xs
xsm
sm
md
lg

“สุรนันทน์” โวนายกฯ เปิดศักราชความสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยนายกฯ ไทยหารือนายกฯ มองโกเลีย ลั่นเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ของสองประเทศ มีเป้าหมายการค้าและการลงทุน สนับสนุนด้านการเกษตร สาธารณสุข พร้อมลงนามเอ็มโอยู 3 ฉบับ

วันนี้ (28 เม.ย.) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-มองโกเลีย บนพื้นฐานยึดมั่นค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมเปิดโอกาสการลงุทนภาคเอกชนไทยสาขา เหมืองแร่ พลังงาน ท่องเที่ยว สาธารณสุข ยานยนต์ และเกษตรกรรม

โดยวันนี้ (28 เม.ย.) เวลา 09.35 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ โดยร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ลานจัตุรัส Sukhbaatar และตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ จากนั้นร่วมพิธีแสดงความเคารพอนุสาวรีย์เจงกิสข่าน ที่หน้าอาคาร State Palace ก่อนไปยังห้องโถงของ State Palace เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม และในเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีร่วมหารือเต็มคณะกับนายนอรอวิง อัลทันคูยัค (H.E. Mr. Norovyn Altankhuyag) นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันมิตรภาพที่แนบแน่น และพร้อมพัฒนาสานต่อความร่วมมือในทุกมิติ

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีมองโกเลียกล่าวแสดงความยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่เยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดสำคัญของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แนบแน่น พร้อมร่วมพัฒนาความร่วมมือให้เกิดผล

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีต่อการเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ และยินดีที่ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ ไทยได้ใช้โอกาสนี้เชิญนายกรัฐมนตรีมองโกเลียเดินทางเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งการเยือนของนายกรัฐมนตรีมองโกเลียจะถือเป็นส่วนหนึ่งของการครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-มองโกเลีย พร้อมทั้งขอบคุณนายกรัฐมนตรีมองโกเลียสำหรับคำเชิญเข้าร่วมกล่าวสนทรพจน์ในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย และไทยชื่นชมการเป็นประธานประชาคมประชาธิปไตยของมองโกเลีย ซึ่งทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้มีการเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเทศไทยและมองโกเลียมีค่านิยมร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกันนี้ไทยชื่นชมความมุ่งมั่นของมองโกเลียในการส่งเสริมประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน มองโกเลียได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงและทางทหาร ซึ่งไทยยินดีสนับสนุนความประสงค์ของมองโกลเลียที่สนใจการเข้าร่วมฝึก Cobra Gold

ไทยและมองโกเลียต่างยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกด้าน โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมองโกเลียว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Mongolia on the Establishment of the Consultative Body on Bilateral Cooperation) และ “กลไกการหารือ”นี้ จะเป็นตัวกระตุ้นหลักที่จะช่วยเสริมสร้าง และพัฒนาความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านหลักทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองต้องการให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมและช่วยสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเพิ่มพูนความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยไทยสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนไทยมาช่วยพัฒนาและลงทุนในด้านเหมืองแร่ ท่องเที่ยว การเกษตร การปศุสัตว์ ครอบคลุมการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สาธารณสุข และพลังงาน ที่มองโลกเลียกำลังพัฒนาเพื่อการส่งออกพลังงาน ซึ่งในการเดินทางเยือนมองโกเลียในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำภาคเอกชนจากหลากหลายสาขาร่วมเดินทางมาด้วย ทั้งจากสาขาพลังงาน สาขาชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาอาหารและการเกษตร สาขาสาธารณสุข

ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมการค้าการลงทุน สามารถบรรลุเป้าหมาย ไทยแสดงความพร้อมที่จะลงนามในความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน (Agreement for the Promotion and Protection of Investment) เพื่อเป็นกลไกเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนให้ก้าหน้า โดยไทย-มองโกเลียยังคงมีมูลค่าการค้าระหว่างกันน้อยอยู่ (13.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555) และจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าให้เป็น 2 เท่าในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2557-2559) และสามารถตกลงความตกลงในด้านความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ และสามารถก่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) โดยเร็วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับการส่งออก ไทยและมองโกเลียยังส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยไทยสนับสนุนด้านยานพาหนะสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเครื่องจักรกลด้านการเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ รวมทั้งที่ไทยมีความสามารถในการผลิตรถกระบะปิคอัพน้ำหนักเบา (light pick-up truck) และเครื่องจักรกลทางการเกษตร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่มองโกเลียซื้อข้าวจากไทย และหวังว่ามองโกเลียจะเพิ่มปริมาณและนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

การท่องเที่ยว แม้ว่าไทย-มองโกเลียจะมีการลงนามความร่วมมือในด้านนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2549 รวมทั้งมีความตกลงละเว้นเรื่องการขอวีซ่าทั้งสำหรับหนังสือเดินทางราชการและหนังสือเดินทางทั่วไป (พ.ศ. 2537) แต่จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศยังมีจำนวนน้อยอยู่ จึงเห็นพ้องให้เร่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในขณะเดียวกันไทยพร้อมผลักดันให้ภาคเอกชนไทยให้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโรงแรม การตั้งแคมป์ (Camping facilities) และร้านอาหาร

ในโอกาสนี้ ไทยยืนยันสนับสนุนมองโกเลียด้านการเกษตร การพัฒนาชนบท พยาบาล สาธารณสุข ผิวหนัง (Dermatology) และเภสัชกรรม การพัฒนาสวัสดิการสังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิต และพร้อมที่ร่วมมือในการพัฒนา “1 จังหวัด 1 ผลิตภัณฑ์” โดยเชื่อมั่นว่าโครงการเช่นนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนา SMEs ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีมองโกเลียเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนผลิตภัณพ์แคชเมียร์ของมองโกเลียกับผ้าไหมของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะได้มีการส่งเสริมและต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทยและมองโกเลียมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านความเชื่อและประเพณีทางศาสนา เช่นนี้ทั้งสองประเทศควรพัฒนาความเข้าใจระหว่างประชาชน และใช้โอกาสครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า เพื่อจัดกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศควรมีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างข้าราชการร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านกรอบต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister city council relation) ระหว่างกรุงเทพกับอูลานบาตอร์ กลุ่มมิตรภาพรัฐสภา (parliamentary friendship group) และ Mongolia-Thailand Society for Economic Cooperation ไทยยินดีที่มองโกเลียประสงค์เข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียนมากขึ้น และการสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีทั้งสองเป็นประธานการลงนามเอกสารความตกลง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมองโกเลียว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี เพือส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างกัน, ความตกลงระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์แห่งมองโกเลียว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแสวงหาโอกาสและการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะสาขา อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ นวัตกรรมและยา, บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติมองโกเลียกับสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน








กำลังโหลดความคิดเห็น