงละครมันไม่ได้อยู่ที่เวทีใหญ่ซึ่งเป็นเวทีประชุม เวทีประชุมอยู่ตรงทางไปศาลากลางหลังใหม่ แต่การแสดงละครมันอยู่ที่เวียงกุมกามซึ่งอยู่ตรงทางระหว่างเชียงใหม่ไปลำพูน มันก็ต้องขนคนจากเวทีใหญ่ไปดูเขาแสดงละคร ต้องหารถบัสขนคนไปดูละคร คนที่จะเข้าไปดูละครได้ต้องเป็นแขกวีไอพีที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น บุคคลภายนอกเข้าไม่ได สื่อมวลชนก็เข้าได้ช่องเดียวคือ NBT (สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11)

คือคุณปลอดประสพอาจจะเห็นว่าหัวข้อบางหัวข้อมันเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม เขาก็เลยเอา กบอ.(สำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย) เสียบเข้าไปทันทีเลย แล้วก็อาจจะไปสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทที่เข้าประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน มาแสดงนิทรรศการ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นการแสดงแบบกะทันหันหรือเปล่า แม้แต่สถานที่จัดประชุมก็ทราบมาว่ากระทั่งเมื่อวาน(14 พ.ค.2556) บอร์ดบางบอร์ดก็ยังจัดไม่เสร็จ ห้องประชุมก็ยังเตรียมไม่เสร็จ แม้แต่การลงทะเบียนของตัวแทนประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชนที่มาทำข่าวก็ขลุกขลักพอสมควร ระบบต่างๆก็ขลุกขลัก ผมเข้าใจว่าวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบเรื่องไหน คือความพร้อมเนี่ยแทบจะไม่มี

หลายคนก็มองว่าเป้าหมายของการจัดงานมันถูกบิดเบือนไป จากเดิมที่เป็นการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศสมาชิก กลายเป็นการจัดโรดโชว์ให้กับบริษัทที่เข้าประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

คือคุณปลอดประสพเป็นคนรับผิดชอบการจัดประชุมครั้งนี้เขาก็ให้หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้มาจัดนิทรรศการ ผมก็เห็นป้ายบริษัทเค-วอเตอร์ บริษัทอิตาเลียน-ไทย แล้วก็บริษัทอื่นๆที่เข้าประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน รวมประมาณ 4 บริษัท แม้แต่คณะกรร มาธิการแม่น้ำโขงก็ถูกสั่งให้ไปจัดนิทรรศการเหมือนกัน เพราะคณะกรรมาธิการนี้อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ คือจริงๆหน่วยงานที่จะเข้ามาจัดนิทรรศการน้ำเนี่ยก็เป็นไป ได้หมด อาจจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่ทำโครงการเรื่องน้ำเพื่อสังคม ไม่ว่าจะ เป็น เอสซีจี , ปตท. หรือโครงการในพระราชดำริ กรมชลประธาน กรมทรัพยากรน้ำ ก็ สามารถจัดได้ แต่ดูเหมือนว่างานนี้ไฮไลท์ไปอยู่ที่ 4 บริษัทที่รับงานในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จาก กบอ.

ซึ่งผมมองว่ามันรีบเกินไปที่จะบอกว่าบริษัทเล่านี้เขามีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างไร หรือจะมาโชว์ให้เห็นว่าต่อไปจะเลือกบริษัทเล่านี้เพราะมีระบบมี เทคโนโลยีอย่างนี้ แล้วบางบริษัทก็ยังไม่เคยมีผลงานในการทำโครงการบริหารจัดการน้ำใน ไทย อย่างบริษัทอิตาเลียน-ไทยก็เคยได้รับโครงการสร้างเขื่อนนะ เช่น โครงการสร้างเขื่อนน้ำเทิน สร้างเขื่อนน้ำงึม ในประเทศลาว อิตาเลี่ยนไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่นั่นเป็นการสร้าง เขื่อนในต่างประเทศ ส่วนโครงการในประเทศเนี่ยอิตาเลียน-ไทยได้รับโครงการก่อสร้างทางรถไฟบริเวณเขื่อนป่าสัก แต่ถ้าสร้างเขื่อนอย่างเดียวทั้งหมดเนี่ยผมว่าอิตาเลียนไทยก็ยังไม่ใช่น่ะ หรืออย่างบริษัทเค-วอเตอร์เนี่ยเท่าที่ทราบเขาเป็นรัฐวิสาหกิจในเกาหลี แต่งานนี้เขาจัดนิทรรศการในนามประเทศไทย แล้วเขาก็ยังไม่เคยทำโครงการน้ำในไทยเลย คือการจัดงานประชุมถูกแย่งซีนไปเป็นงานของ กบอ. คุณปลอดประสพในฐานะประธาน กบอ.ก็เลยดีไซน์งานให้ไปสอดรับกับงานของ กบอ. แต่ที่มันบิดเบือนก็คือว่างานที่ กบอ.ทำเนี่ยไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แม้แต่การจัดประชุมเรื่องน้ำก็ปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

เดิมทางมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ ซึ่งเป็นการทำงานของภาคประชาชนเนี่ยจะมีการ เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมผู้นำด้านน้ำฯ ในประเด็นไหนบ้าง

เราจะบอกกับที่ประชุมว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายๆพื้นที่ยังมีปัญหา รวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่กำลังมีการยื่นประมูลกันด้วย เพื่อที่รัฐบาลจะได้หาทางปรับปรุงแก้ไข แล้วก็จะบอกว่าจุดยืนของภาคประชาชนที่มีต่อการประชุมครั้งนี้คืออะไร โดยข้อมูลที่เราจะนำเสนอเนี่ยเป็นการรวบรวมความเห็นจากภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำ ที่ผ่านมามูลนิธิของเรายึดหลักการบริหารจัดการน้ำแบบ IWRN คือการจัดการน้ำแบบผสมผสาน เป็นการใช้หลักสากลในการจัดการน้ำร่วมกัน เรามีการทำงานกับเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ17 จังหวัด ผมเองก็ทำงานในพื้นที่ยมบน-ยมล่าง หรือแก่งเสือเต้นเดิม ทำงานกับกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เรามีการประชุมร่วมกับเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ 3.5 แสนล้าน ในส่วนของโมดูล A1 ซึ่งในการประชุมเรื่องน้ำของภาคประชาชนในวันที่ 19 พ.ค.นี้ เราก็จะเชิญประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ของ กบอ.มาให้ข้อมูลด้วย เพื่อที่จะได้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่เขามีโอกาสมีส่วนร่วมหรือเปล่า คนในพื้นที่เขาได้รับข้อมูลหรือเปล่า

จริงๆ ก่อนหน้านี้มูลนิธิเราก็เคยทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำมาก่อนนะ เราไปดูเรื่องการจัดการน้ำในลุ่มน้ำขนาดย่อม เช่น ที่ปราจีนบุรีซึ่งมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดการน้ำกับการปล่อยน้ำเสียในลุ่มน้ำคลองสารภี และปัญหาในลุ่มน้ำอื่นๆ แต่พอคุณปลอดประสพมาทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทำเรื่องการประชุมด้านน้ำ ทัศนะในการทำงานร่วมกับภาคประชาชนไม่มีอยู่ในสายตาคุณปลอดประสพ เขาก็เลยมองคนที่เห็นต่างว่าเป็นศัตรูไปหมด

แปลว่าคุณปลอดประสพไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นเลย ใครเห็นต่างก็กลายเป็นศัตรูไปหมด

คือไม่ใช่เฉพาะแค่เอ็นจีโอนะ แม้แต่คนที่อยู่ใน กบอ. คนที่อยู่ใน กยน.(คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) คนไหนที่คิดไม่เหมือนแกก็มองเป็นศัตรู แม้แต่อาจารย์ นักวิชาการ ไปจนถึงอธิบดีบางคน แล้วความที่แกมองว่าเอ็นจีโออาจจะมาทักท้วงแก ในขณะที่เราก็หวังดีว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ การจัดการด้านทรัพยากรถ้ามองเฉพาะด้านวิศวกรรมอย่างเดียวมันก็มีจะมีปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านสังคมตามมา มันต้องมองให้รอบด้าน แต่พอเราเสนออย่างนี้ปุ๊บก็กลายเป็นว่าเราเป็นศัตรูกับแก อย่างนี้ไม่ใช่หลักการบริหารประเทศที่ควรจะเป็นนะครับ

มองการทำงานของคุณปลอดประสพในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างไร

วันนี้ท่าทีของคุณปลอดประสพตั้งแต่มานั่งเป็นประธาน กบอ. ในช่วงที่ผ่านเนี่ย ผมมองว่าเป็นตัวรั้งให้รัฐบาลยิ่งเกิดปัญหามากยิ่งขึ้น เพราะทุกคนก็วิจารณ์ในเรื่องตัวบุคคล วิจารณ์เรื่องมุมมองความคิดที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้แต่การประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้เนี่ยท่าทีที่คุณปลอดประสพแสดงออกมันเป็นท่าทีของคนที่มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีแต่ไม่มีหัวใจของประชาธิปไตย ไม่มีหัวใจของการรับฟังความคิดเห็น เป็นการทำงานที่ใช้อัตตาส่วนตนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

เห็นคุณปลอดประสพบอกว่าระหว่างที่มีการประชุมผู้นำด้านน้ำฯ ห้ามมีการชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่งั้นจะจับขังคุกให้หมด แล้วยังบอกว่าคนเชียงใหม่อย่าให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่

อันดับแรกต้องถามว่า คุณปลอดประสพจะเอากฎหมายข้อไหนมาจับ เพราะการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถามว่าผู้ชุมนุมมีความผิดอะไร คุณปลอดประสพกำลังละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญนะ แล้วที่ผ่านมาเครือข่ายที่พวกผมทำงานกันเนี่ยเราก็ใช้การชุมนุมเป็นช่องทางในการเสนอแนวคิดไปสู่สาธารณะ ไม่มีใครมีแนวคิดว่าจะชุมนุมเพื่อล้มการประชุมนะ อาจจะมีเวทีคู่ขนาน ภาพประชาชนมาพูดคุยกัน แล้วก็เสนอต่อรัฐบาลว่าในการประชุม 7 หัวข้อเนี่ยเรายังมีความกังวลในเรื่องใดบ้าง ท่าทีของคุณปลอดประสบเนี่ยมันเป็นการดูถูกเหยียดหยามว่าผู้ชุมนุมเป็นพวกขยะสังคม ทัศนคติแบบนี้เรารับไม่ได้ แล้วการที่บอกกับคนเชียงใหม่ว่าอย่าให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่เนี่ยผมว่าทัศนะของคนที่เป็นถึงรองนายกฯ การที่ยุยงให้คนกลุ่มหนึ่งมาทะเลาะกับคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลเนี่ยไม่ใช่หลักคิดของคนที่เป็นผู้ใหญ่ ถ้าคนที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิแต่มองเรื่องการชุมนุมเป็นแค่ขยะเนี่ย วุฒิภาวะของคุณปลอดประสพไม่สมควรเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป

แล้วมองโครงการบริการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านอย่างไร

ผมว่าการมองเรื่องน้ำเนี่ยมันต้องมองเรื่องภูมินิเวศน์ด้วยไง ไม่ใช่แค่มองว่าจะเอาน้ำออกทะเลอย่างเดียวอย่างที่กำลังคิดกันอยู่เนี่ย มันก็ไม่ใช่ แล้ววันนี้ถ้าถามว่าโมดูล 9 โมดูลที่กำลังเสนอในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเนี่ย มันเป็นหลักประกันได้ไหมว่าสร้างแล้วน้ำจะไม่ท่วม มันก็ไม่ใช่ คุณสร้างหมดทั้ง 9 โมดูล ทุ่มเงินไป 3.5 แสนล้าน สุดท้ายน้ำก็ยังท่วมอยู่ เพราะโครงการนี้ไม่ได้ถูกตรวจสอบ ไม่ได้ดำเนินการร่วมกันกับเครือข่ายอื่นๆ คือเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทุกคนเห็นด้วยหมดนะ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ เหมือนกับคุณไปหาผู้รับเหมามาก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่มีรายละเอียดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย มันไม่ใช่

ถามว่าวันนี้คุณกลับลำได้ไหม คุณกลับลำได้ คุณกลับมาเริ่มตั้งแต่กระบวนการศึกษา เริ่มตั้งแต่กระบวนการหาข้อมูล ศึกษาผลกระทบ แล้วค่อยนำไปสู่การตัดสินใจทีละขั้น จนถึงขั้นตอนสุดท้ายค่อยไปหาผู้รับเหมา ผมว่าผู้รับเหมาจะหาเมื่อไรก็หาได้ ใครๆ ก็อยากได้งาน ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ต้องเร่งรีบทำโครงการ 3.5 แสนล้านนี้ วัตถุประสงค์ของเขาคืออะไร วัตถุประสงค์เพื่อให้งานเสร็จ หรือเพื่อให้ได้ใช้งบประมาณ หรือเพื่อให้ได้เซ็นสัญญา โดยหลักการเมื่อใครเสนอเซ็นสัญญาก็อาจจะมีเงื่อนงำเรื่องค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นๆหรือเปล่า ข้าราชการที่เขาทำเรื่องนี้เขาก็อึดอัด ประชาชนก็มีข้อสงสัย

แม้แต่ข้อมูลของไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น)ที่เสนอมาเนี่ยบอกเลยว่าถ้าคุณทำโครงการหนึ่ง อีกโครงการหนึ่งไม่ต้องทำก็ได้ ขุดคลองหนึ่ง อีกคลองหนึ่งไม่ต้องขุดก็ได้ หรือขุดคลองแล้วไม่ต้องสร้างเขื่อนก็ได้ ซึ่งจะสามารถลดงบประมาณลงได้ 70% เรื่องนี้ผมก็แปลกใจว่าถ้าไม่ใช่เพื่องบประมาณผมก็ยังมองไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น