xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการยุติธรรมกับคดีจ้างวานฆ่า...(กรณีเจริญ วัดอักษร)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


กรณีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีตัดสินยกฟ้องนายธนู หินแก้วผู้ตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว ได้สร้างความกังขาให้กับพี่น้องในพื้นที่ที่ติดตามและรับรู้ความเป็นมาเป็นไปของคดีนี้มาอย่างใกล้ชิด นักกฎหมายได้ยกสุภาษิตกฎหมายที่ยึดถือกันมานานอธิบายว่า “การปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” และบอกว่ามันเป็นสุภาษิตที่ตรงกับหลัก “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” คือการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 โดยให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษ จนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยมีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ด้วยเหตุนี้คดีบงการจ้างวานฆ่าในสังคมไทยจึงเบ่งบานทุกหย่อมหญ้า และส่วนใหญ่ผู้บงการฆ่า จ้างวานฆ่า มักรอดพ้นจาดเงื้อมมือของกฎหมายและขบวนการยุติธรรม

ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยกฟ้องจำเลยที่ 3 คือนายธนู หินแก้ว ในกรณีตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร ซึ่งอยู่ในคำพิพากษาหน้าที่ 23 ถึงหน้าที่ 25 จากจำนวนคำพิพากษาทั้งหมด 25 หน้า โดยเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงว่า ก่อนเกิดเหตุนายธนูขับรถยนต์ไปส่งนายประจวบ หินแก้ว (มือปืน) ที่ปั๊มน้ำมันของนายเจือ หินแก้ว ซึ่งนายเสน่ห์ เหล็กล้วน (มือปืน) พักอาศัยอยู่ หลังจากนั้นนายเสน่ห์จึงขับรถจักรยานยนต์ที่มีนายประจวบซ้อนท้ายไปยังที่เกิดเหตุ แม้ในชั้นสอบสวนมือปืนทั้งสองรับว่านายธนูเป็นผู้สั่งให้ไปยิงนายเจริญผู้ตาย แต่เมื่อมือปืนทั้งสองถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล คำให้การต่างๆ ของมือปืนทั้งสองไม่ว่าในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน หรือการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ จึงถือเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น คำรับสารภาพของมือปืนทั้งสองที่ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลด้วยตนเอง ถือเป็นคำพยานซัดทอดจำเลยอื่น (หมายถึงนายธนู) ที่อ้างว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอนหรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจฟังลงโทษนายธนูได้ จึงพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวนายธนูพ้นความผิดไป

ในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์ในชั้นพิจารณาเป็นแค่พยานบอกเล่ามีน้ำหนักให้รับฟังน้อย (ไม่น่าเชื่อถือ) ไม่อาจฟังลงโทษนายธนู หินแก้วได้ ซึ่งต่างไปจากการพิจารณาคดีสืบพยานในศาลชั้นต้น ซึ่งรับฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญหลายประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้นำมาพิจารณา หรือพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือ จึงตัดสินยกฟ้องนายธนู หินแก้ว ประเด็นต่างๆ นั้น พอสรุปได้คือด้วยเหตุที่มือปืนทั้งสองตายในเรือนจำ ก่อนที่จะมาเบิกความที่ศาลอาญา ทำให้ไม่มีตัวมือปืนทั้งสองมาเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาล จึงดูเหมือนว่าความจริง จากคำรับสารภาพของมือปืนจะไม่ปรากฏต่อศาล หรือถูกลดน้ำหนักให้เป็นแค่พยานบอกเล่าซึ่งเป็นการซัดทอดนายธนู จึงเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญารวมทั้งข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุดเท่าที่ผ่านมานั้น ได้วางหลักไว้ประการหนึ่งว่า แม้จะเป็นคำพยานบอกเล่า ศาลก็สามารถรับฟังได้ หากตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าเหล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้หรือมีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังคำพยานบอกเล่านั้นและตามแนวคำพิพากษาฎีกาหลายๆ เรื่องก็ยังวินิจฉัยไปในทำนองที่ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างจำเลยด้วยกัน แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากการซัดทอดนั้นมีเหตุผลรับฟังได้ ศาลก็มีอำนาจรับฟังประกอบการพิจารณาได้ ยิ่งคำให้การดังกล่าวหากไม่ปรากฏมีเหตุจูงใจว่า ให้การเพื่อให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ศาลก็สามารถรับฟังคำให้การดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

ในคดีที่เจริญ วัดอักษรถูกสังหารจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นมือปืนยิงเจริญ ต่างก็ได้ให้การรับสารภาพโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าตนเองจะตายแบบผิดปกติก่อนเวลาอันควร โดยชี้แจงรายละเอียดในการกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอนโดยความสมัครใจต่อหน้าพนักงานสอบสวนหลายคณะ โดยมีทนายความของตนนั่งอยู่ด้วยในระหว่างการสอบสวน และพยานวัตถุในที่เกิดเหตุกับพยานวัตถุที่มือปืนทั้งสองได้นำตำรวจไปตรวจพบภายหลังเกิดเหตุทุกชิ้นก็ล้วนตรงตามข้อเท็จจริงที่มือปืนทั้งสองให้การรับสารภาพไว้ รวมทั้งคำซัดทอดของมือปืนทั้งสองว่านายธนูเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ตนไปยิงคุณเจริญจนถึงแก่ความตายนั้น ก็มิได้เป็นคำซัดทอดเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด ไม่ปรากฏว่ามือปืนทั้งสองมีเหตุโกรธเคืองใดๆ ที่จะต้องใส่ร้ายนายธนู แต่กลับปรากฏว่ามือปืนทั้งสองเป็นลูกน้องและเป็นญาติกับนายธนู คำให้การของมือปืนทั้งสองในชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักและสามารถรับฟังได้ การที่ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้มิได้นำมาพิจารณาประกอบข้อวินิจฉัยเลยนั้น ย่อมสร้างความกังขาในดุลพินิจนั้นว่าถูกต้องตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้วางหลักไว้ ด้วยความไม่รอบรู้หรือมีความอคติใดแฝงเร้นอยู่หรือไม่

“การปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”... “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ด้วยการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย ช่างเป็นวาทกรรมที่สวยหรูงดงามยิ่งนักของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่จริงในสังคม ผู้บงการจ้างวานฆ่าผู้อื่น ส่วนใหญ่หลุดรอดลอยนวล กระบวนการยุติธรรมไทยควรจะได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการที่จะเอามาแก้ไขปัญหานี้ได้ยังไง คือโจทย์ที่สังคมคนบริสุทธิ์ในบ้านเมืองนี้คาดหวังจากขบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น