xs
xsm
sm
md
lg

เหน็บ“สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ปชป. พล่านถูกยัดข้อหาบีบร่วมนิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 เม.ย). ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวิรัตน์ กัลป์ยาศิริ พร้อมด้วยนายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 28 คน จากทั้งหมด 44 คน ที่เป็นผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหักเงินเดือนส.ส.บริจาคให้พรรค ผิดวิธีจากที่พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 57 วรรค 2 กำหนดคือการระบุว่าการบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไป จะต้องบริจาคโดยวิธีการสั่งจ่ายเป็นตั๋วแลกเงิน หรือเช็คขีดคร่อม
โดยนายวิรัตน์ กล่าวว่า คดีนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้หักเงินเดือนส.ส.บริจาคบำรุงพรรคการเมืองซึ่งสภาใช้วิธีจ่ายเช็ครวมกันเพียงใบเดียว แต่ทำบัญชีแจกแจงรายการตามรายชื่อส.ส. โดยพรรคได้ทำใบเสร็จส่งให้สภาทุกเดือนและรายงานบัญชีรายรับรายจ่ายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทุกปี ตั้งแต่ปี 2550-2555 ซึ่งกกต.ไม่เคยทักท้วงหรือแจ้งให้ปรับปรุงแก้ไข คดีนี้จึงไม่ใช่อาชญากรรมและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่อาชญากรแต่กลับต้องตกเป็นผู้ต้องหาของดีเอสไอเนื่องจากรัฐบาลโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีและพวกได้ใช้เสียงข้างมากรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ได้ทำความเข้าใจกับส.ส.ทั้ง 28 คนว่ามีสิทธิที่จะไม่ลงรายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา และมีสิทธิไม่ให้มีการบันทึกภาพและเสียงระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาเพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือได้ โดยในชั้นนี้ผู้ต้องหาทุกคนจะปฏิเสธข้อหาเพราะมั่นใจว่าไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง หากคดีนี้มีความผิดเลขาธิการสภาและกกต.ก็ต้องมีความผิดไปด้วยเพราะถือว่าเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละเว้นไม่แจ้งให้ทราบ หลังจากนี้ทีมกฎหมายจะหารือเพื่อฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและอาญากับพนักงานสอบสวนดีเอสไอต่อไป
ด้านพ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ยอมรับว่าคดีดังกล่าวไม่ได้มีโทษรุนแรง แต่ดีเอสไอจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามที่มีผู้ร้องให้ตรวจสอบ ในชั้นนี้จะสอบสวนเฉพาะส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่บริจาคเงินเข้าพรรคผิดวิธี แต่จะไม่ขยายผลไปถึงเลขาธิการสภาและกกต. เพราะไม่มีผู้ร้องให้ดีเอสไอตรวจสอบ ทั้งนี้หากปชป.ยังใช้วิธีนี้ต่อไปและมีผู้ร้องดีเอสไอก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ขณะนี้ไม่ทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังใช้วิธีหักบัญชีเงินเดือนเหมือนเดิมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เดินทางด้วยรถบัสสีชมพู มายังสำนักงานคดีอาญาพิเศษ (1) อาคารบี ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค นายไพฑูรย์ แก้วทอง นายเกียรติ สิทธีอมร นายโกวิทย์ ธารณา และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานส.ส.กทม.เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 16 คน ได้ทำหนังสือแจ้งขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากติดภารกิจในต่างจังหวัด อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธาน ส.ส. ซึ่งก่อนที่รถบัสจะออกจากที่ทำการพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นไปกล่าวให้กำลังใจกับส.ส.ของพรรค บนรถด้วย.
รายงานข่าวแจ้งว่า ดีเอสไอได้จัดสถานที่ห้องประชุมและทีมรักษาความปลอดภัยเพื่ออำนวยความสะดวกส.ส.จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกันหลายคน แต่พ.ต.อ.นิรันดร์ ยืนยันที่จะสอบปากคำที่ห้องทำงานผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ทำให้ส.ส.ที่เดินทางมาไปที่สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 อาคารศูนย์ราชการ บี นอกจากนี้ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ยังขอให้แจ้งข้อหารวมให้กับผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมกัน เพราะเป็นความผิดคดีเดียวกัน แต่พนักงานสอบสวนยืนยันจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเป็นรายบุคคลเฉพาะที่นัดไว้ 6 คนเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาสอบปากคำผู้ต้องหาแต่ละคนอย่างละเอียด
ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าพร้อมจะนั่งรอเพื่อให้การแจ้งข้อกล่าวหาแล้วเสร็จแม้จะต้องยืดเยื้อข้ามวันก็ยอม แต่พนักงานสอบสวนดีเอสไออ้างว่าอัยการมีภารกิจอื่นไม่สามารถร่วมสอบสวนข้ามวันได้ ทั้งนี้เมื่อพ.ต.อ.นิรันดร์ ยืนยันจะแจ้งข้อกล่าวหาเป็นรายบุคคลเฉพาะที่นัดไว้ 6 คน ประกอบด้วย นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายกรณ์ จาติกวณิช นายเกียรติ สิทธีอมร นายกษิต ภิรมย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนายโกวิทย์ ธารณา ทำให้ส.ส.ที่เหลือต้องทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามวัน-เวลาที่พนักงานสอบสวนกำหนด
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา และส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถือเป็นการบีบให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกระบวนการนิรโทษกรรม เพื่อล้างความผิดอะไรต่างๆ และตนเห็นว่า พนักงานสอบสวนของดีเอสไอที่ทำคดีเหล่านี้ควรถูกฟ้องร้อง เพราะถือว่าทำผิดกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ผิดมาตรา 157 เพราะโดยวิสัยและพฤติการณ์ของคนที่เป็นพนักงานสอบสวน ก่อนที่จะตั้งข้อกล่าวหาใคร ควรต้องมีการสอบสวนข้อมูลเบื้องต้นก่อน แต่นี่กลับมาทำคดีพิเศษ ซึ่งค่อนข้างผิดปกติ ผิดเจตนารมณ์ตั้งองค์กรขึ้นมาให้ทำคดีใหญ่เรื่องใหญ่ๆที่ตำรวจท้องที่ไม่กล้า โดยพยายามทำเรื่องสอบก่อนเพื่อหาหลักฐานมัดก่อนที่กกต.จะสอบ เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้ กกต.สอบแล้ว จะทำหน้าที่ตรงไปตรงมาแล้วยกคำร้องเพราะไม่มีเจตนา ก็ไม่สมวัตถุประสงค์ที่เขาตั้งไว้ กรณีนี้ชัดเจนต้องฟ้องกลับดีเอสไอแน่นอน
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ดีเอสไอไม่ใช่หน่วยงานที่รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นหน้าที่ของกกต. ถือเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ที่ผ่านมาตนถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหา 2 คดีแล้ว และตนได้ฟ้องศาลแล้วว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และพวกทำผิดกฎหมาย ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ซึ่งถ้าศาลรับฟ้องคดีนี้ ทางอธิบดีดีเอสไอกับพวกก็จะกลายเป็นจำเลย
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้ง เพราะเรื่องนี้กฎหมายวางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน หากไม่ได้ทำผิด ก็ไม่มีโทษ ซึ่งทุกพรรคก็ทราบดีว่าต้องปฏิบัติอย่างไร
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง กล่าวว่า ปัจจุบันทางพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเดือดร้อนกับการที่ ดีเอสไอ ตามข่าวถึงขนาดว่ามีการไปกดดันดีเอสไอ แต่ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชิน เป็นอีกพวกหนึ่งที่คิดว่าตัวเองเป็นสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ที่ใครกล่าวหาไม่ได้ ถ้าถูกกล่าวหาก็จะต้องออกมาเอะอะโวยวาย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลหรือใครจะชงขึ้น เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมวง นิรโทษกรรม เพราะว่าเรื่องหักเงินบริจาคเข้าพรรค ความผิดตามข้อหานี้เป็นเรื่องกฎหมายเทคนิค ไม่เกี่ยวกับว่าหยุมหยิมหรือไม่หยุมหยิม เทียบเคียงได้กับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ในคดีที่ดินรัชดา เพียงสามีเซ็นต์ยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดิน ทั้งที่ไม่ได้มีประพฤติหรือเจตนาทุจริตอะไร แต่ก็ใช้กฎหมายเทคนิคเล่นงาน อันนั้นไม่หยุมหยิมกว่าหรือ แต่เพราะกฎหมายคือ กฎหมาย เข้าทำนองคนอื่นโดนสะใจ พอโดนเองจะเป็นจะตาย
รายงานข่าวจากกกต.แจ้งว่า แม้กกต.จะไม่ได้รับคำร้องขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว แต่ก็เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วเรื่องดังกล่าวจะต้องมาเกี่ยวข้องกับกกต.ไม่ทางใดทางหนึ่ง ที่ประชุมกกต.จึงได้ให้คณะที่ปรึกษากฎหมายของกกต. ทำการศึกษาในประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งทางคณะที่ปรึกษาฯก็มีความเห็นว่า การรับบริจาคเงินในลักษณะดังกล่าวไม่ถือว่าผิดมาตรา 57 วรรค 2 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะเงินที่ได้รับบริจาคสามารถตรวจสอบได้ว่าแหล่งที่มาของเงินมาจากไหน โดยการที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหักเงินจากบัญชีเงินเดือนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นการดำเนินการตามความต้องการของพรรคประชาธิปัตย์และได้รับการยินยอมจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีการติดประกาศแจ้งต่อสาธารณะให้ทราบว่าได้รับเงินบริจาคดังกล่าวจากส.ส.คนใดบ้าง
ยังเห็นว่า การที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสั่งจ่ายเงินยอดรวมที่หักจากเงินเดือนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นเช็คขีดคร่อมให้กับพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่เข้าข่ายผิดมาตรา 71 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่บัญญัติว่าห้ามหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ นิติบุคคลที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในประกาศกกต.บริจาคเงินแก่พรรคการเมือง เพราะเงินที่หักและสั่งจ่ายให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เงินงบประมาณ และการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็เป็นไปตามที่ส.ส.และพรรคประชาธิปัตย์ร้องขอ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก เปรียบเหมือนสมาชิกสหกรณ์ขององค์กรที่ทางองค์กรจะหักเงินสมาชิกตามที่สมาชิกต้องการเพื่อนำส่งให้กับสหกรณ์ หรือพนักงานต้องการให้บริษัทหักเงินเดือนของตนเองเพื่อให้ช่วยนำส่งธนาคารเป็นการชำระหนี้ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น โดยความเห็นดังกล่าวของคณะที่ปรึกษาฯคาดว่าจะมีการนำเสนอต่อประชุมกกต.เร็ว ๆ นี้
“แม้ไม่มีการร้องต่อกกต.แต่ที่ต้องให้คณะที่ปรึกษากฎหมายทำการศึกษาก็เพื่อจะได้มีหลักอิงหากดีเอสไอทำคดีดังกล่าวเสร็จแล้วส่งให้อัยการยื่นฟ้องศาล ทางกกต.ก็อาจจะต้องไปชี้แจงว่าการบริจาคในลักษณะดังกล่าวสอดคล้องที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น