xs
xsm
sm
md
lg

แรงงาน 4 ล้านไม่ได้ปรับ300บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30 เม.ย.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงคุณภาพชีวิตแรงงานภายหลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศว่า หากมองในด้านตัวเลขของค่าจ้างถือว่าดี แต่หากมองด้านของคุณภาพชีวิตกลับเท่าเดิมหรือต่ำลงกว่าเดิม เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีและนายจ้างบางส่วนนำเอาเงินสวัสดิการต่างๆมาจ่ายรวมกับค่าจ้างหรือบางโรงงานก็มีการปิดกิจการไป แรงงานถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ จากผลสำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของแรงงานนั้น หากต้องการให้แรงงาน 1 คน เลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 560 บาท แต่หลังปรับขึ้นค่าจ้างปีนี้แล้ว จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 2 ปี ซึ่งคิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นทุกปี ดังนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรจะปรับขึ้นตามไปด้วย
“อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าที่จะปรับขึ้น เช่น ค่าทางด่วนจากเดิม 45 บาท จะถูกปรับเป็น 50 บาท ค่ารถเมล์จะถูกปรับขึ้นอีก 2 บาท ค่าแก็สจะค่อยๆถูกปรับขึ้นมาเป็นลิตรละ 24 บาท และอยากให้เข้ามาดูแลชีวิตลูกจ้างให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบมาก” ประธานคสรท. กล่าว
นายชาลี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้างมีมากขึ้น หากมีสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น จะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปีพ.ศ. 2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีแรงงานในระบบประมาณ 4 ล้านคนซึ่งยังไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเป็นการสมยอมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อไม่ให้ถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานจึงควรดูแลให้แรงงานกลุ่มนี้ได้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท นอกจากนี้ ควรดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและการใช้สิทธิประโยชน์ของกองทุนเงินทดแทนเพราะเวลาลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงานสถานประกอบการบางแห่งไม่ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทนแต่ให้ไปรักษาในสถานพยาบาลเอกชน เนื่องจากสถานประกอบการกลัวมีสถิติอุบัติเหตุและไม่ได้รับรางวัลอุบัติเหตุเป็นศูนย์ นอกจากนี้ รัฐควรดำเนินงานและจัดสรรงบดูแลแรงงานนอกระบบให้มีความปลอดภัยในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีตามแผนยุทธศาสตร์
ส่วนข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหลังปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทนั้นมีไม่มาก แม้ขณะนี้แรงงานจะถูกนายจ้างบีบให้ทำงานหรือทำโอทีเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลาง แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่ก็ยินยอมเพราะไม่ต้องการตกงานยกเว้นลูกจ้างบางส่วนไม่ต้องการทำงานหรือโอทีเพิ่มขึ้น ก็จะมีปัญหาขัดแย้งกับนายจ้างจนนำไปสู่ข้อพิพาท ซึ่งรัฐบาลควรเข้าไปช่วยเหลือสถานประกอบการให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ การนำเข้าเครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต จะช่วยให้แรงงานไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไปและลดข้อปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
“เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กระทรวงแรงงานควรเร่งเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และที่น่าห่วงปัจจุบันสภาพแรงงานทั่วประเทศมีแค่กว่า 1 พันแห่ง สมาชิกทั้งหมดกว่า 4 แสนคนซึ่งหลายปีที่ผ่านมาจำนวนสหภาพแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นและตัวแทนลูกจ้างที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงาน บางส่วนก็ไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างอย่างแท้จริง ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบเวลาเจรจาต่อรองเมื่อเกิดขึ้นพิพาทกับนายจ้าง จึงควรส่งเสริมสหภาพแรงงานให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นและให้ได้ตัวแทนลูกจ้างที่แท้จริงเป็นแกนนำ” นายยงยุทธ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น