xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ ปชป.พึงกระทำเพื่อชนะพท. : ปฏิรูปตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน ถ้ามีการพูดถึงพรรคการเมืองไม่มีใครในสังคมไทยซึ่งสนใจการเมือง จะไม่รู้จักพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ซึ่งตั้งมานานและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

2. พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นในการต่อสู้ระบบเผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย โดยยึดเป็นอุดมการณ์ของพรรคเป็นหนึ่งเดียวไม่แปรเปลี่ยน ถึงแม้ผู้บริหารพรรคจะเปลี่ยนไปก็มิได้เปลี่ยนตาม

3. พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีบทบาทในการเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เก่งกาจ และเป็นที่เกรงขามของรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากว่าพรรคนี้เต็มไปด้วย ส.ส.ปากกล้ามีคารมคมคาย มีความรอบรู้ในด้านกฎหมายเป็นอย่างดี สามารถตอบโต้และตั้งกระทู้ถามฝ่ายรัฐบาลให้จนมุมได้แทบทุกครั้งที่มีการประชุมสภาฯ และเปิดโอกาสให้ถาม จึงเป็นที่ถูกใจของคอการเมืองที่นิยมฝ่ายค้าน และไม่ชอบรัฐบาลเป็นทุนอยู่แล้ว

4. ภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ซื่อสัตย์ และทำงานตรงไปตรงมาของบุคลากรทางการเมืองของพรรคนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของนายควง อภัยวงศ์ และนายชวน หลีกภัย ถึงแม้ว่าในยุคหลังๆ ภาพลักษณ์ในด้านนี้จะลดลงบ้าง เนื่องจากพฤติกรรมของคนบางคนในพรรค แต่ถ้าเทียบกับพรรคอื่นโดยรวมแล้วยังถือได้ว่าเลวน้อยกว่า

เหตุผลในเชิงตรรกะ 4 ประการดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นข้อดีข้อเด่นในด้านจริยธรรม แต่ในการแข่งขันกับพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยซึ่งอยู่ภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การนำโดยอ้อมหรือบงการผ่านนายกฯ ตัวแทน พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีข้อด้อยที่เป็นเหตุให้พ่ายแพ้ทางการเมือง และข้อด้อยที่ว่านี้ก็คือ

1. พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของคนชั้นกลางไปจนถึงชั้นสูงของประเทศ และนายทุนของพรรคนี้ก็เป็นกลุ่มทุนดั้งเดิมหรือกลุ่มทุนเก่า เช่น เจ้าของกิจการโรงงานสินค้ายี่ห้อดัง และเจ้าของที่ดิน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในสังคมเมืองและเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่มีกลุ่มคนระดับล่างหรือที่เรียกว่า กลุ่มรากหญ้า อันได้แก่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและอยู่ในสังคมชนบทเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองกับพรรคนี้ด้วย เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคจึงจำกัดอยู่ในแวดวงของคนชั้นกลางและชั้นสูง จึงกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงเขตเลือกตั้งในชนบทแทบทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นในภาคใต้ซึ่งพรรคนี้ฝังรากหยั่งลึกมานาน

ส่วนในสังคมเมือง ซึ่งคนชั้นกลางและสูงอยู่เป็นส่วนใหญ่ เช่น กทม.และในเขตเมืองพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งทางการเมืองอยู่ค่อนข้างมาก แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ คนในเมืองก็เริ่มเปลี่ยนไปเลือกพรรคคู่แข่งเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว

2. ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ในอดีตจำกัดวงอยู่ในหมู่นักกฎหมาย ถึงแม้ว่าในระยะหลังจะมีคนจากแวดวงอื่นเข้ามาผสมบ้าง แต่เมื่อเปรียบกับพรรคคู่แข่งก็ถือได้ว่ายังน้อยอยู่

3. พฤติกรรมองค์กรของพรรคประชาธิปัตย์เน้นหนักในบทบาทของรูปแบบการเมืองตั้งรับ

ดังนั้น นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกมาจนถึงยุคสุดท้าย ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นนโยบายเชิงรับคือทำแบบค่อยเป็นค่อยไปในทุกด้าน จึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในยุคที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านเศรษฐกิจและสังคม และนี่เองคือจุดพ่ายแพ้ต่อการเมืองในระบอบทักษิณที่ใช้นโยบายเชิงรุกในทุกด้าน

จริงอยู่ ในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารพรรคได้มีการกำหนดนโยบายในเชิงรุกบ้าง เช่น นโยบายไทยเข้มแข็ง เป็นต้น แต่การออกนโยบายประชานิยมของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดขึ้นทีหลังพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ มิได้ช่วยให้ประชาชนประทับใจในความแปลกใหม่ ตรงกันข้ามกลับมองว่าเป็นการลอกเลียนและดัดแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งหมดที่ยกมาคือข้อด้อยของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นเหตุให้พ่ายแพ้ทางการเมือง นอกเหนือไปจากการพ่ายแพ้ด้วยเทคนิคการต่อสู้โดยการใช้อำนาจเงิน และอำนาจรัฐบาลเกื้อหนุนของระบอบทักษิณ

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเอาชนะพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นใด ซึ่งอยู่ภายใต้การบงการของอดีตนายกฯ ทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำอย่างไร?

เพื่อจะตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนในฐานะเป็นคนใต้ และลงคะแนนให้พรรคนี้มาตลอด ต้องการเห็นพรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเอง มิใช่เพียงเพื่อชนะคู่แข่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อให้พรรคเป็นทรัพยากรทางการเมืองมีค่าควรแก่การรับใช้ปวงชน ทำหน้าที่ทั้งในด้านนิติบัญญัติ และบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ที่ลงคะแนนสนับสนุน และการปฏิรูปพรรคน่าจะกระทำได้ในแนวทางดังต่อไปนี้

1. สรรหาบุคลากรทางการเมืองที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับจากสังคมทุกภาคส่วน และจากหลากหลายสาขาวิชาชีพมาเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

2. จัดทำนโยบายในเชิงรุกในทุกด้านให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และสามารถนำมาดำเนินการได้ภายใต้ข้อจำกัดในทางการเงิน และภาวะแวดล้อมทางสังคมที่เป็นอยู่ในขณะที่ดำเนินงานตามนโยบายนั้นๆ

3. แสวงหาแนวร่วมทางการเมืองจากประชาชนในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางภาคเหนือและภาคอีสานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยการเข้าหามวลชนและจัดทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยการดึงเอาปราญ์ชาวบ้านหรือบุคคลที่ชุมชนนั้นๆ ให้ความเคารพนับถือ และเมื่อได้มาแล้วจะต้องมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบในกิจกรรมของพรรคที่จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชน รวมไปถึงคัดเลือกให้เป็นผู้ลงสมัครในนามพรรค เมื่อพบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม

4. ปรับปรุงระเบียบและข้อบังคับของพรรคเพื่อเปิดกว้างให้บุคคลจากทุกภาคส่วนมีโอกาสได้เป็นผู้บริหารพรรค โดยไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ทั้ง 4 ประการนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนเพียงคนเดียว จึงอาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาในการปฏิรูป แต่ก็อาจนำไปเสริมหรือรวมกับแนวทางที่ท่านอื่นๆ มีอยู่ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องตายตัว จะกระทำอย่างไรก็ได้เพียงขอให้พรรคดีขึ้น และมีโอกาสชนะทางการเมือง

จริงอยู่ บางคนในพรรคประชาธิปัตย์อาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องปฏิรูป เพราะที่เป็นมาแล้วในอดีตและเป็นอยู่ในปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว ทั้งมีโอกาสชนะพรรคการเมืองคู่แข่งเช่นพรรคเพื่อไทยได้สักวันข้างหน้า ข้อนี้ผู้เขียนเองไม่เพียงแต่ถามว่าเมื่อไหร่ และถ้าชนะเหนือพรรคเพื่อไทยในวันที่นโยบายประชานิยมสุดโต่งของพรรคนี้นำประเทศไปสู่ความหายนะ และแพ้เลือกตั้งหรือประชาชนออกมาขับไล่ หรือในวันที่พรรคเพื่อไทยใช้เงินของนายทุนทางการเมือง เช่น อดีตนายกฯ ทักษิณ มีอันต้องจากไปด้วยพ่ายแพ้ต่อกาลเวลา ก็ไม่น่าจะเรียกได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะด้วยความสามารถ และที่สำคัญประเทศไทยเสียหาย โดยที่พรรคประชาธิปัตย์มิได้มีส่วนช่วยในการปกป้องเท่าที่ควรจะเป็น สมกับที่ประชาชนไว้ใจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น