xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบแดงลั่น8พ.ค.ไม่ถึงแสนยุติชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ม็อบแดงหน้าศาลรธน.หาทางลง หลังเจอผู้ใหญ่จากพรรคเพื่อไทยออกมาเบรก ประกาศ 8 พ.ค. มวลชนมาไม่ถึงแสน จะยุติชุมนุมทันที ด้าน"ส.ว.สมชาย" จี้ครม.ใช้กม.ความมั่นคง กับกลุ่มเสื้อแดงที่ประกาศจะปิดล้อมศาลรธน. เหมือนที่เคยใช้กับม็อบ "เสธ.อ้าย"

วานนี้ ( 6 พ.ค.) กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ยังคงปักหลักชุมนุมกดดัน เรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด ที่บริเวณลานเสาธงหน้าศูนย์ราชการฯ 1 อาคารศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ ต่อเนื่อ'กันเป็นวันที่ 15 แล้ว โดยมีทั้งประชาชนทั่วไป และกลุ่มพระสงฆ์ร่วมชุมนุมกันอย่างคึกคัก

เมื่อเวลา 11.00 น. นายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช รองประธาน กวป. และนายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกวป. แถลงว่า การชุมนุมขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ พวกตนขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่สละเวลา มาร่วมชุมนุมต่อสู้ และทางกวป.ได้รับแรงกดดัน ถูกบีบจากจากทุกด้าน ทุกฝ่าย ให้กวป.ยุติการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 6พ.ค. แต่พวกเราไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการต่อสู้ตามวิถีทางของภาคประชาชน ซึ่งพี่น้องประชาชนในที่นี้ ต่างยืนยันว่าจะยังปักหลักชุมนุมบริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด กวป.จึงไม่อาจฝืนมติพี่น้องประชาชนได้ ดังนั้น กวป.ยืนยันจะปักหลักชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ โดยสงบ และไม่ทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเดือดร้อน ต่อไปจนถึงวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งกวป. นัดจะยกระดับการชุมนุมภายใต้สโลแกน " 8 พฤษภา มาเป็นแสน ขับไล่ตลก. ยกเลิก ม.309 " และจะมีพี่น้องประชาชนจาก 37 จังหวัด เดินทางมาร่วมชุมนุม ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

นายชาญ ไชยะ กล่าวว่า วันที่ 8 พ.ค.นี้ จะเป็นวันชี้ชะตาการชุมนุมของทาง กวป. ถ้าประชาชนมาถึง 1 แสนคน จะถือเป็นมติมหาชน ในการเคลื่อนไหวกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกทั้งคณะ พวกเราจะชุมนุมต่อ แต่ถ้าประชาชนมาไม่ถึง 1 แสนคน ทาง กวป.จะประกาศยอมแพ้ ยุติการชุมนุม และยุติบทบาทลงเพราะถือว่าพี่น้องประชาชนไม่เอาด้วยกับการเคลื่อนไหวของกวป. ดังนั้น วันที่ 8 พ.ค. นี้ จะอาศัยมติของประชาชนว่า กวป. จะดำเนินการต่อไปอย่างไร

แหล่งข่าวจากแกนนำ กวป.เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย ติดต่อมาขอให้กลุ่มแกนนำกวป.ยุติการชุมนุมทันที หลังจากก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษากวป. ได้ขอร้องให้ นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ประธาน กวป. และนายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช รองประธาน กวป. ประชุมแกนนำ และประกาศยุติการชุมนุมตั้งแต่วันอังคารที่ 30 เม.ย. แต่ปรากฏว่า ไม่สำเร็จ เนื่องจากแกนนำและมวลชนส่วนใหญ่ในที่ชุมนุมยังไม่ยอม ทางกวป.จึงต่อรองว่า จะชุมนุมต่อไปจนถึงวันที่ 8 พ.ค. เนื่องจาก มวลชนจาก 37 จังหวัด กำลังเดินทางมาร่วมกิจกรรมขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 พ.ค. ตามที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากมวลชนมาไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะยุติชุมนุมทันที

**อ้างพรรคไม่ได้หนุนกลุ่มกวป.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่ม กวป. ที่จะยกระดับการชุมนุมตั้งเป้าประชาชนมา ร่วมแสนคนในวันที่ 8 พ.ค.โดย มีการปล่อยข่าว ว่าแกนนำพรรคเพื่อไทย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ตลอดจน ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคน จะสนับสนุนมวลชนมาร่วมชุมนุมนั้น ขอปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง ตรวจสอบไปยังแกนนำพรรคได้ แกนนำรัฐบาลได้สอบถาม นายวรชัย และ ส.ส.อีกหลายคน ที่ถูกอ้างถึงแล้ว ทุกคนยืนยันว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าว เชื่อว่าคนปล่อยข่าวเป็นพวกฝ่ายตรงข้ามหน้าเดิม ที่หวังผลทางการเมือง สร้างความสับสนให้ประชาชน วันนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้มีมาตรการตอบโต้ตามวิถีทางการเมือง ในเวทีรัฐสภา ส่วนการชุมนุม เป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ขอย้ำว่า ไม่มีใครไปให้ท้ายรู้เห็นเป็นใจ อย่าพยายามโยงให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปราศจากหลักฐาน เชื่อว่าการยกระดับการชุมนุมของกวป. จะไม่มีความรุนแรงใดๆ เพราะการชุมนุมที่ผ่านมาล้วนสงบเรียบร้อยดี

อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดูแลการชุมนุมให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ถ้ามีคนมาชุมนุมมากก็ต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ วันนี้เราไม่ห่วงการชุมนุมของกวป. แต่ห่วงเรื่องมือที่ 3 จะเข้ามายั่วยุ หรือสร้างสถานการณ์ ทำให้เกิดปัญหา

**จี้รัฐบาลใช้พ.ร.บ.มั่นคง คุมม็อบกวป.

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามความคืบหน้าทางคดีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการประชุมครม. ชุดเล็ก เพื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อให้อำนาจฝ่ายความมั่นคง เข้ามาควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในนาม กลุ่มกวป. ที่ประกาศว่าจะระดมคนเพื่อปิดล้อมศูนย์ราชการ ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเคยประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง จัดการกับการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) มาแล้ว โดยครั้งนั้นรัฐบาลแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ พร้อมกับระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นนาย เข้ามาคุมพื้นที่ และที่สำคัญมีการใช้แก๊สน้ำตา จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยครั้งนี้เห็นว่าการประกาศท่าทีของคนเสื้อแดงได้เข้าลักษณะเดียวกับตอนองค์การพิทักษ์สยามประกาศชุมนุมใหญ่ เมื่อปลายปี 2555 ดังนั้นรัฐบาลควรจะดำเนินการใช้กฎหมายความมั่นคงเช่นเดียวกับที่ใช้กับองค์การพิทักษ์สยาม

“ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการกับคนเสื้อแดงด้วยการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง อาจถูกมองได้ว่า มีการกระทำที่เป็นสองมาตรฐาน หรือหากรัฐบาลไม่คิดจะใช้กฎหมายฉบับนี้ควบคุมการชุมนุมคนเสื้อแดงจริงๆ ก็ขอให้บอกว่าตามตรงว่า ม็อบเสื้อแดงครั้งนี้มีจำนวนไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายดังกล่าว”นายสมชาย กล่าว

**ซัด"มาร์ค"ใส่ร้าย"ทักษิณ"

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน และคนเสื้อแดง เป็นเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณให้ดำเนินการขั้นแตกหัก และบอกว่าความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ และว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่สามารถล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้นั้น ตนเห็นด้วยกับนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ก้าวไม่ข้าม และตามไม่ทันพ.ต.ท.ทักษิณ และก็ไม่เหนือความคาดหมายว่า นายอภิสิทธิ์ จะโยนความผิดทุกอย่างให้พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่เคยดูการกระทำของตัวเอง ว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญหา และทำลายความมั่นคงทางการเมืองของประเทศมาอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการบอยคอตการเลือกตั้งปี 2548 และท่าทีในการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตาม มาตรา 7 ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ที่นำสู่วิกฤตการทางเมือง ก่อนรัฐประหาร

ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ อย่าดูหมิ่นสติปัญญาของคนไทยว่าปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเกิดจากพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ความวุ่นวายของประเทศเกิดขึ้นจากฝ่ายมือที่มองไม่เห็น ไปทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ และใช้กลไกทุกอย่างทำลายฝ่ายตรงกันข้าม โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 54 ไม่บอกอะไรนายอภิสิทธิ์ บ้างเลยหรือ ว่าทำไมประชาชนจึงได้สนับสนุนฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ให้ได้เสียงข้างมาก อย่างเด็ดขาด

“การที่นายอภิสิทธิ์ พูดว่าเลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่สามารถล้างผิดพ.ต.ท.ทักษิณ แต่นายอภิสิทธิ์ ควรรู้ว่าความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารนั้น เกิดจากการสอบสวนของคตส. ที่คณะรัฐประหาร ตั้งฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นกรรมการ ซึ่งล้วนขัดหลักนิติธรรมทั้งสิ้น ทีตัวเองถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นนายกฯ สองสัญชาติ ใช้เอกสารปลอมในการเข้ารับราชการทหาร และก่อให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายคน ก็บอกว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตั้งข้อกล่าวหา หลังรัฐประหาร ก็บอกว่าชอบธรรมแล้ว นี่คือความเลวร้ายของระบบอภิสิทธิ์ชน ที่นายอภิสิทธิ์ ควรรู้” นายนพดล กล่าว

**โวยศาลรธน.ขับรถคร่อมเลน

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ความสนใจกับปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ราคาแก๊ส พืชผลการเกษตร มากกว่าเดินหน้าสร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าว่า ถือเป็นอีกหนึ่งวาทกรรมที่เป็นแผ่นเสียงตกร่อง อาจต้องการทำให้เกิดอุปาทานหมู่ในกลุ่มประชาชน นายอภิสิทธิ์ ต้องสร้างความเข้าใจว่า อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้น แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยทั้ง 3 ฝ่าย ต้องถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน วันนี้หลายกรณีอำนาจฝ่ายตุลาการ ก้าวล่วงอำนาจอื่น จนทุกฝ่ายทำงานลำบาก อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ให้ 312 ส.ส. และ ส.ว.สมาชิกรัฐสภา ต้องส่งคำชี้แจง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เขาก็โต้แย้งด้วยการส่งแถลงการณ์ ซึ่งมีความชัดเจน ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการเพียงยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นการแสดงออกแบบอหิงสา เพื่อไม่ให้ใครมาช่วงชิงอำนาจอธิปไตยของคนไทย ไม่ได้เป็นการกดดัน หรือเอาชนะคะคานศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความเห็นต่างในทางกฎหมาย ระหว่างสมาชิกรัฐสภา 312 คน กับศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรให้ทุกฝ่ายมาตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของตนเอง การที่จะมากล่าวหาว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำร้ายนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และไม่อยากให้ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมือง และทำร้ายสมาชิกรัฐสภา ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงการเห็นต่างทางข้อกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าคงมีข้อยุติในที่สุด

"วันนี้ยังไม่มีใครจะยุบศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ แต่ควรจะมีการปรับปรุงภารกิจให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ขับรถคร่อมเลนอำนาจฝ่ายอื่นเขาหมด ระหว่างนี้ฝ่ายบริหารก็บริหารประเทศให้เดินไปข้างหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเผชิญหน้าใดๆ พอนายกฯไม่อยู่สภา ก็บอกว่าไม่ให้เกียรติงานนิติบัญญัติ พองานฝ่ายนี้เริ่มจะมีความขัดแย้ง บอกว่า เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนดีกว่า ยังดีว่าท่านนายกฯหลักแน่น ขืนทำงานตามเสียงแนะของฝ่ายค้าน คงยุ่งกว่านี้ ตามใจไม่ถูก"นายอนุสรณ์ กล่าว และว่า การชุมนุมของกลุ่ม กวป. ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ไม่น่าจะมีความรุนแรงใดๆ เพราะผู้ชุมนุมได้รับบทเรียนที่ผ่านมา เพราะถ้าการชุมนุมไม่อยู่ในเสรีภาพ และขาดเหตุผล ก็จะขาดการสนับสนุนจากแนวร่วมในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น