xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนร่อนหนังสือด่วนถึงคลัง-ธปท. ยื่น4มาตรการดูแลบาทไม่ให้แข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ภาคเอกชนเตรียมทำหนังสือยื่นคลัง-ธปท.ด่วนหามาตรการสกัดเก็งกำไรหวั่นบาทแข็งค่าต่อเนื่องทำส่งออกกระอักชง4มาตรการดูแล ลดดอกเบี้ยลงเหลือ2% เก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า พร้อมเล็งตบเท้าพบผู้ว่าธปท.

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการหารือกับสมาชิก5 ภูมิภาคว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังวิตกต่อภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องเพราะภาคส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบดังนั้นจึงจะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.เร่งด่วนในวันนี้(23เม.ย)ให้ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปโดยเฉพาะมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า

สำหรับมาตรการประกอบด้วย 4 ประเด็นดังนี้ 1.ขอให้ธปท.ดูแลเสถียรภาพค่าบาทไม่ให้ผันผวนเพราะขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศเอเชียแปซิฟิคซึ่งขณะนี้แข็งค่าไปถึง28.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 2.มาตรการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย(Capital Flow Management Measures)เช่น มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้ากรณีเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นโดยพิจารณาอย่างรอบคอบ3.ลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่ำลงให้เหลือ2%หรือลง0.75% เนื่องจากประเทศอื่นมีดอกเบี้ยที่ต่ำมากและ4.ขอให้รัฐและธปท.สนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการทำฟอร์เวิดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าโดยให้มีการประสานงานและผลักดันให้มีกลไกค้ำประกันการทำสัญญาเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

"ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าจะรับได้แล้ว เวลานี้ส่งออกแทบจะไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้เลยเพราะเราแข็งกว่าประเทศคู่แข่งมาก" นายธนิตกล่าว

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานสอท.อ.ท.กล่าว่า เงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่องรัฐบาลและธปท.ที่ผ่านมาไม่ดำเนินการใดๆแถมรัฐบาลกับธปท.กลับไปคนละทางด้วยการส่งสัญญานความคิดว่าจะปลดผู้ว่าธปท.ทำให้นักลงทุนไม่ไว้วางใจ

"รัฐบาลไม่ใช่จะโยนภาระไปที่ธปท.อย่างเดียวแต่ธปท.เองก็ต้องทำอะไรบ้างการที่ไม่ทำอะไรเลยอยากถามเป็นห่วงอะไร หรือกลัวว่าออกมาตรการไปแล้วกลัวหุ้นจะตก" นายสมมาตกล่าว
ทั้งนี้เห็นว่ามาตรการเร่งด่วนคือคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะประชุมวันที่ 29 พ
.ค.นั้นควรจะเร่งประชุมให้เร็วขึ้น เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้นนโยบายลง อีก1%จากปัจจุบันอยู่ที่2.75% เหลือ1.75% เพื่อที่จะสกัดการเก็งกำไร หรือสกัดเงินที่ไหลเข้ามา

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่าในวันพุธที่24เมษายนสอท.จะหารือกับสมาชิกเพื่อหามาตรการในการรับมือกับภาวะค่าเงินบาทที่ยังคงแข้งค่าอย่างต่อเนื่องซึ่งล่าสุดมีอัตราการแข็งค่าขึ้นถึง6% นับตั้งแต่ต้นปีซึ่งถือเป้นการแข็งค่าที่ค่อนข้างเร็วมาก ซึ่งเอกชนเองกังขาว่า ปธปท. ทำไมไม่ออกมาตราการดูแล ขณะที่ประเทศอื่นๆกับมีอัตราที่แข็งค่าต่ำกว่าไทยมาก ซึ่งหลังจากได้มาตราการแล้วจะเข้าพบหารือกับผู้ว่าธปท. อย่างเร่งด่วน

***นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่า300บาทลดลง

ด้านนายเผดิมชัยสะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทั้งด้วยตนเอง และทีมงานในแต่ละจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท นั้นทำให้ผู้ประกอบการบางส่วน มีโอกาสในการคัดแรงงานที่มีฝีมือในการทำงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพบว่าในภาคการเกษตรมีการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้นายจ้างเรียกร้องให้ทางกระทรวงแรงงานเปิดรับแรงงานต่างด้าว เพื่อมาทำงานในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังยอมรับว่าการเข้าถึงข้อมูลเรื่องแรงงานสมยอมกับนายจ้าง เพื่อรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า 300 บาท ซึ่งเรื่องนี้จะทราบ ก็ต่อเมื่อนายจ้างและลูกจ้างเกิดข้อพิพาทระหว่างกันจึงจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นเหลือนายจ้างเพียง 40 รายที่อยู่ระหว่างการปรับตัวในการจ่ายค่าจ้างอัตราใหม่ จากเดิมที่มีนายจ้างจ่ายต่ำกว่า 300 บาท กว่า 300 ราย

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีพนักงานขายจะได้รับการปรับค่าจ้าง 300 บาทว่าด้วยหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่า หากเป็นการทำงานทุกวันวันละ 8 ชั่วโมง และมีการจ่ายค่าจ้างรายเดือน กลุ่มพนักงานขายเหล่านี้ต้องได้รับเงินเดือนไม่น้อยกว่า 9,000 บาท ซึ่งไม่รวมเงินที่ได้รับหากขายสินค้าได้ เพื่อความไม่ประมาทได้กำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังต่อไปอีก เพราะเชื่อว่าผลกระทบน่าจะยังมีให้เห็นและชัดเจนขึ้นประมาณเดือนที่ 6 เพราะผ่านมาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับตัวเลขแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 เมษายน 2556 มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างรวม 64 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 3,053 คน โดยในจำนวนนี้เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กที่เลิกจ้างและปิดกิจการเพราะผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 3 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 333 คน เป็นการเลิกจ้างแรงงานบางส่วนจำนวน 38 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 1,053 คน ส่วนจำนวนที่เหลือ อีก 25 แห่ง เกิดจากผลกระทบอื่นๆ ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 1,629 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น