คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
กรณีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีตัดสินยกฟ้อง นายธนู หินแก้ว ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินประหารชีวิต นายธนู หินแก้ว ได้สร้างความกังขาให้แก่พี่น้องในพื้นที่ที่ติดตาม และรับรู้ความเป็นมาเป็นไปของคดีนี้มาอย่างใกล้ชิด นักกฎหมายได้ยกสุภาษิตกฎหมายที่ยึดถือกันมานานอธิบายว่า “การปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” และบอกว่า มันเป็นสุภาษิตที่ตรงกับหลัก “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” คือ การสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 โดยให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษ จนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยมีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ด้วยเหตุนี้ คดีบงการจ้างวานฆ่าในสังคมไทยจึงเบ่งบานทุกหย่อมหญ้า และส่วนใหญ่ผู้บงการฆ่า จ้างวานฆ่า มักรอดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม
ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยกฟ้องจำเลยที่ 3 คือ นายธนู หินแก้ว ในกรณีตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่า เจริญ วัดอักษร ซึ่งอยู่ในคำพิพากษาหน้าที่ 23 ถึงหน้าที่ 25 จากจำนวนคำพิพากษาทั้งหมด 25 หน้า โดยเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงว่า ก่อนเกิดเหตุ นายธนู ขับรถยนต์ไปส่งนายประจวบ หินแก้ว (มือปืน) ที่ปั๊มน้ำมันของ นายเจือ หินแก้ว ซึ่งนายเสน่ห์ เหล็กล้วน (มือปืน) พักอาศัยอยู่ หลังจากนั้น นายเสน่ห์ จึงขับรถจักรยานยนต์ที่มีนายประจวบ ซ้อนท้ายไปยังที่เกิดเหตุ แม้ในชั้นสอบสวนมือปืนทั้ง 2 รับว่า นายธนู เป็นผู้สั่งให้ไปยิงนายเจริญผู้ ตาย แต่เมื่อมือปืนทั้ง 2 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล คำให้การต่างๆ ของมือปืนทั้ง 2 ไม่ว่าในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน หรือการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ จึงถือเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น คำรับสารภาพของมือปืนทั้ง 2 ที่ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลด้วยตนเอง ถือเป็นคำพยานซัดทอดจำเลยอื่น (หมายถึงนายธนู) ที่อ้างว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญอันมีเหตุผลแน่นอน หรือมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีมาสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจฟังลงโทษ นายธนู ได้ จึงพิพากษายกฟ้องปล่อยตัว นายธนูพ้น ความผิดไป
ในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์ในชั้นพิจารณาเป็นแค่พยานบอกเล่ามีน้ำหนักให้รับฟังน้อย (ไม่น่าเชื่อถือ) ไม่อาจฟังลงโทษ นายธนู หินแก้ว ได้ ซึ่งต่างไปจากการพิจารณาคดีสืบพยานในศาลชั้นต้น ซึ่งรับฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญหลายประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้นำมาพิจารณา หรือพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือ จึงตัดสินยกฟ้อง นายธนู หินแก้ว ประเด็นต่างๆ นั้น พอสรุปได้คือ ด้วยเหตุที่มือปืนทั้ง 2 ตายในเรือนจำ ก่อนที่จะมาเบิกความที่ศาลอาญา ทำให้ไม่มีตัวมือปืนทั้ง 2 มาเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาล จึงดูเหมือนว่าความจริง จากคำรับสารภาพของมือปืนจะไม่ปรากฏต่อศาล หรือถูกลดน้ำหนักให้เป็นแค่พยานบอกเล่าซึ่งเป็นการซัดทอด นายธนู จึงเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้
แต่อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญารวมทั้งข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุด เท่าที่ผ่านมานั้น ได้วางหลักไว้ประการหนึ่งว่า แม้จะเป็นคำพยานบอกเล่า ศาลก็สามารถรับฟังได้ หากตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าเหล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือมีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังคำพยานบอกเล่านั้น และตามแนวคำพิพากษาฎีกาหลายๆ เรื่องก็ยังวินิจฉัยไปในทำนองที่ว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างจำเลยด้วยกัน แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากการซัดทอดนั้นมีเหตุผลรับฟังได้ ศาลก็มีอำนาจรับฟังประกอบการพิจารณาได้ ยิ่งคำให้การดังกล่าวหากไม่ปรากฏมีเหตุจูงใจว่า ให้การเพื่อให้ตนพ้นความผิด หรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ศาลก็สามารถรับฟังคำให้การดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
ในคดีที่เจริญ วัดอักษร ถูกสังหาร จำเลยทั้ง 2 ซึ่งเป็นมือปืนยิงเจริญ ต่างก็ได้ให้การรับสารภาพโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าตนเองจะตายแบบผิดปกติก่อนเวลาอันควร โดยชี้แจงรายละเอียดในการกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอนโดยความสมัครใจต่อหน้าพนักงานสอบสวนหลายคณะ โดยมีทนายความของตนนั่งอยู่ด้วยในระหว่างการสอบสวน และพยานวัตถุในที่เกิดเหตุ กับพยานวัตถุที่มือปืนทั้ง 2 ได้นำตำรวจไปตรวจพบภายหลังเกิดเหตุทุกชิ้นก็ล้วนตรงตามข้อเท็จจริงที่มือปืนทั้ง 2 ให้การรับสารภาพไว้ รวมทั้งคำซัดทอดของมือปืนทั้ง 2 ว่า นายธนู เป็นผู้จ้างวานใช้ให้ตนไปยิง คุณเจริญ จนถึงแก่ความตายนั้น ก็มิได้เป็นคำซัดทอดเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด ไม่ปรากฏว่า มือปืนทั้ง 2 มีเหตุโกรธเคืองใดๆ ที่จะต้องใส่ร้าย นายธนู แต่กลับปรากฏว่า มือปืนทั้ง 2 เป็นลูกน้องและเป็นญาติกับนายธนู คำให้การของมือปืนทั้ง 2 ในชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก และสามารถรับฟังได้ การที่ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้มิได้นำมาพิจารณาประกอบข้อวินิจฉัยเลยนั้น ย่อมสร้างความกังขาในดุลพินิจนั้นว่าถูกต้องตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้วางหลักไว้ ด้วยความไม่รอบรู้ หรือมีความอคติใดแฝงเร้นอยู่หรือไม่
“การปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”... “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ด้วยการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย ช่างเป็นวาทกรรมที่สวยหรูงดงามยิ่งนักของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่จริงในสังคม ผู้บงการจ้างวานฆ่าผู้อื่น ส่วนใหญ่หลุดรอดลอยนวล กระบวนการยุติธรรมไทยควรจะได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และวิธีการที่จะเอามาแก้ไขปัญหานี้ได้ยังไง คือ โจทย์ที่สังคมคนบริสุทธิ์ในบ้านเมืองนี้คาดหวังจากกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องครับ