ตะลึง! อาชีพ ส.ส.รับเงินเดือนจริง 1 แสนบาท แต่สามารถสร้างรายได้ต่อปีสูงถึง 30-40 ล้านบาท เผยส่วนเกินล้วนเกี่ยวพันกับวิชามาร ที่บรรดา กมธ.งบประมาณรีดไขมันจากหน่วยงานรัฐในการแปรญัตติ ผลักดันเป็นงบให้ ส.ส. จัดสรรใช้พัฒนาท้องถิ่นผ่าน 5 หน่วยงานหลัก “เคหะ-ทางหลวง-ชลประทาน-ทรัพยากรน้ำ-ศธ.” สร้างผลประโยชน์ระหว่าง ส.ส.-พ่อค้า-หัวคะแนน-ชาวบ้าน ฟันธง! นิติบัญญัติไม่อาจแยกฝ่ายบริหาร ส.ส.ถูกควบคุมด้วยการจัดสรรผลประโยชน์โดยพรรคการเมืองเบ็ดเสร็จ ยันการเมืองประเทศไทย ยังเป็นวงจรอุบาทว์ต้องใช้เงินซื้อเสียง-ถอนทุนต่อไป!
ถ้านับอาชีพแล้ว อาชีพนักการเมืองนั้น ถูกมองจากสังคมในแง่ร้ายกว่าอาชีพอื่นๆ ทั้งโกงกิน ทั้งไม่จริงใจ ทั้งไม่ซื่อสัตย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนที่ยังอยากจะเป็น ส.ส. อยากเป็นนักการเมือง ก็ยังมีจำนวนมาก
การแย่งชิงกันเพื่อครองตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าระดับไหน จึงยังเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือด แย่งชิง โดยเฉพาะนักการเมืองระดับ ส.ส.และผลประโยชน์ของ ส.ส.ก็มิใช่น้อย
ทำไมคนยังอยากเป็น ส.ส.?
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า การเมืองในระดับ ส.ส.นั้น คนยังอยากที่จะเข้ามาสู่อำนาจนั้น เพราะว่าเป็นตำแหน่งที่มีผลประโยชน์เข้ามาได้หลายทาง โดยเฉพาะคนที่มีฐานเสียง เมื่อเข้ามารับเลือกตั้งในระบบพรรค ก็จะได้เงินสนับสนุนจากพรรคการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่มีฐานเสียงที่แน่นหนาก็จะได้มากกว่าคนที่มีฐานเสียงน้อยกว่า เงินสนับสนุนนี้ก็จะเอาไว้ใช้เพื่อการไปหาเสียง และเพื่อนำไปจ่ายค่าตอบแทนต่างๆ ในทางที่ไม่ชอบมากนัก เช่นการซื้อเสียงก็มีปรากฏให้เห็น
หลังจากเข้ามาเป็น ส.ส.แล้ว ส.ส.ก็จะได้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนหลายเรื่อง เพราะเป็นอาชีพที่ได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย รวมถึงมีสิทธิที่มากกว่าประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี
เงินเดือนเดือนละ 1 แสน
โดยเริ่มแรกก่อนเป็น ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคจะได้เงินสนับสนุนการเลือกตั้งจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งได้ไม่เท่ากัน โดยปกติจะมีการแบ่งเกรดผู้สมัคร ส.ส. ตามฐานคะแนนเสียง ผู้สมัครคนไหนมีฐานคะแนนเสียงดี มีโอกาสได้เป็น ส.ส.มาก จะถูกจัดอันดับให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.เกรด A จะได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคการเมืองมากกว่าเกรด B และ C ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากนายทุนพรรคที่ลดหลั่นกันไป
จากนั้นเมื่อเป็น ส.ส.โดยตำแหน่ง ก็จะได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน ส.ส. เท่าที่ปรากฏเปิดเผยคือ
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนประจำตำแหน่ง ส.ส.ดังนี้ ตำแหน่ง“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ได้เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 50,000 บาทต่อเดือน รวม 125,590 บาทต่อเดือน, รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน รวม 115,740 บาทต่อเดือน, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน รวม 115,740 บาทต่อเดือน, ส่วน ส.ส. ทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขต ได้เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน รวม 113,560 บาทต่อเดือน
ซึ่งในส่วนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองนั้น เมื่อเป็น ส.ส.แล้ว นอกจากได้เงินเดือน ยังจะได้เงินสนับสนุนจากพรรคการเมืองด้วย
อย่างเช่นพรรคเพื่อไทย แหล่งข่าว ส.ส.พรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ทุกวันนี้ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยได้รับเงินสนับสนุนจากพรรครายเดือน อีกเดือนละ 1,500,000 บาท
“เงินเดือน ส.ส.แค่แสนเดียว ยังไงก็ไม่พอ” ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าว
ส.ว.ไพบูลย์ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเงินส่วนที่เรียกว่า “เงินพิเศษ”
“มันมีงบของ ส.ส.อีกส่วนหนึ่ง ที่รัฐบาลจะแบ่งจากงบกลางให้ เพื่อให้ลงพัฒนาพื้นที่ ตามพื้นที่ต่างๆ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ งบ 20 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่ามันมีผลประโยชน์กลับเข้ามาสู่ ส.ส.”
โดยงบนี้ จะเป็นงบพัฒนาพื้นที่ ทราบมาว่าจะมี ส.ส.บางคน เรียกเปอร์เซ็นต์จากโครงการต่างๆ ที่จะต้องมีการประมูลงาน เรียกว่าเป็นค่าตอบแทนจากการสนับสนุนผู้ได้รับสัญญา
“ตรงนี้ไม่น้อยกว่า 25% อยู่แล้ว แต่บางคนมีเรียกมากกว่า 25% โดยเฉพาะในงานที่ตรวจสอบการใช้เงินยาก เช่นการซ่อมบำรุงต่างๆ หรือขุดลอกคูคลอง คือ มันวัดปริมาณงานยาก มูลค่าการทำจริงต่ำกว่าความเป็นจริง แต่มีการคิดราคางานมาก”
เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ!
“ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไปติดต่อขออะไรจากหน่วยราชการได้มากกว่า ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 266 ห้ามไว้ ว่าไม่ให้ ส.ส. ส.ว.ไปก้าวก่ายแทรกแซงหน่วยราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือพวกพ้อง แต่ที่ผ่านมาก็มีตลอด โดยเพาะงานประมูล หรืองานสัมปทานต่างๆ มีผลประโยชน์กลับมาที่ ส.ส. หรือ ส.ว.บางคน หรือไม่ก็ให้พรรคพวก มันก็มี”
นอกจากนี้ ส.ส.ยังมีท่าทีอยากจะไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองด้วย
โดยที่ผ่านมา เห็นว่า ส.ส.นั้นอยากจะแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่อนุญาตให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี และผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ด้วย
เพราะนอกจากจะมีรายได้มากขึ้นแล้ว ยังจะมี “บารมี” ที่เพิ่มขึ้นด้วย
เผยไม่ใช่งบ 20 ล้าน แต่เป็นงบ 40 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี “ทีม special scoop ผู้จัดการรายวัน” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าว ส.ส.คนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนอยู่ในคณะกรรมาธิการงบประมาณด้วย และยอมรับว่า ที่จริงแล้ว ส.ส.ไม่ได้มีแค่งบ 20 ล้าน ความจริงคือมันเป็นงบ 40 ล้านบาทที่ ส.ส.ทุกพรรคจะได้เหมือนกัน
โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า งบลงพื้นที่ที่ ส.ส.ได้รับนั้น ความจริงแล้วยังมีคนเข้าใจผิดอยู่มาก เพราะไปเรียกว่างบ 20 ล้านบาท แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ งบที่จะลงพื้นที่ของ ส.ส.โดยเท่าเทียมกันทุกพรรคคือประมาณ 40 ล้านบาทต่อพื้นที่เป็นอย่างน้อย โดยงบ 20 ล้านบาทนั้นเป็นแบบเก่า คือให้ ส.ส.ทำโปรเจกต์มาเสนอของบกลาง เช่น โครงการซื้อเสื้อเกราะ, ซื้อรถให้พระ, สร้างถนน แต่ภายหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ห้ามไว้ ทุกวันนี้จะต้องใช้งบประมาณผ่านหน่วยงานราชการเป็นหลัก
“ต้องเข้าใจก่อนนะ ว่าการจัดการงบประมาณโดยตรงจากฝ่ายรัฐบาลมาให้ ส.ส.มันไม่มี มันผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ในขั้นตอนของการปฏิบัติ ยอมรับว่ามีจริง”
ขั้นตอนที่ ส.ส.จะได้เงินไปพัฒนาพื้นที่ จะอยู่ในขั้นตอนของการแปรญัตติในส่วนของคณะกรรมาธิการงบประมาณ!
โดยเริ่มแรกของการทำงบประมาณประจำปี หน่วยงานราชการจะจัดทำตัวเลขงบประมาณมาให้สภาฯ พิจารณา เมื่อผ่านวาระที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงรับหลักการ เมื่อถึงวาระที่ 2 ก็จะเป็นขั้นตอนของกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งแต่ละพรรคจะส่งตัวแทนเข้ามาประมาณ 63 คน เพื่อพิจารณางบประมาณในภาพรวม
ลักษณะของพรรคเพื่อไทย ก็จะมีมือทำงบเก่งๆ ที่มักจะส่งคนเดิมๆ เข้ามาเป็นกรรมาธิการงบประมาณได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล, นายเจริญ จรรย์โกมล, นายวิทยา บุรณศิริ ฯลฯ ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็จะมี นายชัย ชิดชอบ, ส่วนของประชาธิปัตย์หลักๆ จะเป็น นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และจะมีการหมุนเวียนให้คนไม่เคยเป็นได้มาเป็นด้วย
ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณโดยภาพรวมนี้ จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง และจะมีการตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อดูเรื่องย่อยๆ ลงไปอีกที หลักการก็จะคล้ายกันคือ โดยปกติสภาฯ จะมีการเรียกหน่วยงานรัฐต่างๆ เข้ามาถามถึงการดำเนินงานในปีที่แล้ว อย่างเช่น งบประมาณ 100 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงกี่บาท เช่น เบิกจ่ายจริง 30 ล้านบาท แสดงว่าการใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ กมธ.งบประมาณจะมีอำนาจในการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ ได้ เรียกว่าการลดหรือการรีดไขมัน ประมาณการต่อปีจะมีงบที่รีดไขมันในส่วนนี้ประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท
ในขั้นตอนนี้เอง ที่ ส.ส.บางคนจะมีการไปต่อรองกับหน่วยราชการนั้นๆ ว่า ถ้าไม่อยากให้ปรับลดงบประมาณ ก็ให้เอาส่วนนี้มาแบ่งให้ ส.ส. แต่ถ้าไม่ให้ ก็จะมีการเรียกหน่วยงานราชการนั้นๆ เข้ามาชี้แจงครั้งแล้วครั้งเล่า และจะมีการตรวจสอบการใช้เงินอย่างละเอียด แต่ถ้าหน่วยงานไหนยอม คณะ กมธ.งบก็จะเสนอคืนเงินทั้งหมดให้หน่วยงานนั้นๆ ไป ตามจำนวนที่ขอมาตั้งแต่แรก แต่มีข้อแม้ว่า งบในส่วนที่ปรับลดนี้ จะต้องเป็นงบลงพื้นที่ให้ ส.ส.โดยผ่านการใช้งบประมาณของหน่วยงานหลักๆ
หน่วยงานที่มักจะต้องแปรผันงบประมาณไปลงพื้นที่ให้ ส.ส.ที่สำคัญ ก็จะประกอบด้วย การเคหะแห่งชาติ, กรมทางหลวงชนบท, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำฯ, กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อเอางบประมาณส่วนนี้มาหารตามจำนวน ส.ส. แล้ว ก็จะมีงบประมาณที่ลงพื้นที่ของ ส.ส.ทุกคน คนละประมาณ 40 ล้านบาท ส่วน กมธ.งบประมาณจะได้เพิ่มอีกคนละ 20 ล้านบาท รวมเป็น 60 ล้านบาท
“แต่ต้องเข้าใจนะ ว่าเงินไม่ได้ไปถึงมือ ส.ส.เลย 40 ล้านบาท หรือ 60 ล้านบาท มันจะออกมาในรูปแบบโครงการ เช่น อยู่ในโครงการสร้างแหล่งน้ำของกรมชลฯ 5 ล้านบาท ย่อยๆ ลงไปในแต่ละหน่วยงาน รวมแล้วตก 40 ล้านบาท”
ส่วน ส.ส.จะมีรายได้กลับมาเท่าไรนั้น ยืนยันว่าปกติแล้วไม่ต่ำกว่า 25% ของจำนวนเงินที่ลงพื้นที่ให้ ส.ส. ขึ้นอยู่กับว่า ส.ส.คนนั้น เรียกเงินทอนจากผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือผู้ประกอบการเท่าไร และ ส.ส.บางคนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเองก็จะได้กำไรเนื้อๆ กลับมาสู่เงินของ ส.ส.
ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้ว รายได้ในส่วนที่เป็นเงินทอนกลับมาสู่มือ ส.ส.อย่างต่ำ 25% ของเงิน 40 ล้านบาท จึงเท่ากับ 10 ล้านบาท ส่วนมูลค่าโครงการ 60 ล้านบาท ส.ส.จะได้เงินทอนกลับมาประมาณ 15 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย!
แหล่งข่าวเปิดเผยเพิ่มว่า กรณีของนายชูวิทย์ กมลวิศษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทยที่กดดันให้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคตัวเองต้องลาออก คือ นายโปรดปราน โต๊ะราหนี และนายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ เพราะเหตุที่ ส.ส.ทั้งสองคนมีการผันงบประมาณลงพื้นที่ตัวเอง โดยใช้งบกรมทางหลวงชนบท เพื่อสร้างถนนที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และยังได้งบประมาณจากโครงการก่อสร้างในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีคลิปลับยันว่า ส.ส.จะได้รับค่านายหน้า 10% นั้น จึงเป็นเรื่องจริง
แต่ก็ใช่ว่า ส.ส.ทุกคนจะผันเงินก้อนนี้ไปใช้
“ส.ส.หลายคนที่มีเงินจำนวนมาก และรักศักดิ์ศรีก็จะไม่รับเงินในส่วนนี้ก็มีเช่นกัน แต่ก็มีไม่กี่คนหรอก ส่วนใหญ่มีฐานะดีอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ดี ความได้เปรียบของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลนั้น จะมีอยู่มากกว่า ส.ส.ฝ่ายค้านอยู่นิดหน่อย โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะมีโครงการที่แฝงอยู่กับหน่วยงานรัฐอีก ซึ่งปกติมักจะมีการกีดกันหรืออนุมัติให้ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ยาก เช่นเงินในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นจะมีโครงการเงินช่วยเหลือคนจน คนละ 1,000 บาท แต่บางพื้นที่กลับพบว่ามีการให้เงิน 2,000 บาทในพื้นที่สำคัญของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วย
“คนจน ใครจะรู้ว่าใครเป็นคนจนจริง จริงๆ ให้ 1,000 บาท แต่แจกจริง 2,000 บาทในบางพื้นที่ แล้วใครจะตรวจสอบ”
นอกจากนี้ในส่วนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเองนั้น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเคยเปิดเผยกับ “ทีม special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ว่า ในระบบของพรรคเพื่อไทย คนที่เป็นรัฐมนตรีของพรรคจะมีการเอาโครงการพิเศษที่สามารถให้ ส.ส.ลงไปพัฒนาพื้นที่ได้มาไว้รวมกันที่ “โต๊ะกลาง” ของพรรค ส.ส.ทุกคนจะต้องมาขอเงินพัฒนาพื้นที่จากโต๊ะกลางนี้ โดยมีคีย์แมนของพรรค 5 คนเป็นคนพิจารณา ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถบริหารพรรคเพื่อไทย โดยขจัดความเป็นกลุ่มก๊วน หรือมุ้งต่างๆ ได้ จากวิธีการนี้ด้วย
จุดนี้จะเป็นจุดที่ ส.ส.ของพรรคที่เป็นฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบพรรคฝ่ายค้าน
ความจริงตรงนี้เป็นความจริงที่ฟังแล้วอาจเจ็บปวด แต่แหล่งข่าวก็ยืนยันว่า ถ้า ส.ส.ไม่มีเงิน แล้วจะไปเอาบารมีมาจากไหน สังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องช่วยเหลือและยอมรับน้ำใจกันด้วยเงิน
“มันไม่มีทางหรอก ที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะแยกออกจากฝ่ายบริหารได้”!
แหล่งข่าว ส.ส.คนหนึ่งเปิดเผย พร้อมกล่าวว่า สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่นักการเมืองจะต้องมีเงิน โดยเฉพาะ ส.ส. เนื่องจากในการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องต่างๆ นั้น จำเป็นต้องมีเงินที่จะสามารถนำไปใช้จ่ายได้คล่องตัว และ ส.ส.มีรายจ่ายในพื้นที่เยอะมาก โดยเฉพาะภาษีสังคม แค่งานวัด งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ฯลฯ ทุกงาน ส.ส.ล้วนต้องเป็นเจ้าภาพ เพื่อสร้างความรู้สึกช่วยเหลือให้กับประชาชน
ความเป็นจริงในระดับพื้นที่คือ ถ้า ส.ส.ไม่มีเงินก้อนไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ส.ส.ก็จะมีศักดิ์ศรีในพื้นที่น้อยกว่า ส.ก. ส.ข. นายก อบต. เพราะทุกวันนี้งบประมาณจากภาครัฐกระจายไปที่ท้องถิ่นจำนวนมาก
“อย่างท้องถิ่นมีเงินบริหาร 100 ล้าน เขาก็ชี้ขาดได้หมด อำนาจ ส.ส.ต่อไปจะเหลือน้อย ถ้าไม่มีเงินลงไปพัฒนาพื้นที่ ใครจะมาเป็นฐานเสียง”
ถ้า ส.ส.ไม่มีเงินเลย การสร้างฐานเสียงในพื้นที่ก็เป็นเรื่องยาก จุดนี้จำเป็นจะต้องมีงบที่ปันส่วนจากรัฐบาลมาให้ ส.ส. ซึ่ง ส.ส.ทุกพรรคจะได้เหมือนกันหมด เป็นเรื่องที่ตกลงกันในสภาผู้แทนราษฎรอย่างที่กล่าวไว้
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เปิดเผย!
“ก็อยากให้เข้าใจจริงๆ เวลาลงพื้นที่ ส.ส.ไม่มีเงินเลย จะไปมีอำนาจ บารมีสู้ ส.ก. สู้นักการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร สังคมไทยมันเป็นแบบนี้”
พรรคการเมืองครอบงำ ส.ส.เบ็ดเสร็จ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวต่อเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า บางที ส.ส.ก็น่าสงสาร เพราะ ผลประโยชน์ที่มันมากมาย ก็เลยยิ่งทำให้ ส.ส.ยอมได้ทุกอย่าง จนกระทั่งทุกวันนี้ พูดได้เลยว่า ส.ส.คือคนที่ยอมไม่มีสิทธิ ยอมไม่มีเสรีภาพ กล่าวคือสิทธิและเสรีภาพของ ส.ส.มีน้อยกว่าภาคประชาชนเสียอีก
เหตุผลก็คือ ระบบพรรคการเมืองได้ทำให้ ส.ส.หรือฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นผู้อยู่ในอำนาจฝ่ายบริหารแบบ คิดเองก็ไม่ได้ ทำอะไรเองก็ไม่ได้ ต้องรอพรรคการเมืองป้อนทุกอย่างให้
“กฎหมายพรรคการเมืองมีปัญหามาก ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ส.ส.ไทยไม่มีอิสรภาพ ไม่มีเสรีภาพที่สุดในบรรดานักการเมืองในหลายๆ ประเทศ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาธิปไตย แต่ทำตัวเองไม่ให้มีประชาธิปไตยเสียเอง”
ส.ว.ไพบูลย์กล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองทุกวันนี้ เป็นกฎหมายที่เอื้อให้นายทุนในรูปแบบพรรคการเมืองมีอำนาจมากเกินไป มากเสียจนทำลายระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จ
ที่สำคัญคือ มีการระบุให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง, ให้ ส.ส.ทำตามมติพรรคการเมือง, และ ส.ส.เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
“เมื่อ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็มีอำนาจชี้ขาด ใครจะลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่ แถมยังให้เงินเลี้ยงดูเป็นรายเดือน ให้เงินไปเลือกตั้ง ส.ส.ก็อยู่ในอำนาจพรรคการเมืองเบ็ดเสร็จ แล้วก็ต้องทำตามมติพรรค ฝืนไม่ได้ แล้วจะมี ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนไปเพื่ออะไร ทำอะไรไม่ได้ อยู่ภายใต้พรรคการเมือง อยู่ภายใต้เจ้าของพรรคการเมืองหมด โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ ระบบที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง”
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ ส.ส.ต้องยอมอยู่ในคอก ยอมเป็น “ขี้ข้า” ฝ่ายบริหาร!
ดังนั้น ส.ว.ไพบูลย์มองว่า พรรคการเมืองควรจะมีสถานะเป็นองค์กรมหาชน หรือองค์กรสาธารณะที่ ส.ส.มีอิสระมากกว่านี้
“ทุกวันนี้นายทุนพรรคมีบทบาทมาก ในการเป็นเจ้าของพรรคการเมือง แล้วก็คุม ส.ส.ได้ ดังนั้นจึงสามารถออกกฎหมายขยายอำนาจของตัวเองได้ และทำลายระบบตรวจสอบที่จะมาตรวจสอบตัวเองได้ด้วย”
ตรงนี้น่าเป็นห่วง!
“เป็นที่รู้กันว่านายทุนพรรคเหล่านี้ ชอบที่จะใช้กระบวนการหาประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ ดังนั้นไม่แปลกใจที่มีขบวนการที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำลายระบบการตรวจสอบ รวมทั้งแก้กลไกตรวจสอบ ลงโทษคนทำผิดด้วย เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องได้รับโทษ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องรู้เท่าทัน และรักษาระบบตรวจสอบถ่วงดุลไว้ให้ได้”
ดั่งคำพูดของ ส.ส.ที่ว่า “ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจแยกจากฝ่ายบริหารได้”
ประชาธิปไตยแบบไทยก็เลยต้องได้มาด้วยการซื้อเสียง และเข้ามาถอนทุนอย่างนี้ต่อไป!?