xs
xsm
sm
md
lg

กองสำรองฯโตพุ่ง CPFเมินตั้งช่วยพนง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไตรมาสแรกโต 3 หมื่นล้านบาท พบบริษัทใหญ่ใน SET50 "เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) " ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดูแลพนักงานยามเกษียณ ขณะที่ผลประกอบการของ CPF กลับมีกำไรสูงทุกปี

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยตัวเลขมูลค่าสินทรัพย์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) ทั้งระบบช่วงไตรมาสแรก ณ วันที่ 31 มี.ค.2556 มีมูลค่ารวม 727,948.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.57% หรือ 31,803.83 ล้านบาท จากสิ้นปี 2554 อยู่ที่ 696,144.18 ล้านบาท ส่วนของนายจ้างที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวน 13,207 ราย เพิ่มขึ้น 454 ราย จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 2,677,113 ราย เพิ่มขึ้น 61,473 ราย จากสิ้นปีที่ผ่านมามีจำนวน 2,615,640 ราย ในขณะที่จำนวนกองทุนลดลงเหลือ 449 จาก สิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 452 ราย

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ 50 อันดับแรก (SET50) พบว่ามีเพียงบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่ไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นางสาว ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ นอกเหนือจากเรื่องทุนจดทะเบียน ผลการดำเนินงานและฐานะกิจการของบริษัท โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาเป็น 10 ปีแล้ว

โดยทางตลาดฯ อยากสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ มีการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อดูแลพนักงานในยามเกษียณอายุจะได้มีเงินออมไว้ใช้ ส่วนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดก่อนเกณฑ์กำหนด คงไม่สามารถบังคับได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท

ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังบริษัท "เจริญโภคภัณฑ์อาหาร" ได้รับการยืนยันว่าบริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีพนักงานเป็นแสนคน อาจทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จำนวนมาก แต่ปัจจุบันบริษัทก็มีสวัสดิการส่วนอื่นให้แก่พนักงาน เช่น หากทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปก็จะได้รับเงินก้อนจากบริษัท ส่วนรายละเอียดเท่าไรนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้

ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงเป็นอันดับหนึ่ง ณ ไตรมาสแรก ปี 2556 คือ บลจ.กสิกรไทย มูลค่า 152,891 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 19.01% บลจ.เอ็มเอฟซี มูลค่า 122,180 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 15.19% บลจ.ทิสโก้ มูลค่า 96,303 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 11.98% บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 76,180 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 10.47% และบลจ.กรุงไทย มูลค่า 70,705 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 8.79%

ทั้งนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการออมเงินแบบผูกพันระยะยาว เพื่อไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือต้องออกจากงาน โดยพนักงานและนายจ้างจะจ่ายเงินเข้าในอัตราเท่ากัน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 2% แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น