xs
xsm
sm
md
lg

ล้างพรรคNATO(ดีแต่พูด) ปชป.ทำช้า-ดีกว่าไม่คิดทำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

 อลงกรณ์ พลบุตร
แท้ที่จริงแล้ว เรื่องแนวคิดการเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเองของอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการผ่านการรับรู้ของคนในพรรคประชาธิปัตย์และสังคมมาตั้งแต่ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา

เพียงแต่มาอยู่ในความสนใจของสังคมมากขึ้นเวลานี้ เพราะอลงกรณ์ในฐานะคนเคยอยู่ในวงการสื่อเก่าและเล่นการเมืองมาร่วม 20 กว่าปี เลือกที่จะใช้จังหวะที่รู้ดีว่าวันหยุดสงกรานต์ยาวๆ อย่างน้อย5 วันตามวันหยุดราชการ ข่าวการเมืองส่วนใหญ่จะนิ่ง จึงเลือกจังหวะเวลาที่พื้นที่ข่าวการเมืองเปิดว่างสร้างกระแสเรื่องนี้ให้ถูกพูดถึงอีกครั้ง ผ่านช่องทางสื่อสารทวิตเตอร์ @alongkornpb ของตัวเอง ก็ได้ผลเพราะมีการนำประเด็นนี้มาพูดถึงกันกว้างขวาง

แนวคิดการปฏิรูปพรรคของ “อลงกรณ์”มีการนำเสนออย่างเป็นทางการระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์เมื่อ 23 มี.ค.2556 ที่มีแกนนำพรรคทุกรุ่น-ส.ส.และกรรมการบริหารพรรครวมถึงประธานสาขาพรรคทั่วประเทศเข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพียง

“เสี่ยจ้อน-อลงกรณ์”ที่รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งภาคกลางของประชาธิปัตย์ระบุไว้ในวงประชุมใหญ่ดังกล่าวว่า

“การเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะได้อย่างไร เราต้องมีจุดเปลี่ยน คือ เร่งปรับปรุงโครงสร้างที่มีปัญหามาตลอด ต้องสร้างขุนพลของพรรคขึ้นมา เช่น พื้นที่ภาคกลางได้สร้างขุนพลประชาชน จำนวน 2,000 คน เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเพิ่มจำนวน ส.ส.จาก 26 คน เป็น 40 คนให้ได้

ถ้าเราไม่ปรับวัฒนธรรมของพรรค จะสู้เขาไม่ได้ ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมามองตัวเอง ต้องปฏิรูปตัวเอง เพราะถ้าเราบริหารพรรคแบบนี้ทุกปี สู้ไม่ได้แน่ จึงต้องสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเดินหน้าไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริหารพรรค ส.ส. สาขา และสมาชิกพรรค และต้องเปิดให้สาขาพรรคเชิญบุคคลภายนอกเข้ามามีบทบาทร่วมในการคัดตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรคด้วย”

หลังจากนั้น เรื่องก็เงียบหายไป ซึ่งย่อมไม่ถูกใจ รองหัวหน้าพรรคปชป.ผู้นี้ที่ต้องการสร้างกระแสดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเลือกใช้จังหวะสงกรานต์ตอกย้ำเรื่องนี้ด้วยการขยายความผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ข้อเสนอการปฏิรูปพรรคต้องทำควบคู่กันไป 3 ด้านดังนี้

1.ปฏิรูปโครงสร้างและระบบภายในพรรค

2. ปฏิรูปด้านบริหารจัดการ

3.ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและบุคลากรภายในพรรค

พร้อมทั้งบอกว่าจะนำเสนอพิมพ์เขียวในการปฏิรูปโครงสร้างพรรคต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคหลังวันที่ 21 เม.ย. ที่มีการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.เชียงใหม่ เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคจะเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อหารือในเรื่องนี้ รวมถึงการเสนอให้พรรครุกทางการเมืองในช่วงต่อจากนี้เช่นขยายสาขาพรรคให้ครบทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง

เรื่องแนวคิดการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วมีการพูดถึงกันมานานแล้ว โดยเฉพาะหลังระบอบทักษิณเฟื่องฟูสุดขีด ในช่วงปี 47-48 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ปี 48 ที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในปี 48 ได้ส.ส.เกินกว่า 370 เสียงเสียอีก

ช่วงปี 47 ก็มีคนในพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิรูปพรรคกันมากมายหลายคน ถึงขั้นเสนอให้ผ่าตัดใหญ่พรรคประชาธิปัตย์กันเลยไม่เช่นนั้นคงสู้ทักษิณและไทยรักไทยไม่ได้

ก็ดูอย่างช่วงการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคปชป.ต่อจากชวน หลีกภัย ที่เป็นการแข่งขันกันระหว่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับบัญญัติ บรรทัดฐาน

หากจำกันได้ ช่วงนั้นกลุ่มของอภิสิทธิ์ที่เป็นการจับมือกันของอภิสิทธิ์-สุเทพ เทือกสุบรรณ-นิพนธ์ พร้อมพันธ์ ก็หาเสียงกับโหวตเตอร์ของพรรคเน้นเรื่องการให้โอกาสคนรุ่นใหม่อย่างอภิสิทธิ์ขึ้นมานำพรรคประชาธิปัตย์สู้กับทักษิณ แต่สุดท้าย คนในพรรคปชป.ที่ยังไงก็ยังมีความเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสูง เปลี่ยนแปลงช้าและปรับตัวไม่ทันกับกระแสการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ยังเทคะแนนให้บัญญัติเป็นหัวหน้าพรรคต่อจากชวน

ก่อนที่ต่อมาเมื่อบัญญัตินำทัพปชป.แพ้เลือกตั้งไทยรักไทยราบคาบในปี 48 สู้กระแสทักษิณและไทยรักไทยฟีเวอร์ไม่ได้ ก็เลยต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค จึงเป็นโอกาสของอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคยาวมาถึงทุกวันนี้ ก่อนที่ทักษิณจะแพ้ภัยตัวเองในเวลาต่อมา

ไม่ใช่แค่กับคอการเมืองเท่านั้น แต่สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ย่อมอยากเห็นการเมืองที่ไม่ผูกขาด ระบบการเมืองทุกภาคส่วนตรวจสอบได้ มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกหลากหลายให้กับประชาชน ไม่ใช่เลือกเพราะไม่รู้จะเลือกพรรคไหนหรือเลือกใคร แต่ต้องจำใจเลือกเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่ามาให้เลือก

สำหรับพวกแฟนพันธุ์แท้พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะพวกพ่อยกแม่ยกทั้งหลาย อาจเฉยๆ หรือคิดว่าไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปพรรคอะไรกันให้วุ่นวายกลายเป็นปัญหาขึ้นมาภายในพรรค

เพราะคิดว่าไม่ว่าจะยังไง ก็จะเลือกประชาธิปัตย์วันยังค่ำ ต่อให้ผู้สมัครส.ส.ของพรรค ไร้มาตรฐาน ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นนักการเมืองคุณภาพต่ำ ขอเพียงให้ใส่เสื้อประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคยังเป็นอภิสิทธิ์ ก็จะเลือกแบบไม่ต้องยั้งคิด

ซึ่งหากอภิสิทธิ์หรือคนในพรรค คิดกันแค่นี้ ไม่คิดจะทำให้พรรคปชป.มีคุณภาพมากขึ้น มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มีบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆที่เป็นมืออาชีพ สังคมให้การยอมรับ มาร่วมงานกับประชาธิปัตย์มากขึ้น เป็นพรรคที่ประชาชนซึ่งไม่ใช่พวกแฟนคลับหรือสมาชิกพรรค คิดว่าควรต้องไปลงคะแนนเสียงให้ในตอนเลือกตั้งเพราะเป็นพรรคที่มีผู้นำพรรคที่ดี มีผู้สมัครที่มีคุณภาพ มีนโยบายพรรคที่โดดเด่นและทำได้จริง เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนจากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

หากประชาธิปัตย์เดินไปไม่ถึงในจุดที่เขียนไว้ข้างต้น ดูแล้วก็ยากที่ปชป.จะแข่งกับเพื่อไทยและทักษิณได้อย่างสมน้ำสมเนื้อในช่วงเวลาไม่กี่ปีต่อจากนี้

มีแต่จะถูกเพื่อไทย-ทักษิณทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ และปชป.ก็อาจเหลือฐานที่มั่นทางการเมืองไม่กี่จุด อย่างภาคใต้-กรุงเทพมหานคร โดยที่ไม่สามารถขยายฐานเสียงของพรรคให้ขยายออกไปได้มากกว่าภาคใต้-กรุงเทพมหานคร ที่ก็ไม่แน่ว่าประชาธิปัตย์จะรักษาฐานที่มั่นได้ตลอดเรื่อยไปหรือไม่ มีโอกาสเช่นกันที่บางแห่งในภาคใต้หรือกรุงเทพมหานคร จะถูกเพื่อไทยแซะเข้าได้ในอนาคต หากประชาธิปัตย์ ยังไม่คิดจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเตรียมพร้อมสู้กับเพื่อไทยในอนาคต

วันนี้ ประชาธิปัตย์ต้องคิดให้ไกลและรอบด้านได้แล้วสำหรับอนาคตพรรคว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

การสรุปบทเรียนการพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมาให้กับทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้งซ้อน ทั้งในตอนไทยรักไทยเมื่อปี 2544,2548 ตอนสมัยพรรคพลังประชาชนปี 2550 และเพื่อไทยปี 2554 อันนี้ยังไม่นับรวมย้อนหลังความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่สมัยปี 2538 ที่แพ้ให้กับพรรคชาติไทยของบรรหาร ศิลปอาชาและการเลือกตั้งใหญ่ปี 2540 ที่แพ้พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

เท่ากับว่าประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35 ที่ประชาธิปัตย์โดดเด่นยิ่งนักในฐานะพรรคการเมืองที่สู้กับเผด็จการทหารคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือรสช.

ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ 21 ปีที่แล้ว!

ประชาธิปัตย์ ต้องเลิกสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้การเลือกตั้งด้วยแนวคิดเก่าๆ ได้แล้ว ประเภทว่าแพ้เพราะซื้อเสียง มีทุจริตเลือกตั้ง แพ้เพราะอำนาจเงิน และต้องมองไปข้างหน้าว่าจากนี้ต่อไปพรรคจะวางตำแหน่งทางการเมืองของตัวเองอย่างไรให้สู้กับเพื่อไทยได้ในสนามเลือกตั้งได้อย่างไร

ข้อเสนอให้ประชาธิปัตย์ปฏิรูปพรรคของ “อลงกรณ์”ที่ไม่ใช่คนแรกที่พูดเรื่องแบบนี้ เป็นข้อเสนอที่จะว่าไปแล้ว

มาช้าเกินไปด้วยซ้ำ

หลังที่ผ่านมา มีแต่คนบอกว่า ประชาธิปัตย์ตั้งพรรคมาหลายสิบปี แต่ก็ยังเล่นการเมืองแบบ NATO หรือ NO ACTION -TALK ONLY แปลง่ายๆ “พรรคดีแต่พูด”

มันไม่จริงหรอกที่ว่าเลือกตั้งทั้งสี่ครั้งที่ทักษิณชนะหมด จะชนะเพราะใช้เงิน-อำนาจรัฐ-ทุจริตการเลือกตั้ง อย่างเลือกตั้งปี 54 ก็เป็นประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลรักษาการ และเตรียมตัวทั้งเรื่องกระสุนดินดำ-การวางคนของตัวเองในกลไกอำนาจรัฐทั่วประเทศ มีโอกาสสร้างผลงานร่วมๆ สองปีกับการเป็นรัฐบาล แต่ก็ยังแพ้ให้กับเพื่อไทยแบบไม่ต้องลุ้น

แล้วก็ยังมาสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ให้กับทักษิณด้วยวาทกรรมเดิมๆ ประเภทแพ้เพราะซื้อเสียง-แพ้เพราะอำนาจรัฐ- อำนาจเงิน -กระแสเสื้อแดง-คนโดนทักษิณหลอกด้วยนโยบายประชานิยม
โดยไม่เห็นจะเคยบอกว่าพรรคตัวเองมีข้อผิดพลาดตรงไหน ทำไมคนส่วนใหญ่ของประเทศถึงไม่เลือกประชาธิปัตย์มาร่วมยี่สิบกว่าปี

การออกมากระตุ้นของ “อลงกรณ์”หลายคนที่ไม่ใช่พวกแฟนคลับประชาธิปัตย์ แต่อยากเห็นการเมืองมีทางเลือกหลากหลาย โดยเฉพาะการมีพรรคการเมืองที่สู้กับทักษิณ ชินวัตรได้แบบสมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช่สู้ด้วยน้ำลาย โวหาร ตีฝีปากไปวันๆ ต่างก็เชียร์ว่าขอให้เอาจริงเรื่องปฏิรุปพรรค อย่าแค่เล่นสร้างกระแส ถ้ากล้าคิดก็ต้องกล้าทำ

ไม่ใช่โดนผู้ใหญ่ในพรรคดุหน่อยก็หงอ โดนเรียกเข้าห้องเย็นไปอบรมว่าทำไมไม่คุยกันในพรรคเอาเรื่องไปคุยนอกพรรคทำไม ก็ถอย ฝ่อเสียแล้ว เพราะโดนผู้ใหญ่ในพรรคที่คิดไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองทำท่าขวางลำ

ขืนย่ำอยู่กับที่ ไม่คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทำให้พรรคเติบใหญ่ เป็นทางเลือกให้กับประชาชนสู้กับพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ ถ้ายังคิดและอยู่กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใครๆ ก็เดาออก
ประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านยาวแน่นอน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ชวน หลีกภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น