คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
ชื่อของเจริญ วัดอักษร กลับมาปรากฏต่อหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องจำเลย (นายธนู หินแก้ว) ผู้จ้างวานฆ่าเจริญ โดยในศาลชั้นต้นได้ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 พิพากษาให้ประหารชีวิต นายธนู หินแก้ว ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า นายธนู หินแก้ว เป็นผู้จ้างวานใช้ให้นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว มือปืนมาลอบยิงเจริญ วัดอักษร ด้วยเหตุความโกรธแค้นที่เจริญ วัดอักษร เป็นผู้นำชาวบ้านที่เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท กัลฟ์พาวเวอร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด ที่ ต.บ่อนอก ซึ่งจำเลยมีส่วนได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้ รวมทั้งเปิดโปงการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธง ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2556 โดยศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยผู้จ้างวานฆ่า เจริญ วัดอักษร การพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้ได้เกิดกระแสวิพากษ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์อย่างกว้างขวาง มีการจัดเวทีวิพากษ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ผมมานั่งหวนคิดถึงชายผิวดำร่างสูงโปร่ง จิตใจโอบอ้อมอารี อารมณ์ดีตลกโปกฮา แต่เข้มแข็ง และจริงจัง นามเจริญ วัดอักษรคนนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
เจริญ วัดอักษรถูกฆ่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ในขณะที่ลงจากรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ตรงสี่แยกหน้าวัดบ่อนอก หลังจากที่เขาเดินทางกลับจากไปทำภารกิจยื่นเอกสารต่อหน่วยงานราชการเพื่อทวงคืนที่ดินคลองชายธงที่ถูกกลุ่มนายทุนยึดไปเป็นสมบัติส่วนตัว หลังจากนั้น ข่าวการเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร ก็กระจายไปดังไฟลามทุ่ง เพราะชีวิตที่ผ่านมาของเขาไม่ได้มีประเด็นอันเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะนำมาสู่การถูกฆ่าได้ ยกเว้นเพียงประเด็นเดียวก็คือ การใช้ชีวิตทำเพื่อประโยชน์สาธารณะมาตลอดชีวิต สื่อมวลชนแทบจะทุกแขนงได้เข้ามานำเสนอข่าวสารการอุทิศชีวิตของเขาที่ทำเพื่อชุมชนบ้านเกิด จนในที่สุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตามจับกุมผู้บ่งการฆ่า และผู้ลงมือฆ่าเจริญ วัดอักษรได้ยกแก๊ง ซึ่งประกอบด้วย นายเสน่ห์ เหล็กล้วน นายประจวบ หินแก้ว นายธนู หินแก้ว นายมาโนช หินแก้ว และนายเจือ หินแก้ว ให้ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่า และใช้จ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร และศาลอาญาชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว โดยวินิจฉัยว่านายธนู หินแก้ว เป็นผู้จ้างวานใช้ให้นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว มือปืนมาลอบยิงเจริญ วัดอักษร
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์ในชั้นพิจารณาเป็นแค่พยานบอกเล่ามีน้ำหนัก ให้รับฟังน้อย (ไม่น่าเชื่อถือ) ไม่อาจฟังลงโทษนายธนู หินแก้วได้ ซึ่งต่างไปจากการพิจารณาคดีสืบพยานในศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญหลายประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้นำมาพิจารณา หรือพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือ จึงตัดสินยกฟ้องนายธนู หินแก้ว
สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เพราะเหตุว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีอยู่นั้น ปรากฏว่า นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว ซึ่งได้รับสารภาพว่าเป็นมือปืนผู้ใช้อาวุธปืนยิงเจริญ วัดอักษร ในคดีดังกล่าว ได้เสียชีวิตด้วยอาการป่วยขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ โดยทั้งสองเสียชีวิตก่อนขึ้นเบิกความต่อศาลเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุที่มือปืนทั้งสองตาย (หรือถูกทำให้ตาย??) ในเรือนจำ ก่อนที่จะมาเบิกความที่ศาลอาญาได้นั้น ทำให้ไม่มีตัวมือปืนทั้งสองมาเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาล จึงดูเหมือนว่าความจริงจากคำรับสารภาพของมือปืนต่อพนักงานสอบสวน จะไม่ปรากฏต่อศาล หรือถูกลดน้ำหนักให้เป็นแค่พยานบอกเล่าซึ่งเป็นการซัดทอดนายธนู จึงเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้
เหตุผลที่ศาลชั้นต้นตัดสินพิพากษาให้ประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ในฐานเป็นผู้จ้างวานใช้ให้นายเสน่ห์ และนายประจวบมือปืน มายิงเจริญ วัดอักษร ก็เพราะว่าพยานหลักฐานโจทก์ในชั้นพิจารณายืนยันในข้อเท็จจริงได้ชัดเจนว่า นายธนู หินแก้วจำเลยที่ 3 กับเจริญ วัดอักษร มีกรณีขัดแย้งกันเกี่ยวกับเหตุที่นายธนูกับพวกเป็นผู้สนับสนุน และมีผลประโยชน์จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และกรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธง ส่วนเจริญผู้ตายเป็นผู้นำชุมชนที่คัดค้านโครงการดังกล่าว นายเสน่ห์ เหล็กล้วน เป็นลูกน้องของนายธนู และพักอาศัยที่ปั๊มน้ำมันของนายเจือ ส่วนนายประจวบ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายธนู และกินนอนอยู่ที่บ้านของนายธนู มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ อาวุธปืนที่ใช้ยิงคุณเจริญ เป็นอาวุธที่อยู่ในการครอบครองของครอบครัวนายธนู ซึ่งนายธนูเป็นผู้นำมามอบให้มือปืน และสั่งให้ไปยิงเจริญ รวมทั้งนายธนูยังเป็นผู้ขับรถยนต์มาส่งมือปืนที่ปั๊มน้ำมันของนายเจือ จากนั้นมือปืนทั้งสองจึงนั่งมอเตอร์ไซค์ไปก่อเหตุฆ่าเจริญ
ภายหลังจากที่มือปืนทั้งสองได้ฆ่านายเจริญแล้วได้หลบหนีไปอยู่ที่บ้านของนายธนู การจับกุมมือปืนทั้งสองก็จับกุมได้ที่บ้านของนายธนู โดยในขณะจับกุมนายธนู ก็รับว่าเป็นเจ้าของบ้านที่มือปืนหลบซ่อนอยู่ ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ มือปืนทั้งสองให้การรับสารภาพไว้หลายครั้งด้วยความสมัครใจ ปราศจากการบังคับขู่เข็ญใดๆ โดยการรับสารภาพทุกครั้งได้มีการบันทึกถ้อยคำ และเทปวิดีโอไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวน และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคณะ และการรับสารภาพดังกล่าวก็ให้การต่อหน้าทนายความของมือปืนซึ่งร่วมรับฟังการให้การอยู่ด้วย มือปืนทั้งสองซึ่งคนหนึ่งเป็นลูกน้องอาศัยอยู่ในบ้านพ่อของนายธนู อีกคนหนึ่งเป็นญาติ และอาศัยที่บ้านของนายธนู จำเลยทั้งหมดอยู่ในกลุ่มสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจริญผู้ตาย เห็นได้ว่า นายธนูเป็นผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับมือปืนทั้งสอง และมีบุญคุณต่อกัน อีกทั้งไม่ปรากฏว่า มือปืนทั้งสองมีเหตุโกรธเคืองใดๆ กับนายธนู ถึงขนาดที่จะซัดทอด หรือใส่ร้ายนายธนู ว่าเป็นผู้จ้างวานให้ไปฆ่าคุณเจริญซึ่ง มีโทษสูงถึงประหารชีวิต และนายธนูก็มิได้นำพยานหลักฐานใดๆ มาเบิกความต่อสู้สนับสนุนข้ออ้างของตนแต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักที่จะโต้แย้งข้อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้เลย
ด้วยความเคารพต่อศาล และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกฟ้องจำเลย ด้วยเหตุที่สำคัญก็เพราะว่า มือปืนทั้งสองตายในเรือนจำก่อนที่จะมาเบิกความที่ศาลอาญา ทำให้ไม่มีตัวมือปืนทั้งสองมาเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาล จึงดูเหมือนว่าความจริงจากคำรับสารภาพของมือปืนจะไม่ปรากฏต่อศาล หรือถูกลดน้ำหนักให้เป็นแค่พยานบอกเล่าซึ่งเป็นการซัดทอดนายธนู จึงเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ แม้จะยังมีคำถามคาใจอีกมากมายสำหรับสาธารณชน ต่อการจากไปด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าลุกขึ้นมาสู้กับระบบทุนที่รุกคืบเข้ายึดกุมพื้นที่ชุมชนในรูปแบบต่างๆ การลุกขึ้นมาสู้ของคนเล็กคนน้อยในสังคมนี้มักตกเป็นเหยื่อให้เราทราบกันเป็นรายวัน โดยที่ผู้สั่งฆ่า หรือบงการฆ่ามักลอยนวลเสมอๆ เป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องหาทางออก หากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ ก็พอจะเดากันได้ว่า สังคมเราจะพัฒนาความรุนแรงเพิ่มระดับขึ้นไป และขยายวงมากขึ้น เจริญ วัดอักษร จะไม่ใช่ศพแรก และก็คงไม่ใช่ศพสุดท้ายอย่างแน่นอน