xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นหัวทิ่มรอบ7เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ความเชื่อมั่นผู้บริโภคหัวทิ่มลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เหตุคนกังวลบาทแข็ง เศรษฐกิจแย่ การเมืองวุ่นวาย หวั่นกระทบรายได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย.2556 ปรับลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 73.9 ลดจากเดือนมี.ค.ที่ 75 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ 75.5 ลดจาก 76.4ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้อนาคต 101.8 ลดจาก 102.9 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 83.7 ลดจาก 84.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน 65.9 ลดจาก 66.6 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอนาคต 89.7 ลดจาก 90.8

ปัจจัยลบที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง มาจากความกังวลเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วที่อาจจะส่งผลกระทบกับการส่งออก การท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของยุโรป ขณะที่ปัจจัยบวกมาจากราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์จีดีพีปี 2556 เติบโตเพิ่มจาก 4.9% เป็น 5.1% และยังมีการคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.75%

ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความกังวล ต่อเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ค่าครองชีพทรงตัวในระดับสูง และสถานการณ์ทางการเมือง และห่วงว่าจะมากระทบต่อตัวเอง ทั้งในส่วนเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ โอที ขณะที่ภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำจนทำให้กำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ความเชื่อมั่นลดลงมากสุด หลังจากราคาพืชเศรษฐกิจหลักอย่างยางพารา และปาล์มน้ำมันตกลงจากปีก่อนกว่า 20%”

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง ยังทำให้การวางแผนซื้อบ้าน ซื้อรถ ชะลอตัวลงไปด้วย และเห็นได้ชัดเจน จากการแถลงอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์เดือนเม.ย.2556 ที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 41 เดือน สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและเร่งหามาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แต่หอการค้าไทย ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ 5% แต่หากรัฐบาล ไม่เข้ามาดูแล อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 5% ได้

ส่วนแนวโน้มความเชื่อมั่นยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้ต่อ หากปัจจัยลบยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท การเมือง และค่าครองชีพ แต่หากภาครัฐต้องการให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกลับมาขยายตัวต่อ จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่พยุงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนตามเศรษฐกิจโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น