xs
xsm
sm
md
lg

แก้ม.68ให้อำนาจอสส.30วัน ไม่คืบร้องศาลรธน.โดยตรงได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8พ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 พิจารณาต่อเนื่องในรายละเอียด ในมาตรา 3 ซึ่งเป็นการแก้ไขเนื้อหาใน มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยในวรรคแรก เสียงข้างมากของกรรมาธิการโหวตชนะ ให้คงเนื้อหาตามร่างเดิม ที่ผ่านวาระที่หนึ่งมา ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดคำว่า หมวดสาม อันเป็นข้อจำกัดให้ประชาชนร้องได้เฉพาะขอบเขตของรัฐธรรมนูญ หมวดสามออก แต่ตกไปเพราะแพ้โหวต
สำหรับวรรคต่อไป คือวรรคสอง ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยขั้นตอนการร้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน ผู้รู้เห็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบนั้น เป็นมาตราที่มีการถกเถียงยาวนานกว่าชั่วโมงเศษ โดยเสียงส่วนใหญ่จากส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.เลือกตั้ง ลงมติให้คงตามร่างเดิม เพียงแต่ปรับปรุงถ้อยคำให้ชัดเจนเล็กน้อยเท่านั้น
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้ศาลวินิจฉัยให้ส่งเรื่องสองทาง แต่แนวทางปฏิบัติคนจะเลือกส่งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่า หน้าที่การกลั่นกรองควรเป็นของอัยการสูงสุดฝ่ายเดียว เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกแล้ว การยื่นต่ออัยการสูงสุด ก็ไม่มีประโยชน์
“อันนี้เป็นหลักการแบ่งอำนาจหน้าที่ จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่วนจะเชื่อหรือไม่ เชื่อศาลหรืออัยการ ก็ต้องไปปรับเรื่องของโครงสร้างให้น่าเชื่อ"
ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อย จากพรรคประชาธิปัตย์ มีข้อเสนอหลากหลาย เช่น นางรัชดาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้อัยการต้องส่งคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีอำนาจวินิจฉัย
นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส. ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าให้ยื่นผ่านได้ทั้งอัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ เพราะมีคนที่คาดหวังว่า อัยการช่วยดำเนินการให้ได้ก็มี ส่วนคนที่ไม่เชื่อ ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยื่นโดยตรงได้
ด้านนายเจ๊ะอามีน โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อน และให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเห็นว่า การตัดข้อความเดิม เป็นการตัดสิทธิ์อันชอบธรรมของประชาชน
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า หากเป็นเหตุฉุกเฉิน ควรให้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งการได้โดยตรง เพราะรออัยการอาจไม่ทัน เช่นเดียวกับ นายถวิลไพรสณฑ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การมอบอำนาจแก่อัยการกลุ่มเดียว เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นการให้อำนาจมากเกินไป และยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้อัยการมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของกรรมาธิการฝ่ายค้านตกไป เพราะเป็นเสียงข้างน้อย โดยผู้เสนอต่างเตรียมจะยื่นสงวนคำแปรญัตติภายหลัง
สำหรับวรรคที่สาม ถัดมา นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอให้เพิ่มขั้นตอนการกำหนดวิธีการยื่นพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีข้อกำหนดว่า หากอัยการสูงสุดรับเรื่องมาแล้วจนครบ 30 วัน แล้วยังไม่ดำเนินการ ผู้ร้องก็จะมีสิทธิ์ร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
นายวิทยา กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลา 30 วันไว้ ก็น่าจะทำให้สังคมรับได้ ไม่เกิดความหวาดระแวง แต่หากมีเรื่องฉุกเฉิน ก็ยังมีช่องทางกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฟ้องฐานละเว้นได้ ซึ่งหนักกว่าการกำหนดเวลาในรัฐธรรมนูญ เสียอีก
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแย้งว่า อาจมีคนยอมเสี่ยงติดคุก ถ้าจ่ายเขาดีๆ บ้านนี้เมืองนี้มีจริงๆ อัยการสูงสุด หรือใครโดน ม. 157 วันนี้ประวิงแล้วลากกันไปอีก 10 ปี แต่ประเทศ หรือระบอบการปกครอง มันล้มไปแล้ว
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก็มีเหตุผลน่ารับฟัง ขอเสนอต่อท้ายกรณีมีเหตุฉุกเฉินอันอาจกระทบต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ให้อัยการสอบสวนให้เสร็จก่อนวันที่จะเกิดเหตุที่มีผลกระทบ
แต่นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แย้งว่า เขียนแบบนี้ผู้ร้องก็จะอ้างเหตุฉุกเฉินอยู่ร่ำไป
ในที่สุดที่ประชุมโดยเสียงข้างมาก ก็เห็นชอบตามข้อเสนอของนายวิทยา โดยมีเนื้อหาเพิ่มเข้าไปเป็นวรรสามแทน ดังนี้
“การตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุด ตามวรรคสอง ให้อัยการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากอัยการสูงสุดไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิ์เสนอเรื่องเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการได้โดยตรง ซึ่งต้องยื่นภายใน 30 วัน นับแต่ครบกำหนดเวลาที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบ”
ส่วนวรรคสุดท้าย แม้จะมีผู้เสนอจากฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ให้ตัดอำนาจการยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ออก แต่เสียงข้างมากก็ยังคงให้คงเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น