xs
xsm
sm
md
lg

“ปู”สานธุรกิจมองโกเลียอาหาร-ยานยนต์-พลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ยิ่งลักษณ์” เยือนมองโกเลีย กระชับความสัมพันธ์ที่มีมาเกือบ 40 ปี แต่ "สุรนันท์" โม้เป็นการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย บนพื้นฐานยึดมั่นค่านิยมประชาธิปไตย เร่งพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน ส่วนมองโกเลียก็จะพัฒนาการส่งออกพลังงาน พร้อมลงนามเอ็มโอยู 3 ฉบับ 

นายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย ว่า เป็นการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย บนพื้นฐานยึดมั่นค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมเปิดโอกาสการลงุทนภาคเอกชนไทยสาขา เหมืองแร่ พลังงาน ท่องเที่ยว สาธารณสุข ยานยนต์ และเกษตรกรรม

เมื่อวานนี้ ( 28 เม.ย.) เวลา 09.35 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติภารกิจเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ โดยร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ลานจัตุรัส Sukhbaatar และตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ จากนั้นร่วมพิธีแสดงความเคารพอนุสาวรีย์เจงกิสข่าน ที่หน้าอาคาร State Palace ก่อนลงนามในสมุดเยี่ยม และในเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือเต็มคณะกับ นายนอรอวิง อัลทันคูยัค (H.E. Mr. Norovyn Altankhuyag) นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันมิตรภาพที่แนบแน่น และพร้อมพัฒนาสานต่อความร่วมมือในทุกมิติ


โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี มองโกเลีย กล่าวแสดงความยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่เยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดสำคัญของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แนบแน่น พร้อมร่วมพัฒนาความร่วมมือให้เกิดผล

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แสดงความยินดีต่อการ เยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ซึ่งทั้งสองประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ โอกาสนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เชิญนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย เดินทางเยือนประเทศไทยในปีพ.ศ. 2557 ซึ่งจะถือเป็นส่วนหนึ่งของการครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-มองโกเลีย

นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความชื่นชมต่อการเป็นประธานประชาคมประชาธิปไตยของมองโกเลีย ซึ่งทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้มีการเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเทศไทยและมองโกเลีย มีค่านิยมร่วมกันในการส่งเสริมประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับ รัฐบาลแห่งมองโกเลีย ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือ ทวิภาคี และ “กลไกการหารือ” นี้ จะเป็นตัวกระตุ้นหลักที่จะช่วยเสริมสร้าง และพัฒนาความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยไทยสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนไทยมาช่วยพัฒนาและลงทุนในด้านเหมืองแร่ ท่องเที่ยว การเกษตร การปศุสัตว์ ครอบคลุมการส่งออก และนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สาธารณสุข และพลังงานที่มองโลกเลียกำลังพัฒนาเพื่อการส่งออกพลังงาน ซึ่งในการเดินทางเยือนมองโกเลียในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้นำภาคเอกชนจากหลากหลายสาขาร่วมเดินทางมาด้วย ทั้งจากสาขาพลังงาน  สาขาชิ้นส่วนยานยนต์  สาขาอาหารและการเกษตร  สาขาสาธารณสุข

ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมการค้าการลงทุน สามารถบรรลุเป้าหมาย ไทยแสดงความพร้อมที่จะลงนามในความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ระหว่างกัน เพื่อเป็นกลไกเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนให้ก้าวหน้า โดยไทย-มองโกเลีย ยังคงมีมูลค่าการค้าระหว่างกันน้อยอยู่ (13.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี พ.ศ. 2555) และจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าให้เป็น 2 เท่าในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2557-2559) และสามารถตกลงความตกลงในด้านความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ และสามารถก่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) โดยเร็วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับการส่งออก ไทยและมองโกเลีย ยังส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยไทยสนับสนุนด้านยานพาหนะสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเครื่องจักรกลด้านการเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ รวมทั้งที่ไทยมีความสามารถในการผลิตรถกระบะปิคอัพน้ำหนักเบา (light pick-up truck) และเครื่องจักรกลทางการเกษตร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่มองโกเลีย ซื้อข้าวจากไทย และหวังว่ามองโกเลีย จะเพิ่มปริมาณและนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

ด้านการท่อง เที่ยว แม้ว่าไทย-มองโกเลีย จะมีการลงนามความร่วมมือในด้านนี้ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2549 รวมทั้งมีความตกลงละเว้นเรื่องการขอวีซ่าทั้งสำหรับหนังสือเดินทางราชการและ หนังสือเดินทางทั่วไป (พ.ศ. 2537) แต่จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศยังมีจำนวนน้อยอยู่ จึงเห็นพ้องให้เร่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในขณะเดียวกันไทยพร้อมผลักดันให้ภาคเอกชนไทยให้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโรงแรม การตั้งแคมป์ (Camping facilities) และร้านอาหาร

โอกาสนี้ ไทยยืนยันสนับสนุนมองโกเลีย ด้านการเกษตร การพัฒนาชนบท พยาบาล สาธารณสุข ผิวหนัง (Dermatology) และเภสัชกรรม การพัฒนาสวัสดิการสังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิต และพร้อมที่ร่วมมือในการพัฒนา “1 จังหวัด 1 ผลิตภัณฑ์” โดยเชื่อมั่นว่า โครงการเช่นนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนา SMEs  ขณะที่นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนผลิตภัณพ์แคชเมียร์ของ มองโกเลีย กับผ้าไหมของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มีการส่งเสริมและต่อยอด ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทยและมองโกเลียมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านความเชื่อและประเพณีทางศาสนา เช่นนี้ทั้งสองประเทศควรพัฒนาความเข้าใจระหว่างประชาชน และใช้โอกาสครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า เพื่อจัดกิจกรรมร่วมกัน
จากนั้น เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ เป็นประธานการลงนามเอกสารความตกลง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1 . บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมองโกเลีย ว่า ด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี เพื่อส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างกัน

2. ความตกลงระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทยกับ กระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์แห่งมองโกเลีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อแสวงหาโอกาสและการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะสาขา อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ นวัตกรรมและยา

3. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติมองโกเลียกับสำนัก งานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการลงทุน.
กำลังโหลดความคิดเห็น