ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการให้การโดยวาจาต่อศาลโลกในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายต่ออธิปไตยของประเทศ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ฉวยโอกาสเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะและพวกขึ้นมาเป็นวาระแรกในสมัยประชุมหน้า
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเลื่อนวาระดังกล่าวเป็นใบสั่งของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงนั่นเอง โดยมีมติที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค คณะกรรมการประสานภารกิจ และที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายนเป็นตรายางประทับ โดยให้นำเรื่องการเลื่อนระเบียบวาระ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 เมษายน โดยทันที
แม้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยจะปฏิเสธว่า การเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่ได้รับงานจาก นช.ทักษิณ และอ้างว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ของนายวรชัย และ ส.ส.40 คน ที่ใช้สิทธิ์ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน
แต่ในวันที่ 17 เมษายนนั่นเอง นช.ทักษิณ ได้สไกป์เข้าไปยังที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทย ย้ำหนักแน่นว่า อยากให้พวกเรา(ส.ส.พรรคเพื่อไทย)ช่วยกัน
“เราเถียงกันได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ว่าตามกัน ทราบว่าการประชุมสภาฯ 18 เมษายน เป็นเรื่องการทำให้ถูกต้องตามกรอบเวลาแปรญัตติ รวมไปถึงการขอเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไม่ขัดข้อง ว่ายังไงก็ว่าตามกัน” นช.ทักษิณสไกป์เข้าไปยังที่ประชุม ส.ส.พรรค
และแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ว่านอนสอนง่าย ช่วยกันยกมือในที่ประชุมสภาฯ วันที่ 18 เมษายน ด้วยคะแนน 283 ต่อ 56 เสียง ให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอโดยนายวรชัย ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนวาระแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า ในเดือนสิงหาคม 2556 โดยที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถทัดทานอะไรได้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่นายวรชัยเสนอนั้นมีชื่อเต็มๆ ว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....” ซึ่งมีเนื้อหาทั้งหมด 7 มาตรา โดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.รวม 42 คนร่วมกันลงชื่อท้ายร่างฯ เสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556
นายวรชัย ที่สวมหมวกอีกใบเป็นแกนนำเสื้อแดงเมืองปากน้ำ แถลงเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ก่อนยื่นร่างฯ ต่อประธานสภา อ้างว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกสีทุกฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งจากการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่ม นปช.ที่ถูกแจ้งข้อหาก่อการร้าย โดยไม่รวมบุคคลในระดับแกนนำผู้สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ตามมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
โดยร่างฯ มาตรา 3 ระบุว่า “ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง แต่ไม่รวมการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง”
ส่วนการแยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมและแกนนำ ตามมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ กล่าวว่า จะดูจากการที่กลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่ม นปช.ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีไปแล้ว หรืออย่างกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้นำศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ได้ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี ซึ่งรายชื่อในกลุ่มนี้มีอยู่หมดแล้ว
ส.ส.พรรคเพื่อไทย อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วน เพราะมีประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง
แต่เมื่อดูนัยจากคำพูดของ นช.ทักษิณ ที่สไกป์เข้าไปยังที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่บอกว่า“อยากให้พวกเรา(ส.ส.พรรคเพื่อไทย)ช่วยกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.เข้มแข็ง ตนก็มีโอกาสสูงที่จะได้กลับบ้าน ถ้าไม่เข้มแข็ง โอกาสจะได้มาก็น้อย พอไม่ได้กลับบ้านก็หาเสียงยาก”
ชัดยิ่งกว่าชัดว่า นช.ทักษิณต้องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างผิดให้ตัวเอง
ทั้งนี้ หากพิจารณาเนื้อความมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฯ ส่วนที่ระบุว่า “ไม่รวมการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง”นั้น มองเผินๆ ก็ดูเหมือนว่า ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะไม่รวมไปถึงแกนนำหรือผู้สั่งการ
แต่แกนนำคนเสื้อแดง รวมไปถึง นช.ทักษิณ ชินวัตร สามารถปฏิเสธได้ว่า พวกเขาไม่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการชุมนุมและไม่ได้เป็นผู้สั่งการ นั่นเพราะในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาสั่งการด้วยวาจาหรือการสั่งแบบลับๆ ไม่ได้ลงนามคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน ด้วยเหตุนี้ ทั้ง นช.ทักษิณและแกนนำคนเสื้อแดงก็จะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมตามกฎหมายนี้ด้วย
นอกจากนี้ เนื้อความในมาตรา 3 ยังกำหนดให้การกระทำที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้กว้างมาก แค่อ้างว่าเป็นการกระทำที่ “เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง...”ก็พ้นจากความผิดแล้ว
นี่เป็นเหตุให้กลุ่ม 40 ส.ว.เป็นห่วงว่า คนที่กระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยกตัวอย่าง “ดา ตอร์ปิโด” ก็จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย นั่นเพราะการกล่าวปราศรัยของดา ตอร์ปิโด อันเป็นสาเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อ้างว่าเป็นการต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงสมอ้างรับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 ได้
การเร่งผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฯ จึงไม่ใช่การทำเพื่อคนทุกสีทุกกลุ่ม เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ตามที่ ส.ส.เสื้อแดงกล่าวอ้างอย่างสวยหรู แต่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร และบริวาร ให้พ้นจากความผิด โดยใช้กลไกรัฐสภาพวกมากลากไปเป็นเครื่องมือ
การแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ และท้าทายความถูกต้องเช่นนี้ ถึง นช.ทักษิณจะกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ไว้ในมือ ก็ใช่ว่า จะเข็นร่าง พ.ร.บ.ฯ ให้ผ่านออกมาได้โดยง่าย
ในวันที่ 18 เมษายน ที่สภาผู้แทนฯ ยกมือเป็นฝักถั่วเห็นชอบการเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นวาระเร่งด่วนนั้น ทางฝั่งวุฒิสภา กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เปิดโต๊ะแถลงข่าวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้สนับสนุนการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างกรณีนางดารนี ชาญเชิงศิลปะกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด เป็นต้น โดยพวกตนเห็นว่ารัฐบาลควรจะเอาเวลาไปคิดเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นดีกว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกของคนไทยในชาติ
นายไพบูลย์ระบุอีกว่า จากที่ตนได้สอบถาม ส.ว.หลายคน ไม่เฉพาะในกลุ่ม 40 ส.ว. พบว่ามี ส.ว.เกินกว่าครึ่งหนึ่งที่จะไม่รับร่างดังกล่าว จึงคาดว่า พ.ร.บ.นี้ไม่มีทางผ่านที่ประชุม(วุฒิสภา)ได้ เชื่อมั่นว่าสังคมก็จะไม่ยอมรับเช่นกัน และขอเตือนให้รัฐบาลระวังว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นได้
ความรุนแรงตามคำเตือนของ ส.ว.ไพบูลย์ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ นั่นเพราะการออกกกฎหมายล้างผิดแบบหักดิบหลักนิติธรรมนั้น คนทั้งประเทศที่อยากให้บ้านเมืองมีขื่อมีแปยอมรับไม่ได้แน่
ที่สำคัญ การออกกฎหมายล้างผิดให้ตนเองและพวกพ้อง เป็น 1 ในเงื่อนไขที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะจัดการชุมนุมใหญ่
ขณะที่เดียวกันฝ่าย นช.ทักษิณก็ดูเหมือนจะรู้ตัวเองดี จึงจัดกำลังตำรวจกว่า 9 กองร้อยไปรักษาการณ์ที่รัฐสภาตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน ก่อนการพิจารณาเลื่อนวาระ สะท้อนว่า นช.ทักษิณพร้อมที่จะใช้กำลังจัดการกับฝ่ายที่ต่อต้านเขาทุกเมื่อ ซึ่งก็ยิ่งจะเป็นการยั่วยุมวลชนฝ่ายต่อต้านเขามากขึ้น
นั่นหมายถึงความรุนแรงกำลังจะตามมา และ รัฐบาลหุ่นเชิดอาจอยู่ได้อีกไม่นาน ส่วน นช.ทักษิณก็อาจจะหมดโอกาสกลับประเทศแบบตัวเป็นๆ