xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัย อดอาหารให้เป็น ยืดอายุ แก่ช้า ต้านโรค (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้เกี่ยวกับการกินอาหารมื้อเดียวว่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายตามพระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 265 "กกจูปมสูตร" ดังนี้

"เราฉันอาหาร ณ ที่แห่งเดียว เมื่อเราฉันอาหารหนเดียวอยู่รู้สึกว่า 1. มีความเจ็บป่วยน้อย 2. มีความลำบากน้อย 3. มีความเบากาย 4. มีกำลัง 5. อยู่อย่างผาสุข

ดูก่อนถึงพวกเธอทั้งหลายก็จงฉันหนเดียวเถิด แม้พวกเธอก็จะรู้สึกว่า 1. มีความเจ็บป่วยน้อย 2. มีความลำบากกายน้อย 3. มีความเบากาย 4. มีกำลัง 5. อยู่อย่างผาสุข"


ความจริงแล้วสัตว์ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ใช้การอดอาหาร จำศีล เพื่อรักษาโรค และยืดอายุขัยของตัวเอง แม้แต่มนุษย์เองก็มีกลไกการอดอาหารในการรักษาโรคเหมือนกัน เพียงแต่เราไม่รู้ตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ ในขณะที่คนเรากำลังเป็นไข้หวัด เราจะมีอาการปากขม ไม่อยากกินอะไร แต่เราก็มักจะถูกสอนมานานว่ากินอาหารเข้าไปเยอะๆเพื่อจะได้ไปต่อสู้กับโรคร้ายที่เราเป็นอยู่ แต่ความจริงในเวลานั้นร่างกายต้องการผลิตพลังงานในการใช้ความร้อนจากไข้เพื่อเยียวยาโรคของเราเองเป็นหลัก และไข้ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายในขณะเจ็บป่วยหลายประการอีกด้วย (อ้างอิง Carvern, R, and Hirnle, C. ในการรวบรวมพื้นฐานด้านการพยาบาล) ร่ายกายจึงสร้างกลไกให้เราปากขมเพื่อให้เราหยุดกิน หยุดการใช้พลังงานในการย่อยอาหารเพื่อใช้พลังงานในร่างกายมารักษาโรคที่เราเป็นอยู่เป็นหลัก

ในทางวิทยาศาสตร์ต่างรับรู้กันแล้วว่า "อนุมูลอิสระ" เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แก่ตัวลง และมีสภาพร่างกายเสื่อมโทรมลง แต่ร่างกายเรามีกลไกหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการกิน นั่นก็คือ "เมตาบอลิซึม" คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ กระบวนการสังเคราะห์พลังงานจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป กระบวนการสลาย คือการสลายโมเลกุลใหญ่ที่ร่างกายเก็บสำรองไว้นั้น ให้ไปเป็นโมเลกุลเล็ก เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที และอนุมูลอิสระเกิดขึ้นทุกครั้งเกิดกลไกเมตตาบอลิซึม นั่นหมายความว่าถ้าเรากินที่ไม่ดีมากๆก็มีโอกาสจะเกิดอนุมูลอิสระได้มาก กินอาหารที่ไม่ดีน้อยๆก็จะมีโอกาสเกิดอนุมูลอิสระได้น้อย จึงมีคนกล่าวว่า "กินน้อยตายยาก กินมากตายเร็ว"

หรือหากพูดถึงเรื่องการ "อดอาหาร" ในมุมมองของ "เอนไซม์" การอดอาหารคือกระบวนการประหยัดเอนไซม์ในการย่อยอาหาร และทำให้เมตาบอลิกเอนไซม์ซึ่งหน้าที่ในการฟื้นฟูร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างภูมิต้านทานนั้น ไม่ต้องมาช่วยย่อยอาหารในช่วงระหว่างการอดอาหาร เมตาบอลิกเอนไซม์จึงหันมาฟื้นฟูร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้มากขึ้น

ในการอดอาหารมีศัพท์ที่ใช้กันอยู่ 2 คำ คือ การอดอาหารแบบการควบคุมปริมาณแคลอรี่ (Calorie restriction) กับอีกคำหนึ่งทีเรียกว่า การอดอาหารแบบไม่มีการย่อยอาหารเป็นช่วงเวลา (Intermittent Fasting) ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายชิ้นที่คิดว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีคุณค่าเหล่านี้

พ.ศ. 2477 Mary Crowell และ คลิฟ แมคเคย์ Clive MacCay แห่งมหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สังเกตว่า กลุ่มหนูตัวอย่างที่มีการอดอาหารโดยให้เลี้ยงอาหารด้วยการควบคุมลดปริมาณแคลอรี่ในสารอาหารอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่าหนูที่ควบคุมลดปริมาณแคลอรั้นมีอายุยืนกว่าหนูที่กินตามปรกติเกือบ 2 เท่าตัว
ภาพที่ 1 กราฟแสดงหนูที่ไม่ควบคุมอาหาร (สีเขียว) มีอายุขัยสั้นกว่าหนูที่ควบคุมแคลอรี่ 65% เกือบ 2 เท่าตัว (สีแดง)
พ.ศ. 2529 Weindruch ได้รายงานการอดอาหารแบบควบคุมปริมาณแคลอรี่ในหนูนอกจากจะพบว่าสามารถเพิ่มอายุขัยตามสัดส่วนในการควบคุมอาหารของหนูแล้ว ยังพบว่าหนูที่อดอาหารแบบควบคุมปริมาณแคลอรี่ยังมีรูปลักษณ์ที่อ่อนวัยกว่าหนูที่กินตามปรกติอีกด้วย

พ.ศ. 2531 ภาควิชาสูตินารีเวชวิทยา ศูนย์การแพทย์แห่งโรงพยาบาล Mount Sinai มหานครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำหนูทดลองมา 48 ตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว กลุ่มแรกให้อดอาหารแบบวันเว้นวัน อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารทุกๆวัน จากนั้นได้มีการฉีดเซลล์มะเร็งเต้านมให้กับหนูทุกตัว เมื่อผ่านไป 10 วันพบว่า หนูที่อดอาหารตายไป 12 ตัว (คิดเป็นอัตราการรอดใน 10 วัน ร้อยละ 50) ในขณะที่หนูที่ไม่ได้อดอาหารตายไปถึง 21 ตัว (คิดเป็นอัตราการรอดใน 10 วัน เพียงร้อยละ 12.5)

แต่งานวิจัยที่หลายคนเฝ้ารอนั้นคือการทดลองในลิง เพราะถือว่าลิงมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด และต้องติดตามผลระยะเวลายาวนานที่สุด นั่นก็คือการทดลองของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มลรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองในกลุ่มลิงวอก (Rhesus monkeys) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยแบ่งเป็นลิงที่กินอาหารปกติ 9 ตัว และ อีก 11 ตัว ควบคุมและให้อดอาหาร โดยให้อาหารน้อยกว่าลิงอีกกลุ่มหนึ่ง 30% และการทดลองดังกล่าวได้ใช้เวลาติดตามผลนานถึง 23 ปี จึงได้ออกรายงานเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 ว่าการอดอาหาร พบว่าลิงที่มีการอดอาหารมีอายุยืนกว่าลิงที่กินอาหารตามปกติ
ภาพที่ 2  ภาพ A กับ B (ด้านซ้ายบนและล่าง) คือสภาพตัวอย่างลิงที่อยู่ในห้องทดลองอายุ 27.6 ปี ซึ่งเป็นอายุขัยเฉลี่ยของลิง กับ ภาพ C และ D คือตัวอย่างสภาพลิงในวัยเดียวกันแต่มีการอดอาหารร้อยละ 30
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health) ได้ออกรายงานความเห็นที่ไม่สอดคล้องว่าการอดอาหารทำให้ลิงอายุยืน แต่ก็มีการศึกษาที่ตรงกันกับรายงานของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินว่า โรคที่เกิดขึ้นตามวัย อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคลำไส้โป่งพอง และ โรคหลอดเลือด พบว่าลิงวอกที่กินอาหารปกติจะเป็นโรคเหล่านี้ก่อนลิงที่มีการอดอาหาร อย่างไรก็ตามทางสถาบันสุขภาพแห่งชาติให้ข้อสังเกตุนี้ว่ายังไม่ถึงขั้นเห็นผลทางสถิติชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติพบว่าลิงที่มีการอดอาหารนั้นสามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เรื่องการอดอาหารจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องมีรายละเอียดอีกมากในตอนต่อๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอดอย่างไร นานแค่ไหน และแบบใดจะเหมาะกับมนุษย์มากที่สุด

แต่อย่างน้อยถ้าได้อ่านงานวิจัยถึงตรงนี้แล้ว ก็คงจะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการตรัสรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น