xs
xsm
sm
md
lg

ตรึงภาษีฯ ดีเซลถึงสิ้นปี คลังสูญ3แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ก.พลังงานลุ้นฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 3 เดือนโงหัวขึ้น หวังชง กพช.เคาะทยอยเงินภาษีฯดีเซลคืนคลัง หลังทวงยิกเหตุ 2 ปีทำคลังสูญรายได้แล้ว 2.3 แสนล้าน ชี้หากยืดลดภาษีฯดีเซลถึงสิ้นปีคลังสูญรายได้ ถึง 3 แสนล้านบาท ด้านเอกชนรับดีเซลขยับมีโอกาสดันราคาสินค้าพุ่ง แนะควรจะทยอยขึ้นภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลในเขตกทม.และปริมณฑลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้นคงจะคงนโยบายดังกล่าวจนกว่าฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นบวกซึ่งได้ประเมินฐานะกองทุนฯที่ติดลบประมาณ 1.2หมื่นล้านบาทแต่มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯล่าสุดเฉลี่ยกว่า 5,000 ล้านบาทก็จะทำให้ฐานะกองทุนฯกลับมาเป็นบวกได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้าหรือช่วงเดือนก.ค.56 หลังจากนั้นคงจะมีการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กพช.)ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการตัดสินใจว่าจะทยอยเรียกคืนภาษีฯดีเซลได้มากน้อยเพียงใดซึ่งจะต้องดูราคาน้ำมันในขณะนั้นประกอบการตัดสินใจด้วย

“ ยอมรับว่าคลังเองก็ทวงถามมาในเรื่องนี้ซึ่งขณะนี้ถ้าหากราคาน้ำมันยังคงลงต่อเนื่องก็จะยิ่งให้หนี้กองทุนฯหมดเร็วกว่า 3 เดือนได้แต่หากน้ำมันโลกกลับมาสูงขึ้นยอมรับว่าก็อาจจะมีปัญหาเช่นกันเพราะหากขึ้นดีเซลรัฐบาลเองก็เกรงปัญหาการขึ้นราคาสินค้าที่ขณะนี้ธุรกิจส่วนหนึ่งก็อ้างต้นทุนค่าแรงแพงในการขอปรับไปบ้างแล้วอย่างไรก็ตามหากฐานะกองทุนฯเป็นบวกทางคลังเองก็ขอทยอยคืนเงินภาษีฯดีเซลซึ่งดีเซลราคาก็คงจะต้องขยับไปตามกลไกตลาดแต่จะค่อยๆทยอยครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตรเพื่อไม่ให้กระทบมากนักเพราะยอมรับว่าขณะนี้คลังสูญรายได้จุดนี้ไปถึง 2 แสนล้านบาทแล้ว”แหล่งข่าวกล่าว

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า การลดภาษีฯดีเซลของรัฐบาลวันที่ 21 เม.ย.56 จะครบเวลา 2 ปีซึ่งจะทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้เงินจากภาษีฯเข้าคลังเป็นเงินถึง 230,000 ล้านบาทและหากรัฐบาลยืดเวลาต่อไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนก็เท่ากับรัฐจะสูญเสียรายได้เพิ่มอีกเฉลี่ยประมาณเดือนละ 9,000 ล้านบาทจากยอดการใช้ดีเซลเฉลี่ย55ล้านลิตรต่อวันและเมื่อถึงสิ้นปีหมายถึงรัฐจะสูญรายได้รวมถึง 300,000 ล้านบาท

“ผมคิดว่านโยบายนี้น่าจะมีการทยอยปลดล็อคเมื่อราคาดีเซลตลาดโลกต่ำเพราะการที่เราต้องสูญเสียรายได้มากขนาดนั้นแทนที่จะนำงบประมาณจุดนี้มาสร้างรถไฟฟ้าได้หลายสายซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจได้อะไรมากกว่า ส่วนกรณีมีการอ้างราคาสินค้าและขนส่งจะปรับขึ้นรัฐน่าจะไปพิจารณาว่ารถขนส่งจริงๆ วันนี้ได้ติดตั้งก๊าซธรรมชาติสำหรับยายนต์หรือเอ็นจีวีเกือบทั้งหมดซึ่งมีราคาต่ำมากไปแล้ว”นายมนูญกล่าว

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) กล่าวว่า ยอมรับว่าหากดีเซลขึ้นราคาเกิน 30 บาทต่อลิตรทางสมาคมฯจะต้องปรับขึ้นราคาค่าขนส่งแอลพีจีอีก 5 บาทต่อถังเนื่องจากปัจจุบันค่าขนส่งก๊าซแอลพีจีขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม คิดที่ 10 บาทต่อถัง ซึ่งกรณีนี้ไม่รวมกรณีการส่งแบบเร่งด่วนที่จะต้องบวกค่าขนส่งเพิ่มตามระยะทางแต่ขณะนี้ผู้ค้าพยายามตรึงราคาเอาไว้เนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นภาระประชาชน

“ค่าบริการ 10 บาทต่อถังนั้นต้องยอมรับว่าเราคิดบนพื้นฐานดีเซลแค่ 28 บาทต่อลิตรเท่านั้นแต่ขณะนี้ราคาก็เกนิไปแล้วแถมค่าแรง 300 บาทต่อวันก็เพิ่มทางรัฐก็ขอร้องในการดูแลเราก็พยายามตรึงไว้เพราะเห็นว่ากรณีส่งด่วนเราบวกเพิ่มได้จุดนี้ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจดี”นายชิษณุพงศ์กล่าว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากดีเซลขึ้นเกินไประดับ 30 บาทต่อลิตรยอมรับว่าจะมีผลต่อระดับราคาสินค้าและการบริการโดยเฉพาะภาคขนส่งเช่น เรือ รถโดยสารต่างๆ ส่วนราคาสินค้านั้นต้องยอมรับว่ามีปัญหาจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันและวัตถุดิบที่เริ่มมีราคาแพงหลายๆตัวนั้นภาพรวมส่วนหนึ่งเอกชนยังไม่สามารถปรับราคาได้เพราะตลาดบางสินค้ายังแข่งขันสูง เมื่อราคาดีเซลขึ้นก็จะยิ่งผลักดันให้ราคาสินค้าขยับทันที

“จริงๆ แล้วเราเองก็ไม่เห็นด้วยกับการตรึงดีเซลไว้ระดับ 30 บาทต่อลิตรในระยะยาวเพราะมันจะกลายเป็นนโยบายประชานิยมถาวรซึ่งไม่ได้เป็นผลดีและจะทำให้โครงสร้างการใช้น้ำมันผิดเพี้ยนไป รัฐควรจะตรึงในช่วงที่เห็นว่าแพงเกินไปเท่านั้นและตัวเลข 30 บาทต่อลิตรเห็นว่ามันล้าสมัยไปแล้ว”แหล่งข่าวกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น